‘ทนายวิญญัติ’ แนะแฟนคลับ ‘ธนาธร’ ตั้งสติ ร่าย 8 ข้อปมเบิกความ ‘หุ้นสื่อ’ พิรุธอื้อ แนะอย่าเสียเวลาพูดเรื่อง ‘คนอื่น’

วิญญัติ ชาติมนตรี

“ทนายวิญญัติ” ร่ายยาว 8 ข้อ “ธนาธร” เบิกความศาลคดีหุ้นสื่อ พบพิรุธอื้อ ยันไม่มีเจตนาชี้นำ ขอแฟนคลับต้ังสติ-เผื่อใจ แนะ “หัวหน้า อนค.” แจงศาลต้องมีสมาธิเรื่องตัวเอง ไม่เสียเวลาพูดเรื่องคนอื่น

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการโอนหุ้นบริษัท วีลัค-มีเดีย จำกัด ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) ว่า การพิจารณาของศาลเมื่อวานนี้ ศาลต้องการทราบว่าการโอนหุ้นบริษัท วีลัคฯ ของนายธนาธร ให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา เกิดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม พบข้อสังเกตและข้อพิรุธเกี่ยวกับพฤติกรรมการโอนหุ้นของนายธนาธร ดังนี้ 1.ข้อพิรุธเรื่องการตั้งราคาขายหุ้นระหว่างนายธนาธรกับมารดาถึง 6 ล้านบาทนั้นสูงเกินจริง วิญญูชนทั่วไปเขาจะซื้อกันหรือไม่ ในเมื่อบริษัท วีลัคฯ ยื่น “งบการเงินขาดทุน” และนายธนาธรเบิกความต่อศาลว่า บริษัทเลิกกิจการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2561 ดังนั้น ในเรื่องราคาหุ้นก็เป็นข้อพิรุธว่า ในเมื่อบริษัทขาดทุนและปิดกิจการตั้งแต่ปี 2561 เหตุใดมูลค่าหุ้นจึงสูงถึง 6 ล้านบาท

นายวิญญัติกล่าวว่า 2.เมื่อศาลถามว่านายธนาธรได้หุ้นบริษัท วีลัคฯ จำนวน 675,000 บาท ในปี 2551 ซื้อมาหรือได้มาโดยเสน่หา นายธนาธรอ้างว่าซื้อมาในราคาพาร์ แต่จำไม่ได้ว่าซื้อจากใคร อาจจะเป็นการซื้อหุ้นจากนางสมพร ซึ่งมีข้อสังเกตว่า หากซื้อจากนางสมพรในราคาพาร์จริงแล้ว ตอนขายกลับตั้งราคาขายให้นางสมพรสูงถึง 6 ล้านบาท ถือเป็นราคาพาร์หรือไม่ และหากไม่ใช่ราคาพาร์แล้ว ก็น่าจะเป็นพิรุธอย่างยิ่งที่มาซื้อในราคาสูงถึง 6 ล้านบาท 3.ข้อสังเกตเรื่องการชำระค่าหุ้น ซึ่งศาลได้สอบถามนายธนาธรว่ามีการนำเช็คกว่า 6 ล้านบาท นายธนาธรน่าจะทำการบ้านมาตอบศาลบ้าง แต่กลับเรื่องที่จะตอบว่าจำไม่ได้ แม้จะเป็นเช็คที่มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท แต่ข้อพิรุธในเรื่องนี้มีว่าเช็คชำระค่าหุ้น ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 แต่นำเข้าเรียกเก็บเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดกรณีไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว จึงมีประเด็นชวนสงสัยว่ามีการชำระค่าหุ้นกันจริงหรือไม่ เพราะเป็นการซื้อขายระหว่างเครือญาติ และในขณะมีการร้อง กกต. และไต่สวนของ กกต. ไม่ปรากฏว่ามีการนำเช็คไปขึ้นเงิน และมีข้อสังเกตว่านายธนาธรมีการโอนหุ้นหลายสิบบริษัทให้กับนางสมพร แต่มีการสั่งจ่ายเช็คค่าหุ้นเฉพาะบริษัท วีลัคฯ ซึ่งอยู่ในสภาพขาดทุน และปิดกิจการแล้ว

นายวิญญัติกล่าวว่า ข้อสังเกตที่ 4.ศาลได้ซักถามถึงเหตุผลในการกำหนดให้วันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นวันโอนหุ้น ทั้งที่ในวันดังกล่าวมีภารกิจหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ แทนที่นายธนาธรจะชี้แจงศาลให้ดีว่าเพราะเหตุใด กลับใช้ถ้อยคำว่าวันดังกล่าวไม่ใช่เป็นวันพิเศษอะไร และจำไม่ได้ว่ามีตารางนัดลงพื้นที่หาเสียงก่อน หรือนัดเซ็นโอนหุ้นก่อน ทั้งที่เรื่องการเซ็นโอนหุ้นเป็นเรื่องสำคัญที่นายธนาธรต้องดำเนินการ เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) 5.นายธนาธรเบิกความว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารบริษัท วีลัคฯ ในข้อนี้ไม่มีประเด็นพิจารณา เพราะรัฐธรรมนูญดูความเป็นผู้ถือหุ้นเท่านั้น 6.คำเบิกความของทนายความกับนายธนาธรย้อนแย้งกันอย่างมีพิรุธ กล่าวคือ ทนายความให้การกับศาลว่า เป็นคนจัดเตรียมการทำสัญญาโอนหุ้น โดยนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายพรรคอนาคตใหม่เป็นคนมอบหมาย และนายพุฒิพงศ์เป็นคนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญา ซึ่งไม่ใช่การมอบหมายจากนายธนาธรหรือนางสมพรแต่อย่างใด ประเด็นนี้ทำให้มีข้อสังเกตว่าเหตุใดนายธนาธรหรือนางสมพรจึงไม่มอบหมายให้กับทนายความโดยตรง และแม้จะผ่านนายพุฒิพงศ์อีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่ข้อสงสัยคือทนายความนัดกับนายธนาธรโดยวิธีการใด และทราบเรื่องข้อมูลการโอนหุ้นอย่างไร เพราะเมื่อศาลสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการโอนหุ้นตามรายงานข่าว พบว่าทนายกลับไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจำนวนหุ้นที่จะโอนมีกี่หุ้น และการโอนหุ้นเป็นอย่างไร จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าหากทนายไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว จะพิมพ์สัญญาได้อย่างไร จะรู้เห็นการทำสัญญาโอนหุ้นได้อย่างไร ทั้งที่โดยหลักการ ทนายความผู้จัดทำเอกสารต้องรู้ข้อมูลที่จัดเตรียมเหล่านั้นทั้งหมด

Advertisement

นายวิญญัติกล่าวว่า 7.แนวทางการตัดสินของศาลตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5873/2543 การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม 8.สำหรับคดีนี้มีข้อสังเกตว่าศาลได้ให้โอกาสนายธนาธรอธิบายเหตุการณ์ภายหลังการโอนหุ้นว่ามีการดำเนินการอย่างไร แต่นายธนาธรกลับตอบศาลผิดมาตรฐานทางกฎหมาย โดยอ้างว่าเมื่อเซ็นจบคือจบ ที่เหลือเป็นเรื่องของธุรการบริษัท สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหลังเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ก็ไม่เคยดู ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพราะในความเป็นจริงแล้ว นายธนาธรต้องกำชับให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นให้เรียบร้อยอย่างช้าก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่สมัคร ส.ส. เพราะนายธนาธรอ้างว่าโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 2 เดือนเศษ ขณะที่วันรับสมัคร ส.ส.คือวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 นายธนาธรควรจดแจ้งการโอนหุ้นต่อหน้านายทะเบียนก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยซ้ำไป ทั้งที่มีเวลาดำเนินการตั้งแต่ 8 มกราคม 2562 – 4 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน

“การที่ผมตั้งข้อสังเกตและข้อพิรุธทั้งหมด มิได้มีเจตนาชี้นำใดๆ แต่เพราะนายธนาธรเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นคดีที่สาธารณะให้ความสนใจ ไม่ว่าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่การตั้งข้อสังเกตและข้อพิรุธของกระผมในวันนี้ เพียงให้สาธารณะหรือบุคคลที่นิยมชมชอบคุณธนาธรให้เตรียมการตั้งสติและเผื่อใจไว้บ้าง หากผลคำวินิจฉัยไม่ถูกใจใคร จะได้หันมาดูข้อสังเกตและข้อพิรุธที่ผมตั้งไว้วันนี้ และผมอยากบอกกับนายธนาธรว่าเวลามีคดีความให้มีสมาธิที่เรื่องของตน อย่าไปมองเรื่องของคนอื่น มิฉะนั้นจะเสียโอกาสในการอธิบายเรื่องของตัวเอง แจ้งมาด้วยความหวังดี เพราะเห็นว่ายังมีคดีอีกหลายเรื่อง และจบเรื่องนี้แล้วไม่รู้ว่างานคดีจะงอกไปที่กรรมการบริหารพรรคที่มีหน้าที่พิจารณาคุณสมบัติของนายธนาธรหรือไม่ ขอให้กำลังใจครับ และยังมีเวลาที่จะให้ทนายความทำคำแถลงการณ์ปิดคดีชี้แจงต่อศาล” นายวิญญัติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image