‘ภาคีเพื่อรธน.ประชาธิปไตย’ แถลง 4 หลักการ เดินเครื่องเต็มที่ เล็งจัดเวทีถกเข้ม

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม เวลา 15.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จัดแถลงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นาย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.และผู้ประสานงาน 30 องค์กรประชาธิปไตย กล่าวว่า บทบาทของภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย คือ เป็นองค์กรประสานงานกลางกับทุกเครือข่าย สนับสนุนและบริการงานทางวิชาการ โดยมีสถาบันสิทธิมนุษย์มนุษยชน และสันติศึกษา ม.มหิดล เป็นศูนย์ประสานงาน และอนาคตจะเชิญ ทุกเครือข่ายมาเป็นคณะกรรมการอำนวยการ

หนึ่งในภารกิจสำคัญ คือการผลักดันเรียกร้องให้รัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ เพื่อรณรงค์และผลักดันเวทีถกแถลงทั่วประเทศ และทำงานคู่ขนานกับพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยร่วมกัน และเปิดกว้างให้กับภาคการเมืองทุกกลุ่ม รวมถึงพรรคการเมืองทุก ทั้งฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา

“ครป.มีข้อเสนอส่วนหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการปฏิรูปการเมืองและสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปด้วยกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เราสามารถออกแบบระบบเศรษฐกิจเพื่อสังคม ป้องกัน การผูกขาดทางเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจในทรัพยากร และที่ดินเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มทุนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังสามารถออกแบบการกระจายอำนาจ จัดให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด การสร้างกลไกตำรวจจังหวัดและแยกอำนาจสอบสวนจากตำรวจในกระบวนการยุติธรรม การกระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้น รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น

ภาคีฯ จะเดินหน้าจัดกิจกรรมและเรียกร้องกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองในประเทศไทย ร่วมกับ ครป.และ 30 องค์กรประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน” นายเมธากล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคีฯ ออกแถลงการณ์ เนื้อหาดังนี้

​“ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ในฐานะองค์กรประสานงานขององค์กรประชาธิปไตยและเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและพลังขับเคลื่อนเพื่ออนาคตของประเทศที่ดีกว่าด้วยการทำให้เกิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของประชาชน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น และยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลางนั้น ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ในการแก้ปัญหา ด้วยการอาศัย “กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด” มาเป็นเครื่องมือ “สร้างการเรียนรู้สำนึกความเป็นพลเมือง” ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าจะมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศชาติ ด้วยพลัง “ความรู้-ความรัก-ความสามัคคี” ของปวงชนชาวไทย

“ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” จึงเสนอหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

หลักการที่หนึ่ง​การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และเปิดกว้างให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่

หลักการที่สอง ​ต้องทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง และยุติการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

หลักการที่สาม ​ต้องทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์

หลักการที่สี่ ​ต้องทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้นพร้อมขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศทางด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ ถกแถลงและปรึกษาหารือกันเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและประเทศดีขึ้น
เพื่อดำเนินการตามหลักการข้างต้น

ภาคีฯ จะร่วมกันจัดเวทีถกแถลงเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจว่า ทำไมจึงกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลาง จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ขณะที่ “รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนที่ดีกว่า

ภาคีฯ จะจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการทำหน้าที่ประสานงานเพื่อดำเนินการและจัดกิจกรรมโดยมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นจุดหมายร่วมลงนามโดยองค์กรประชาธิปไตย ดังนี้

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน77จังหวัด

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์

มูลนิธิเพื่อความยั่งยืน

ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

พรรคเพื่อไทย โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

พรรคอนาคตใหม่ โดย พล.ท.พงศกร รอดชมภู

จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมือง

นิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image