“บิ๊กช้าง” ชี้งบกองทัพ 2.33 แสนล้านไม่สูงหากเทียบจีดีพี ยันต้องหายุทโธปกรณ์แทนของเก่าที่ใช้จนซ่อมไม่ได้แล้ว

“บิ๊กช้าง” ชี้งบกองทัพ 2.33 แสนล้านไม่สูงหากเทียบจีดีพี ยันต้องหายุทโธปกรณ์แทนของเก่าที่ใช้จนซ่อมไม่ได้แล้ว

ต่อมา เวลา 14.00 น. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.33 แสนล้านบาท ว่า ถือว่า ไม่สูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หากพิจารณาตามระดับจีดีพี ในปี 2563 ได้รับงบประมาณเท่ากับ 7.29 ต่อจีดีพี ขณะที่ค่าเฉลี่ยต่องบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อพิจารณาตามอัตราการได้รับงบประมาณเฉลี่ยของกองทัพ ปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับงบ อยู่ที่ 2.2 ของระดับจีดีพี หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของวงเงินงบประมาณ แต่หลังจากที่มีภาวะปัญหาเศรษฐกิจกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณลดลงตามลำดับ และต่ำสุดเมื่อปี 2549 ที่ได้รับเพียง 1.1 ของจีดีพี และเมื่อเปรียบเทียบกับงบทหาร งบความมั่นคง และกลาโหมของกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่า มีค่าเฉลี่ยสากล อยู่ที่ 2.2 ของจีดีพี แต่ของไทยอยู่ที่ 1.3 ต่อจีดีพีเท่านั้นเอง ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม ไม่ได้รับงบประมาณที่สูงผิดปกติ ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นปีนี้ กว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และซ่อมแซม รวมถึงจัดหาเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ขณะที่งบประมาณเพื่อซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์มีเฉพาะที่ปรับปรุงส่วนที่ล้าสมัย ขณะที่การซื้อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถหาชิ้นส่วน หรือซ่อมแซมได้ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คิดเป็น 1 ใน 3 กองกำลังที่มีทั้งหมด

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่หลักของกระทรวงกลาโหม คือ ป้องกันประเทศ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และการพัฒนาประเทศตามรัฐธรรมนูญ กองทัพต้องประเมินภัยคุกคามเพื่อเตรียมกำลังให้พร้อมมากกว่าการใช้กำลัง โดยพิจารณาตามสถานการณ์และขีดความสามารถด้านงบประมาณสำหรับยุทโธปกรณ์ของกองทัพในอดีต ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และจัดหาบางส่วน เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ปัจจุบัน อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป รถถังบางชนิด อายุการใช้งาน 40 – 50 ปี รถเกราะที่ใช้ ปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 40 ปี เครื่องบินขับไล่ เอฟ 5 ที่กองทัพอากาศใช้ มีอายุการใช้งาน 41 ปี เครื่องบินลำเลียง ซี130 มีอายุใช้งาน 40 ปี ทั้งนี้ยุทโธปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 30 ปี มียอดรวมคิดเป็นร้อยละ 58 ดังนั้นในการจัดหาเพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ชำรุด ไม่สามารถซ่อมได้ ส่วนอื่นกองทัพยังเน้นการปรับปรุง และซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ต่อไป ทั้งที่ประเทศต้นกำเนิดไม่ใช้แล้ว แต่การจัดหาก็ทำเท่าที่จำเป็นเพื่อสอดคลองกับการใช้กำลังเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image