กองทัพปลดแอกจีน ในรัฐประหารครั้งหน้า

น่าประหลาดที่กระทรวงการต่างประเทศไทยทำหนังสือชี้แจงปักกิ่งเรื่องนักการเมืองไทยไปถ่ายรูปกับนักเคลื่อนไหวในฮ่องกง ซ้ำยังออกมาแถลงให้คนไทยสบายใจด้วยว่า ปักกิ่งเข้าใจดีและไม่ถือโทษโกรธเคือง แทนที่จะทำหนังสือให้ปักกิ่งชี้แจงว่า การแสดงความคิดเห็นของอุปทูตจีนประจำไทยในสื่อโซเชียล เป็นความคิดเห็นส่วนตัวหรือเป็นความคิดเห็นของรัฐบาลปักกิ่งกันแน่

ในฐานะพลเมืองไทย ผมเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ผมอาจเอาใจช่วยผู้ประท้วงในฮ่องกง และหากได้พบ        ผู้ประท้วงก็อาจให้กำลังใจได้ โดยไม่ผิดกฎหมายไทยแต่อย่างไร ผมรักชาติก็เพราะผมเชื่อว่าชาติจะปกป้องผมจากการถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพตามกฏหมาย ทั้งจากผู้มีอำนาจภายในประเทศและต่างประเทศ หากชาติปฏิเสธที่จะทำหน้าที่พื้นฐานเช่นนี้ การเสียภาษีคือถูกปล้นสะดม และการเป็นทหารคือการถูกเกณฑ์แรงงาน อันเป็นแบบปฏิบัติปกติของรัฐก่อนเป็นชาติ

หากแนวโน้มของรัฐบาลไทยยังเป็นเช่นนี้อยู่สืบไป การรัฐประหารในกรุงเทพฯ ครั้งหน้า จะทำโดยกองทัพปลดแอกจีน

ผมไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งจะส่งกองทัพปลดแอกลงมาทำรัฐประหารในกรุงเทพฯ แต่นอกจากกองทัพที่ทำรัฐประหารจะใช้อาวุธและการฝึกจากจีนแล้ว ผู้นำการรัฐประหาร (ไม่ว่าจะมีกี่คนและไม่ว่าจะเป็นทหารหรือไม่ใช่) ต้องแน่ใจแล้วว่า ปักกิ่งจะอนุมัติด้วยการประกาศทันทีหลังยึดอำนาจได้ว่า นโยบายของปักกิ่งคือไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

Advertisement

ไม่เหมือนที่สหรัฐเคยทำในช่วงสงครามเย็น แต่ก็จะไม่ต่างอะไรมากนัก ในการรัฐประหารสมัยนั้นบางครั้ง ความคิดและการวางแผนเบื้องต้นกระทำที่โรงพยาบาลวอลเตอร์รีดในกรุงวอชิงตันด้วยซ้ำ และในอีกหลายครั้งสถานทูตสหรัฐที่ถนนสาธรรู้ล่วงหน้าเป็นเวลานานแล้ว

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทหารอเมริกันหรือจีนร่วมฉีกรัฐธรรมนูญ มหาอำนาจมักยืนอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของประเทศเล็กๆ อย่างไทยเสมอ

ในระยะเวลาประมาณ 170 ปีที่ผ่านมา การเมืองภายในของไทยแทบไม่เคยเป็นอิสระจากมหาอำนาจภายนอก และการเมืองระหว่างประเทศเลย ทั้งจุดมุ่งหมายทางการเมืองก็ไม่ใช่เพียงรักษาอิสรภาพของประเทศไว้สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันหรืออาจจะมากกว่าเป้าหมายแรกก็คือ การช่วงชิงอำนาจนำของกลุ่มการเมืองภายใน

Advertisement

ระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางตระกูลใหญ่, ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า, ระหว่างการสถาปนาพระราชอำนาจในระบอบใหม่กับขุนนางในระบอบเดิม, ระหว่างขุนนางนักเรียนนอกกับพระมหากษัตริย์, ระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยกันเอง, ระหว่างคนชั้นกลางที่มีการศึกษากับระบอบราชาธิปไตย, ระหว่างคณะราษฎรที่คุมกองทัพได้กับคณะราษฎรที่ได้รับความนิยมในหมู่พลเรือน, ระหว่างกองกำลังเสรีไทยกับกองทัพ, ระหว่างระบอบที่กองทัพต้องปันอำนาจกับนักการเมืองพลเรือนกับระบอบที่กองทัพกุมอำนาจนำค่อนข้างเด็ดขาด, ระหว่าง ฯลฯ กับ ฯลฯ มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งของสงครามเย็น (หากดูจากจำนวนของผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย อาจจะดุเดือดยิ่งกว่าแอฟริกาและละตินอเมริกา เฉพาะการรัฐประหารในอินโดนีเซีย ค.ศ.1965 ก็มีผู้เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 500,000 คนแล้ว) แต่หลัง ค.ศ.1975 เมื่ออเมริกา     เพลี่ยงพล้ำจนทั้งอินโดจีนตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์หมด ก็ถือได้ว่าสงครามเย็นในภูมิภาคนี้ได้บรรเทาลงแล้ว แม้ว่ายังไม่ยุติอย่างเป็นทางการในอีก 14 ปีต่อมา

กล่าวโดยสรุปก็คือ นับจากการรัฐประหารใน 1947 (พ.ศ.2490) จนถึง 1975 รัฐบาลไทยใช้สงครามเย็นหรือการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อกดขี่ปราบปรามปฏิปักษ์ทางการเมืองของตน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า (และผู้นำไทยที่ฉลาด เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็รู้ดีว่าไทยเล็กเกินกว่าจะเลือกข้างใดข้างหนึ่งจนหมดตัว สงครามเย็นจึงเป็นเพียงฉากหลังของการเมืองภายในเท่านั้น)

ไม่ว่าสหรัฐจะมีส่วนในการรัฐประหารในวันที่ 6 ต.ค. 1976 หรือไม่ และมากน้อยเพียงไร ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่การเมืองไทยเริ่มปลอดพ้นจากการแทรกแซงของมหาอำนาจ การสนับสนุนของสหรัฐต่อกองทัพไทยเพื่อทำสงครามกับ พคท.เริ่มลดลง นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ผู้นำทางการเมืองไทยต้องเร่งหาทางยุติสงครามกลางเมืองลง ทั้งโดยผ่านข้อตกลงกับจีนและคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23

ใน ค.ศ.1978 เมื่อเวียดนามบุกยึดกัมพูชา เป็นอีกช่วงหนึ่งที่สั่นสะเทือนความปลอดภัยของไทยเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลไทย (รัฐบาลเกรียงศักดิ์และเปรมในช่วงแรก) ตอบโต้ด้วยการดำเนินนโยบายดึงเอามหาอำนาจสองฝ่ายคือจีนและสหรัฐ เข้ามาหนุนกองกำลังกัมพูชาที่ต่อต้านเวียดนาม โดยเฉพาะกองกำลังของเขมรแดง     จุดมุ่งหมายก็เพื่อทำให้การยึดครองของเวียดนามมีราคาแพงที่สุด และชี้ให้เวียดนามเห็นว่า หากจะละเมิดอธิปไตยของไทยก็จะยิ่งต้องจ่ายในราคาสูงขึ้นกว่านั้นเสียอีก

น่าสังเกตว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จำเป็นต้อง “เล่นการเมือง” กับมหาอำนาจ แต่ก็เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ไม่ใช่เพื่อแย่งชิงอำนาจนำในการเมืองภายใน ถึงจะถือว่ามีส่วนในการสร้างความนิยมแก่รัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่ แต่ก็เป็นการแสวงหาความชอบธรรมโดยไม่ได้อาศัยพลังอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจอย่างในช่วงสงครามเย็น ถึงอย่างไรทั้งจีนและสหรัฐก็ไม่ต้องการเห็นการขยายอำนาจทางทหารของเวียดนามในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ไทยจึงใช้ประโยชน์จากนโยบายของมหาอำนาจเพื่อความปลอดภัยของประเทศ ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัยของกลุ่มการเมืองภายใน (รัฐบาลเกรียงศักดิ์ผู้ริเริ่มนโยบายนี้ สูญเสียอำนาจให้พันธมิตรกลุ่มอื่นในเวลาต่อมา)

จาก 1976 เมื่อจีนเริ่มเปลี่ยนนโยบายหันมาอาศัยพลังตลาดในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ จีนก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การทหาร และสถานะในการเมืองระหว่างประเทศ กลายเป็นมหาอำนาจเต็มขั้นตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐเริ่มตึงเครียดมากขึ้น เพราะถึงอย่างไรจีนในฐานะมหาอำนาจย่อมต้องเข้ามามีบทบาทนำในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ อันเคยเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐมาก่อน ในขณะเดียวกัน กำลังการผลิตมหาศาลของจีนย่อมทำให้เศรษฐกิจอเมริกันต้องเผชิญคู่แข่งที่น่ากลัว จีนจึงเหมาะจะเป็น “แพะ” ให้แก่ความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ อย่างเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยเป็นมาแล้วในทศวรรษ 1980

เพื่อรักษาและขยายคะแนนเสียงของตน ประธานาธิบดีทรัมป์เขยิบความตึงเครียดนี้ไปสู่สงครามทางการค้ากับจีน แม้ว่าไม่นำโลกกลับคืนสู่สงครามเย็นอีกครั้งหนึ่ง เพราะการแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันด้านอุดมการณ์อีกแล้ว แต่เป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงและปกปักรักษาอำนาจนำทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่าย

ในภาวะตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจเช่นนี้ สิ่งที่ไทยและประเทศเล็กๆ ควรทำ และหลายประเทศกำลังทำอยู่ ก็คือการรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equidistance) ระหว่างสองมหาอำนาจ เพราะทั้งจีนและสหรัฐล้วนเป็นตลาด, แหล่งทุน และที่มาของเทคโนโลยี ที่ขาดไม่ได้ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย อีกทั้งนโยบายนี้ยังเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจให้แก่ประเทศเล็กๆ ทั้งหลายด้วย

แต่นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกันเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจใช้นโยบายนี้ในการกดขี่ปราบปรามปฏิปักษ์ทางการเมืองของตน หลังการยึดอำนาจ คสช.พอใจที่จะแสดงความใกล้ชิดกับจีน เพื่อตอบโต้ท่าทีเย็นชาของสหรัฐ อันเป็นท่าทีซึ่งปฏิปักษ์ คสช.ใช้เป็นประโยชน์ในการโจมตีรัฐประหาร

คำอภิปรายเมื่อเร็วๆ นี้ของ ผบ.ทบ.ก็เช่นเดียวกัน เพื่อทำลายความนิยมที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกาศจะปฏิรูปกองทัพ ได้รับจากประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกันก็ถูกบั่นรอนลงอีก ไม่ใช่เพื่อทำความพอใจให้จีนเท่ากับเพื่อโจมตีให้ร้ายบุคคลที่ ผบ.ทบ.เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนาม คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศก็เช่นกัน น่าสงสัยว่าทำขึ้นเพื่อเอาใจจีน หรือเพื่อเอาใจ ผบ.ทบ.กันแน่

นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกันนั้น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ ซึ่งยังต้องพึ่งพาอาศัยมหาอำนาจในหลายๆ ทาง แต่เพื่อจะรักษานโยบายนี้ให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องไม่ใช้การแข่งขันของสองมหาอำนาจเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมืองของตน มิฉะนั้นแล้ว ในระยะยาว นโยบายดังกล่าวของไทยก็จะไม่เป็นที่เชื่อถือในระดับนานาชาติอีกต่อไป

ไม่เฉพาะมหาอำนาจที่ถูกผลักให้ห่างเท่านั้น ที่อาจทำร้ายผลประโยชน์ของไทยได้ แม้มหาอำนาจที่ถูกดึงให้เข้าใกล้เป็นพิเศษ ก็รู้ดีว่า ไทยสูญเสียอำนาจต่อรองลงไป จึงสามารถทำอะไรกับไทยก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจไทยและมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังความเห็นของเจ้าหน้าที่สถานทูตจีน ซึ่งแสดงให้ปรากฏต่อสาธารณชนไทยอย่างไม่ต้องปิดบังอำพรางใดๆ เลยนั่นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image