วีรพงษ์ รามางกูร : นโยบายรัฐนิยมกับนโยบายประชานิยม

เมื่อได้ยินข่าวประชาสัมพันธ์นโยบาย “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้นึกถึงนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องการคะแนนนิยมจากประชาชน การหาเสียงจากประชาชนชาวชนบทที่เป็นฐานเสียงสำคัญของการเลือกตั้งจึงเป็นของจำเป็น ต่างจากรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างนโยบายที่หาคะแนนนิยมจากประชาชน แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่จะสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน

ถ้าจะนึกย้อนไปเมื่อก่อน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะทำการปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาล จอมพล
ป. พิบูลสงคราม ได้บริหารโดยเน้นในเรื่องทุนนิยมโดยรัฐ เพราะเหตุที่ประเทศและเอกชนยังไม่ใหญ่พอที่จะทำหน้าที่สะสมทุน กิจการทุกอย่างจึงต้องทำโดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรม การส่งออก การนำเข้า รวมทั้งการจำหน่ายสินค้า

การพัฒนาประเทศอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2500 และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงประกาศให้ยุคปฏิวัติเป็น “ยุคพัฒนา” มีการดึงธนาคารโลกเข้ามามีบทบาทในการเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนา

การประกาศใช้คำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่างทางดี มีงานทำ” เป็นคำขวัญที่ใช้กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ยุคฟื้นฟูปฏิรูปสภาเศรษฐกิจในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบประสานให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเริ่มจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า หรือ import substitution industry

Advertisement

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็เป็นแผนพัฒนาระบบคมนาคม ระบบโทรคมนาคม กำหนดเมืองที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ พร้อมๆ กับตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ทำการประชาสัมพันธ์ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นเรื่องของการพัฒนาทั้งสิ้น เด็กสมัยยุคจอมพลสฤษดิ์ก็เรียกว่าเป็นเด็กในยุคพัฒนา

ยุคพัฒนาสมัยนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นอารยประเทศ เปลี่ยนการนุ่งห่มจากการนุ่งโจงกระเบนเป็นกระโปรง ผู้ชายห้ามนุ่งกางเกงแพร และกางเกงปั้งลิ้นในที่สาธารณะ ผู้หญิงต้องใส่หมวกออกจากบ้าน ด้วยคำขวัญมาลาพาไทยเจริญ ห้ามเคี้ยวหมาก ห้ามสวมรองเท้าแตะในที่ราชการ ประชานิยมสมัยจอมพล ป. จึงเป็นประชานิยมโดยการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะที่ประชานิยมสมัยจอมพล สฤษดิ์ เป็นประชานิยมของยุคพัฒนา

มาถึงสมัยจอมพล ถนอม และจอมพล ประภาส เป็นยุคต่อต้านการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นยุคของการปกครองแบบเผด็จการทหารเพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และหนักข้อยิ่งขึ้นเมื่อเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ได้มี “การปลดปล่อย” โดยขบวนการคอมมิวนิสต์

Advertisement

กระแสประชานิยมสมัยนั้นจึงเป็นกระแสของการโฆษณาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันในหมู่เพื่อนฝูง หรือแม้แต่ภายในครอบครัวก็ต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นอาจจะเกิดปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกันได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ไม่ทราบสาเหตุ ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าลัทธิการเมืองที่ตนเห็นด้วยนั้นจริงๆ เป็นอย่างไร รู้แต่ว่าถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากนั้นก็เกิดความอลเวง นักศึกษาเป็นใหญ่และมาทราบภายหลังว่าองค์กรนักศึกษาถูกแทรกแซงโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และมีส่วนยั่วยุทำให้เกิดเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2519 เพื่อให้นักศึกษาต้องหนีเข้าป่าเพื่อร่วมปฏิวัติประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในยุคนั้นการเป็นซ้ายกลายเป็นประชานิยมในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

หลังการมี 14 ตุลาคม ก็มีประชาธิปไตย มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีคะแนนเสียงเพียง 18 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับพรรคธรรมสังคมของนายทวิช กลิ่นประทุม สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ประกาศใช้นโยบาย “เงินผัน” ต้องถือว่าเป็นนโยบายประชานิยมโดยตรงเป็นครั้งแรก โดยกันเงินงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 2,000 ล้านบาท เอาไปให้ชาวไร่ชาวนาในชนบท เมื่อมีคนไปถามว่าไม่กลัวชาวนาโกงหรือ ท่านก็ตอบว่า “ข้าราชการโกงมานานแล้ว ให้ชาวนาโกงบ้างจะเป็นอะไรไป”

โครงการเงินผันของพรรคกิจสังคมเป็นนโยบายประชานิยมที่ติดตลาด เลิกไม่ได้ เมื่อมาถึงสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถเลิกนโยบายเงินผันได้ แต่ได้เปลี่ยนเป็น “โครงการสร้างงานในชนบท” แทน โดยมีเนื้อหาเหมือนกันกับโครงการเงินผันของพรรคกิจสังคมนั้นเอง

ต่อมาโครงการเงินผันได้พัฒนามาเป็น “งบ ส.ส.” ซึ่งก็คือโครงการประชานิยมพัฒนาแบบหนึ่ง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถกำหนดโครงการในเขตเลือกตั้งของตนโดยมีงบประมาณคนละ 20 ล้านบาท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงใช้งบประมาณเช่นว่าสร้างโครงการต่างๆ แล้วติดป้ายว่ามาจากงบของ ส.ส.ท่านใด หรือมาจากพรรคการเมืองใด ในกรุงเทพมหานครก็จะเห็นสิ่งก่อสร้างบางอย่าง เช่น ที่นั่งพักรอรถเมล์ติดป้ายว่าเป็นโครงการของพรรคการเมืองใด หรือจาก ส.ส.ท่านใด ในยุคนั้นซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นโครงการประชานิยมนั้นเอง

มาถึงรัฐบาลไทยรักไทย โครงการพักหนี้เกษตรกรก็ดี โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ดี โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ก็ดี โครงการส่งนักเรียนจากอำเภอต่างๆ อำเภอละหนึ่งคนไปเรียนต่างประเทศก็ดี ล้วนแต่เป็นประชานิยมพัฒนาทั้งนั้น ถ้าไม่เกินกำลังงบประมาณแผ่นดิน แต่โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดเป็นโครงการที่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากที่สุดจนต้องเลิกไป กลายมาเป็นประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งก็เป็นโครงการประชานิยมแบบหนึ่งเหมือนกัน

รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจด้วยปากกระบอกปืน หรือโดยการนำเอารถถังเข้ากรุงเทพฯมาตรึงไว้ในจุดยุทธศาสตร์ อันเป็นที่ตั้งของกองทหาร สถานีโทรทัศน์และวิทยุในกรุงเทพฯ เมื่อยึดอำนาจได้แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อถ่วงเวลาให้ใช้อำนาจเผด็จการให้ยาวที่สุด ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้งพิธีกรรมสืบทอดอำนาจของตนเอง แล้วก็จะต้องประกาศใช้นโยบาย “ประชานิยม” เพื่อเอาใจประชาชน

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้ใช้นโยบายประชานิยม แต่ใช้นโยบาย “รัฐนิยม” เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่ยังล้าหลังทั้งในเรื่องความคิดทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ยังนุ่งโจงกระเบน กางเกงแพร ไม่สวมเสื้อ ไม่สวมรองเท้า ไม่สวมหมวก กินหมากฟันดำ ขับถ่ายลงแม่น้ำลำคลองท้องทุ่ง กินอาหารดิบและไม่ครบ 5 หมวด บริการการศึกษาภาคบังคับยังไม่ทั่วถึง คนอ่านออกเขียนได้มีไม่ถึงร้อยละ 2 ของประเทศ ต้องบังคับผู้ใหญ่ให้กลับมาเรียนใหม่ ในตอนเย็นและวันหยุด ออกจากบ้านไปทำงาน ไม่จูบภรรยา

จึงจำเป็นต้องประกาศนโยบาย “รัฐนิยม” บังคับให้ผู้ใหญ่ต้องกลับเข้าโรงเรียน เลิกเคี้ยวหมาก ขัดฟันให้ขาว เลิกนุ่งโจงกระเบน ให้สวมเสื้อ สวมหมวก สวมรองเท้า เลิกนุ่งกางเกงแพร เสื้อกุยเฮงในที่สาธารณะ ข้าราชการต้องหัดค้าขายโดยเริ่มจากภรรยา ข้าราชการต้องขายก๋วยเตี๋ยว คนไทยเชื้อสายจีนควรเลิกใช้แซ่แต่ให้ใช้นามสกุลแทน การตั้งนามสกุลใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีนก็ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องไม่ซ้ำกับนามสกุลที่มีผู้จดทะเบียนตั้งไว้แล้ว นามสกุลที่ตั้งใหม่จึงค่อนข้างยาว และนิยมเอาแซ่ติดไว้ข้างหน้า หรือแปลแซ่เป็นภาษาบาลีสันสกฤตใส่ไว้ข้างหน้า เช่น “ตั้งใจจิต” มาจากแซ่ตั้ง หรือ “สุวรรณพิภพ” มาจากแซ่กิม “หงส์หรรษา” มาจากแซ่ห่าน เป็นต้น

นโยบายประชานิยมนั้นผู้ได้รับประโยชน์ก็ชอบใจสนับสนุน ผู้ไม่ได้รับประโยชน์ เช่น สื่อมวลชน นักวิชาการ ที่เป็นห่วงฐานการเงินการคลังของประเทศก็คัดค้าน เพราะมีหลายประเทศ เช่น รัฐบาล
เปรองของอาร์เจนตินาใช้จ่ายงบประมาณเกินตัว ทำนโยบายประชานิยมจนประเทศล้มละลาย ค่าเงินตกต่ำจนเป็นเศษกระดาษ เหมือนกับรัฐบาลเจียง ไคเชก ที่เก็บภาษีไม่ได้แต่พิมพ์เงินออกมาใช้ทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ จนเงินกลายเป็นเศษกระดาษอย่างที่คนไทยเอาไปเผา ทำเป็นเงิน “กงเต๊ก”

แต่นโยบาย “รัฐนิยม” มาจากทฤษฎีว่า “รัฐ” คือชีวิตและเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังเนื้อเพลงที่ว่า “ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย ถ้าชีวิตมลายร่างกายก็เป็นปฏิกูล” ประชาราษฎร์อยู่ได้ก็เพราะ “รัฐ” ดำรงอยู่ รัฐเป็นเจ้าของประชาชน ประชาชนต้องทำเพื่อรัฐ ประชาชนไม่ใช่เจ้าของรัฐ ไม่ใช่เจ้าของรัฐบาล ไม่ใช่ Government of the people, by the people and for the people แต่เป็นรัฐบาลของรัฐโดยรัฐและเพื่อรัฐ

ประชาชนผู้ใดไม่เชื่อฟังรัฐ ประชาชนผู้นั้นย่อมเป็นมะเร็งร้าย ถ้าปล่อยไว้จะลุกลามเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เมื่อชีวิตเป็นอันตราย ร่างกายหรือประชาชนก็ย่อมเป็นอันตราย “อย่างที่เห็นมาแล้ว จะเอา
อย่างนั้นอีกหรือ?”

เมื่อเป็น “รัฐนิยม” ก็ต้องต่อต้าน “ประชานิยม” เพราะเป็นของตรงกันข้ามกัน “รัฐนิยม” ประชาชนเป็นของรัฐ แต่ “ประชานิยม” รัฐเป็นของประชาชน

ความคิดทั้ง 2 อย่างอยู่คู่กันเสมอ แต่จะเอียงไปในทาง “รัฐนิยม” ถ้ามีรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลสืบเนื่องจากเผด็จการ จะเอียงไปทาง “ประชานิยม”
ถ้ามีประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายนิยมแบบไหนก็เป็นอันตรายเสมอ ทั้งในทาง “การเมือง” และในทางการคลัง
ถ้าเอียงไปทางไหนอย่างสุดโต่ง

ต้องรักษาสมดุลให้ได้ เพราะว่าเป็นระบอบการปกครองไหนก็ต้องทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image