“ครูจุ๊ย”แนะ เจียดงบกลาง 3 หมื่นล้าน ให้รร.เล็ก-กลาง เพิ่มทุนอาชีวะ

“ครูจุ๊ย” แนะ เจียดงบกลาง 3 หมื่นล้าน ให้โรงเรียนขนาดเล็ก-กลาง ยกระดับการศึกษา เพิ่มทุนอาชีวะ ด้าน “รมว.ศึกษาธิการ” ยอมรับมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ไม่สามารถเปลี่ยนได้ รอปรับใหม่งบปี 64

ต่อมาเวลา 10.30 น. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่(อนค.) อภิปรายงบประมาณในส่วนกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 368,660 ล้านบาท ว่าไม่ได้สะท้อนการลงทุนด้านการศึกษา เพราะงบประมาณด้านการศึกษามีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ดูแลการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนภาครัฐ มีงบจำนวนมาก แต่เป็นงบประมาณสำหรับบุคลากร ขณะที่งบที่สร้างการเรียนรู้ให้เด็กมีน้อยเกินไป ส่วนโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี มีงบประมาณ 35 ล้านบาท แต่เป็นงบที่เน้นเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตร ขอยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ จ.นครราชสีมา มีนักเรียน 134 คน ได้รับค่าบริหารจัดการ 292,521 บาท เปิดเรียน 8 เดือน ได้รับค่าบริหารจัดการเดือนละ 36,565 บาท และได้รับเงินค่าซ่อมบำรุง 20,000 บาท

“การได้รับงบประมาณเช่นนี้ ทำให้ครูไทยต้องทำทุกอย่างในโรงเรียน งานอื่นๆเบียดบังงานครูไปหมดแล้ว การจะทำให้การศึกษาไทยวิ่งทันคุณภาพที่ควรจะเป็น คือควรเจียดงบกลาง 3 หมื่นล้านบาทมาให้โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง10,000 แห่ง ควรได้รับงบประมาณเพิ่มโรงเรียนละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ควรเพิ่มงบลงทุนให้อาชีวะอีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้จ่ายการฝึกฝนทักษะ เมื่อเราไม่ได้ช่วยให้เด็กมีทักษะ เท่ากับว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรับผิดชอบ แต่กลับสร้างภาระให้เด็กในอนาคตตามภาวะสังคมผู้สูงอายุ จึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้” น.ส.กุลธิดากล่าว

ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า ช่วง 3 เดือนที่รับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทราบดีถึงปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เนื่องจากเป็นระยะเวลาสั้น และอาจยังไม่เข้าใจระบบงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง แต่ได้กำชับผู้บริหารกระทรวงให้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากเปลี่ยนแปลงโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 2563 อาจมีผลกระทบทำให้ต้องคืนงบประมาณให้กระทรวงการคลัง

Advertisement

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องอาหารกลางวัน กระทรวงไม่ได้เพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนมา 5 ปี ยังอยู่ที่ 20 บาท แต่ที่มีการเสนอมาให้ปรับค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็น 30 บาทต่อหัวนั้น คงไม่สามารถให้ครอบคลุมได้เท่ากันทั้งประเทศได้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กอาจมีความต้องการงบประมาณอาหารกลางวันมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ การทำงานของกระทรวงต้องวิเคราะห์ถึงความจำเป็น ความเหมาะสม มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรงบประมาณ ส่วนงบประมาณด้านการศึกษาที่สมาชิกเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมนั้น ยอมรับว่ามีความจำเป็น แต่ไม่สามารถขอตอนนี้ได้ เพราะในกระทรวงศึกษาธิการยังมีความซับซ้อนเรื่องงบประมาณอยู่ แต่การจัดงบประมาณรายจ่ายปี 2564 มั่นใจว่า จะทำงบประมาณที่เหมาะสมกับการพัฒนาบุคลากรของประเทศทั้งครูและนักเรียนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image