รายงานหน้า 2 : กมธ.เรียก‘บิ๊กแดง’แจง อีกกลไกตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ซึ่งมีความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จนที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานมีมติทำหนังสือเชิญ พล.อ.อภิรัชต์ เข้าแลกเปลี่ยนความเห็นด้านความมั่นคง ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เรื่องการใช้ระบบกรรมาธิการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนข้าราชการประจำต่างๆ ล้วนอยู่ในฝ่ายบริหารด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การตรวจสอบถ่วงดุลจึงเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถทำได้ อีกทั้ง กมธ.ต่างๆ มีอำนาจในการเรียกบุคคล พยานหลักฐาน เอกสารต่างๆ อยู่แล้ว ประกอบกับราว 2-3 ปีที่ผ่านมามีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ให้อำนาจแก่กรรมาธิการในกรณีที่บุคคลไหนที่ กมธ.เรียก แต่ไม่ไป ถือว่ามีโทษทางกฎหมาย

ในอดีตหลายคนมองว่าบทบาทของรัฐสภาไม่สามารถเข้ามาทำอะไรได้มากนัก แต่วันนี้ได้ถูกทำให้เข้มแข็งและมีบทบาทมากขึ้น จะเห็นได้ว่ากลไกในรัฐสภาหลายอย่างมีบทบัญญัติอยู่ มีกฎหมาย มีหลักการรองรับ แต่ที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ของระบบรัฐสภาของไทย หรือที่เรียกว่าปัญหาเชิงประสิทธิผลของรัฐสภาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ บรรดานักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมทั้งพรรคการเมืองในอดีตไม่ค่อยจะหยิบจับกลไกเหล่านี้มาใช้ จึงทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลของระบบรัฐสภา

Advertisement

มีการศึกษาและวิจัยมากมายที่ชี้ไปในทางสอดคล้องกันหมดว่าปัญหานี้เกิดจากคนในสภาไม่ได้ใช้กลไก ดังนั้น เมื่อวันนี้พรรคการเมือง หรือบรรดา ส.ส.ที่เข้าไปสู่สภาได้หยิบจับกลไกเหล่านี้ขึ้นมาใช้ ทำให้สภากลายเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้จริง เพราะการตรวจสอบถ่วงดุลในอดีตไม่ค่อยเกิดขึ้นให้เห็นเท่าไหร่ เนื่องจากฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลมีเสียงในสภามากกว่า ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจแฝง” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบริหารอยู่ แต่วันนี้เมื่อฝ่ายค้านเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาใช้เครื่องมือหรือกลไกที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำได้ตามเจตนารมณ์ของระบบรัฐสภา ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ในทางกลับกันก็เป็นผลดีด้วยว่า ในฐานะที่อำนาจนิติบัญญัติซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดจะใช้กลไกตรงนี้ตรวจสอบถ่วงดุลกระบวนการการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย

Advertisement

ในอดีตเมื่อคณะกรรมาธิการเชิญหน่วยงานราชการ ฝ่ายนั้นก็มักจะส่งผู้แทนไปคุย สุดท้ายก็จบลงด้วยการประชุมและจบไปโดยไม่มีอะไร ดังนั้น จึงมีการร่างกฎหมายเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเพิ่มอำนาจให้กรรมาธิการว่า หากเชิญบุคคลใดไป บุคคลนั้นต้องไปด้วยตัวเอง นอกจากจะมีเหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็น ถึงจะขอไม่ไปพบได้

อย่างไรก็ดี การที่ กมธ.มีอำนาจเรียกบุคคลต่างๆ เช่นนี้เป็นไปตามการตรวจสอบถ่วงดุลที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำได้ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภามีน้ำหนักเสียง มีอำนาจหน้าที่ที่ควรจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริงๆ อย่างที่กล่าวว่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยใช้กลไกเหล่านี้ เมื่อไม่ใช้ คนก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แม้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ทุกครั้งที่มีวิกฤตการเมืองจะเห็นว่ามีการเรียกประชุมสภาอยู่ตลอด โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็มีการเรียกประชุมสภาอยู่เพียงไม่กี่ครั้งเพื่อแก้วิกฤตการเมือง ดังนั้น เมื่อคนเห็นว่าไม่สามารถแก้วิกฤตการเมืองได้ก็เกิดการตั้งคำถามกับสภาว่า รัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมืองที่แก้วิกฤตได้ไหม หรือจะทำให้เกิดวิกฤตซ้ำซ้อน หรืออาจไม่ได้เป็นกลไกใดๆ ที่สำคัญเลย เป็นผลให้คนลง
ท้องถนน ออกมาเคลื่อนไหวต่อรัฐสภา ต่อการเมืองแบบตัวแทน

เมื่อวันนี้สภาจะพลิกฟื้นบทบาทของตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งตามหลักการที่ควรจะเป็นก็เป็นสิ่งที่ดี และไม่ใช่การจำกัดอยู่ที่กรณีเชิญ ผบ.ทบ.เท่านั้น แต่การตรวจสอบในมิติต่างๆ ก็ควรเข้มข้น เพราะในระบบรัฐสภานั้น ฝ่ายบริหารอยู่ได้ด้วยหลักความไว้วางใจของสภา

ทั้งนี้ หลักความไว้วางใจของสภามีทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งกระทู้ถาม การใช้ระบบกรรมาธิการ ส่วนในทางอ้อม เช่น การผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การตรวจสอบโดยการเสนอกฎหมายสำคัญ หากฝ่ายสภาไม่ผ่าน เท่ากับว่ารัฐบาลก็อยู่ได้ยาก เพราะแม้จะไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่าต้องลาออก ยุบสภา แต่ถ้าดันทุรังอยู่ต่อก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบรัฐสภาบิดเบี้ยว

เมื่อพิจารณาในแง่นี้จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของสภามีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ไม่หยิบจับขึ้นมาใช้ให้ถูกต้อง หรือทำให้เกิดประสิทธิผลเท่านั้นเอง!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image