สถานีคิดที่ 12 : ควันหลงศึกงบประมาณ โดย : ปราปต์ บุนปาน

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ในวาระแรก โดยสภาผู้แทนราษฎร

มี 3 ประเด็นสำคัญ ที่น่านำมาพูดคุย ภายหลังการประชุมสภายาวนานต่อเนื่อง 3 วัน 3 คืน

ข้อแรก สังคมยังได้รับรู้ถึงภาวะ “ถ้อยทีถ้อยอาศัย” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เห็นได้จาก “การงดออกเสียง” มิใช่ “ไม่เห็นชอบ” ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

จากนี้ การปรับประสาน-ต่อรอง เพื่อให้เม็ดเงินของภาครัฐกระจายลงไปสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรมที่สุด ก็จะเคลื่อนตัวไปสู่ความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายในอีกสองวาระที่เหลือ

Advertisement

นี่แสดงให้เห็นว่า “การเมืองในสภา” นั้น ไม่จำเป็นจะต้องหักต้องโค่นกันทุกกระบวนท่า

แม้วาทศิลป์ที่ฟาดฟันใส่กันจะแลดูดุเดือดรุนแรงเพียงใด แต่เป้าหมาย-ดุลยภาพในการทำงานเพื่อราษฎร ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง

ข้อสอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับเข้าสภาด้วยท่าทีที่ทั้งเหมือนเดิมและต่างจากเดิม

Advertisement

ในงานเขียนชิ้นนี้ จะขอพูดถึงท่าทีแบบหลัง อันบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากเมื่อคราวแถลงนโยบายฯ

ถ้าใครตามดูการถ่ายทอดสดการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะพบว่าท่านนายกฯ มีความกระตือรือร้นที่จะตอบ (โต้) คำอภิปรายของบรรดา ส.ส.หนุ่มสาว จากพรรคอนาคตใหม่มากเป็นพิเศษ

ชนิดที่ถ้าคนไหนนำเสนอประเด็นได้อย่างมีเนื้อมีหนัง พล.อ.ประยุทธ์จะรีบยกมือขอชี้แจงต่อทันที

นี่แสดงว่านายกฯ มองเห็นความโดดเด่นของพรรคอนาคตใหม่ และมองออกว่าพรรคการเมืองใดกำลังเสนอ “นโยบายทางเลือก” ที่แตกต่างจากรัฐบาลอย่างมีนัยยะสำคัญ

นี่เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีการหลุดประโยคเก่าๆ เช่น “ผมอาบน้ำมาก่อน” ออกมาบ้าง

ข้อสาม แต่อนาคตใหม่เองก็มีปรากฏการณ์ 2 ด้าน ว่าด้วย “คนในพรรค” บังเกิดขึ้นเช่นกัน

แง่มุมหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็คือ เมื่อต้องทำงานด้านนโยบายหรือด้านเศรษฐกิจ แกนหลักทางการเมืองในพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือ รังสิมันต์ โรม จะลดบทบาทตนเองลง เพื่อหลีกทางให้แก่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่ม นำทีมโดย ศิริกัญญา ตันสกุล ผอ.นโยบายของพรรค

และแม้ “ส.ส.ระดับแม่เหล็ก” อย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรณิการ์ วานิช จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายงบประมาณหนนี้

ทว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2 ราย ซึ่งทำหน้าที่สรุปภาพรวมปิดท้ายในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ กลับกลายเป็น สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สองดอกเตอร์วัยต้น 40 ที่มีพื้นฐานการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

นี่แสดงให้เห็นว่าบุคลากรมือทำงานของพรรคมีความหลากหลายอยู่พอสมควร

ข่าวสำคัญอีกแง่มุมหนึ่งจากพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ การโหวตสวนมติพรรค 2 ครั้งซ้อน ในรอบ 3 วัน ของ กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 ซึ่งบ่งบอกถึง “ปัญหาภายใน” ที่เริ่มก่อตัว

ทั้งปัญหา “งูเห่า” ซึ่งกลายเป็นว่ารายแรกที่เปิดตัวออกมาเด่นชัด คือ ส.ส.อนาคตใหม่

ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ระหว่าง ส.ส.เขต กับแกนนำพรรค

และปัญหาการมองต่างมุมระหว่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อรุ่นใหม่ ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สนใจประเด็นเชิงโครงสร้าง กับ ส.ส.เขต หรือผู้เคยมีประสบการณ์ในสนามการเมือง ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องชาวบ้าน และการต่อสู้แบบ “ประนีประนอม”

ความหวังและรอยร้าวนี้จะดำเนินเคียงคู่ไปกับหลากหลายคดีความที่รอคอยพรรคอนาคตใหม่อยู่เบื้องหน้า

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์แท้จริงของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระแรก อาจมิได้อยู่ที่คะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งในสภาเท่านั้น

แต่ต้องจับตาดูอีกหนึ่งปัจจัยชี้วัดทางอ้อม คือ ผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 23 ตุลาคม

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image