รายงานหน้า 2 : เสียงจาก กมธ.งบ’63 3พรรค3สไตล์‘หั่น-ต่อรอง’

หมายเหตุความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2563 จากพรรคการเมืองต่างๆ ถึงความพร้อมและกรอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการ 251 เสียง งดออกเสียง 234 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

วีระกร คำประกอบ
ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ

คณะ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 จะประชุมนัดแรก วันที่ 24 ตุลาคมนี้เพื่อคัดเลือกประธาน รองประธาน เลขาฯ และโฆษก รวมทั้งวางกรอบระยะเวลาการประชุม กมธ.

Advertisement

ตามหลักแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธาน กมธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน กมธ.ส่วนระยะเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของ กมธ.จะอยู่ที่ 60 วัน คาดว่าจะมีการประชุม กมธ.ทุกวัน อาจหยุดแค่วันอาทิตย์ 1 วัน เพราะงบประมาณ เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปขับเคลื่อนประเทศและแก้ปัญหาให้กับประชาชน

คณะ กมธ.จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้รอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 บัญญัติไว้ว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจํานวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) เงินที่กําหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการการเสนอการแปรญัตติหรือการกระทําด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทํามิได้

Advertisement

เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้ การพิจารณาของ กมธ.จะไปแปรญัตติเพิ่มงบเหมือนในอดีตจะทำไม่ได้ ทำได้เพียงแค่การตัดทอนรายจ่าย ที่ไม่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ส่วนตัวขอตั้งข้อเกตไปถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะมาตรา 144 อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปล่อยผ่านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ออกมาได้อย่างไร เพราะถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย เนื่องจาก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน ย่อมมีสิทธิในการทำหน้าที่จัดทำงบประมาณของแผ่นดิน ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งปรับและลดงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและแผนการพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด

อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังเขียนด้วยว่าการแปรญัตติหรือการกระทําด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจะกระทำไม่ได้ ประเด็นนี้จะกลายเป็นว่า ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะพิจารณาปรับ ลด งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนไม่ได้ จะต้องยึดกรอบตามที่ข้าราชการ ที่เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วเสนอให้สภาเห็นชอบ กลายเป็นหลักข้าราชการธิปไตย แทนประชาธิปไตยไปแล้ว เพราะ กมธ.จะทำได้แค่เพียงตัดงบประมาณเพียงอย่างเดียว หากใครฝ่าฝืนก็จะมีโทษถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. และต้องชดใช้เงินนั้นคืน พร้อมดอกเบี้ยด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการทำงานของ กมธ.จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพราะเรื่องงบประมาณรายจ่าย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะไปขับเคลื่อนประเทศและแก้ปัญหาให้กับประชาชน

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
พรรคเพื่อไทย

งบประมาณที่จัดลงไปไม่ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการใช้เงินแบบที่ชาวบ้านไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่มีเงินเสียภาษี ทำให้รายรับของรัฐบาลน้อยลงไปด้วย ขณะเดียวกันรายจ่ายที่เป็นรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงการคลังก็บอกว่า พยายามจะทำให้ได้ภายใน 12 ปี แต่จากที่ดูแล้วเป็นไปไม่ได้เลย

ผมคิดว่างบในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ คือ เป้าหมายที่ กมธ.ของเราจะลดลง เช่น งบในส่วนของความมั่นคง ที่ต้องไปดูว่ามีความจำเป็นแค่ไหน ในสถานการณ์แบบนี้ หากฟังเสียงประชาชนโดยทั่วไปแล้วเขาก็อยากให้ลดงบตรงนี้ลง

ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าปัจจุบันนี้มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องคงงบความมั่นคงในจำนวนที่สูงมากขนาดนี้ เพราะก่อนปี 2549 งบกระทรวงกลาโหมมีเพียงประมาณ 7 หมื่นล้านบาทเอง ตอนนี้ขึ้นไปสูงถึง 2 แสนกว่าล้านบาท ความมั่นคงต้องชี้แจงให้ได้ว่าจะใช้งบไปกับส่วนไหน
ถ้าชี้แจงไม่ชัดเจน ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องลดงบในส่วนนี้ลง

คนที่เป็น ส.ส.น่าจะมองตรงกันในจุดนี้ และเราหวังว่าเมื่อรัฐบาลแปรญัตติเข้ามาจะคิดถึงงบเพื่อประชาชนให้มากขึ้น วันนี้ทุกคนมองตรงกันว่าในส่วนของภาคเศรษฐกิจได้รับงบประมาณน้อยไป ไม่ว่าจะเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ กมธ.ต้องปรับตรงนี้ให้เพิ่มขึ้น แล้วไปลดในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

ทั้งนี้ มีงบฟุ่มเฟือยอยู่หลายตัว งบที่ใช้ในการก่อสร้างบางอย่างก็ไม่จำเป็น ในวาระ 2 มุ่งหวังว่า เมื่อปรับลดงบในบางส่วนลง ถ้ารัฐบาลแปรญัตติกลับมาในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจเราจะพอใจ และเราเชื่อว่าเราสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับ ส.ส.ได้ว่ามีความจำเป็นใดที่ต้องปรับลดงบเพื่อกระตุ้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจ

พี่น้องประชาชนที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ อยากให้สะท้อนไปยัง ส.ส.ให้ไปบอกทางรัฐบาลว่าประชาชนต้องการอะไร หวังว่ารัฐบาลที่วันนี้ไม่ได้มาจาก คสช.ฝ่ายเดียว แต่มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค ยังมีความเชื่อว่าพรรคการเมืองจะให้ความสำคัญกับประชาชนมากกว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ทุกพรรคการเมืองจะมาช่วยกันคิดว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธารา ปิตุเตชะ
ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์

งบประมาณปี 2563 ความจริงผูกกันมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เกิดจากข้าราชการในกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งมีความจำเป็นในเรื่องใดบ้างนั้น ส่วนตัวไม่ได้ล้วงลึกเข้าไป และความจริงไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลใหม่เนื่องจากรัฐบาลที่แล้วเป็นผู้จัดทำ เพียงแต่รัฐบาลใหม่ นำเข้ามาดูและผ่านร่างให้ ซึ่งขณะนี้ก็ผ่านวาระ 1 ไปแล้ว ส่วนตัวจึงไม่รู้ถึงความจำเป็น ความต้องการ และความเป็นมาว่าเป็นอย่างไร เพราะมาจากรัฐบาลหทาร

เมื่อดูในภาพรวม ส่วนหนึ่งก็จัดทำในส่วนที่คิดเห็นว่าจำเป็นระดับหนึ่ง แต่ถามว่าราบรื่นทั้งหมดหรือไม่ ก็ไม่น่าจะใช่ ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้แสดงความคิดเห็นไปมาก ส่วนตัวเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะต้องนำเข้าสภาอีกครั้ง ช่วงนั้นคณะกรรมาธิการจะพิจารณาอีกครั้งว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร จะปรับลดอย่างไร แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงศึกษา ซึ่งต้องดูทั้งกระทรวง ทบวง กรม เป็นหน่วยงานไป ว่าตั้งงบประมาณมาสอดคล้องหรือไม่ และงบลงทุนได้จัดสรรอย่างคุ้มทุนหรือไม่ ส่วนหนึ่งส่วนใดควรปรับลดหรือไม่นั้นต้องดูในเนื้อหาอีกครั้ง

ช่วงนี้ทำได้เพียงแต่ดูในภาพรวมเท่านั้น เนื่องจากมีหน่วยงาน กรม กอง เป็นจำนวนมาก จึงยังไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียด แต่ช่วงที่พิจารณางบประมาณต้องดูรายละเอียด เพราะทุกหน่วยงานจะต้องไปชี้แจงอยู่แล้ว

เป็นเรื่องปกติในการจัดทำงบประมาณ ที่ฝ่ายค้านจะต้องท้วง ติติง มีมุมมองที่เห็นต่าง ว่างบประมาณในกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ควรจะต้องขัดเกลาลงอย่างไรบ้าง แต่ส่วนของงบประมาณจริงๆ แล้วส่วนราชการเป็นตัวหลัก เป็นคนจัดทำโครงการต่างๆ ในงบประมาณทั้งหมด ใน 3.2 ล้านล้านบาท ไปอยู่ในเงินเดือนข้าราชการประจำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ มีงบลงทุนอยู่ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท และเข้าไปอยู่ในงบประมาณกลาง ประมาณ 5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำอยู่แล้ว และเป็นงบผูกพันต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการจะดูในงบลงทุน

คาดว่าเรื่องที่จะมีการสอบถาม คือ 1.เรื่องหนักๆ ทั้งงบลงทุนของกระทรวงกลาโหม งบกลาง ที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งจะเป็นเป้าเพ่งเล็งว่าเอาไปทำอะไร เกิดประโยชน์หรือไม่ คุ้มการลงทุนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องสื่อให้เข้าใจตรงกัน ต้องดูในรายละเอียด

ส่วนการต่อรองเชื่อว่ามีเป็นปกติ เพราะทุกคนเข้าไปเป็น ส.ส.ก็ต้องการรักษาประโยชน์ รักษาเม็ดเงินของประเทศชาติอยู่แล้ว หากหน่วยงานชี้แจงได้ มีความจำเป็นจริงๆ เราก็ต้องให้ แต่หากชี้แจงไม่ได้ และอาจจะตั้งโดยที่มีความจำเป็นน้อย ก็ขัดเกลาลงมาเท่านั้นเอง เป็นเรื่องปกติ

ส่วนการพิจารณาร่างงบประมาณในขั้นตอนที่เหลือจะผ่านง่ายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งคณะกรรมาธิการจะพิจารณาทั้งหมดในเงื่อนเวลาเท่านี้ ก็คงเหนื่อย บางทีต้องประชุมจนถึงวันเสาร์ และอาจจะต้องตั้งอนุกรรมาธิการคณะต่างๆ ขึ้นเพื่อพิจารณาลงรายเอียดที่ลึกลงไปอีก เพราะกรรมาธิการชุดใหญ่จะดูในภาพรวม ถ้ามีปัญหาจริงก็ต้องตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา เป็นวิธีการปฏิบัติ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการพิจารณางบประมาณ ถ้ามีเหตุมีผลและหน่วยงานชี้แจงได้ ก็ต้องยอมรับด้วยเหตุด้วยผล จะคิดเพียงฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ การงดออกเสียงนั้นถือว่าเขาเห็นพ้องในวาระแรก ไม่อย่างนั้นก็ต้องโหวตสวนเพื่อแสดงว่าไม่เห็นด้วยทันที เพราะสภาสอบถามแล้วว่าถ้าเห็นด้วยกับงบประมาณให้กดเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยกับงบประมาณก็กดไม่เห็นด้วย ถ้ากึ่งๆ เห็นด้วยก็กดงดออกเสียง ซึ่งฝ่ายค้านก็งดออกเสียงทั้งหมด แม้แต่พรรคอนาคตใหม่

การงดออกเสียงเที่ยวนี้ ไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอนาคตใหม่ แปลว่าไม่ถึงกับไม่เห็นด้วย เพียงแต่ขอไปพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ ซึ่งยังมีวาระ 2 วาระ 3 ที่ต้องสงวนญัตติไว้ และไปว่ากันอีกทีหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image