รายงานหน้า 2 : กางโรดแมป ‘5จี’ กสทช.ดีเดย์‘กรกฎาฯ 63’

หมายเหตุ เครือมติชนจัดงานสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงาน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. รวมถึงผู้บริหารจากภาคเอกชนด้านกิจการโทรคมนาคม ร่วมเสวนา ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน ที่มีความตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่มีพลังในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่า 5จี จะเกิดขึ้นในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน โดยในโลกปัจจุบัน ภาคการเงิน การธนาคาร การผลิต การเกษตร โลจิสติกส์ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้หลอมรวมไปสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากขึ้น จึงถือว่าเทคโนโลยี 5จี เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของโลก

Advertisement

นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5จี ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การแพทย์สาธารณสุข และการยกระดับสวัสดิการทางสังคมได้มากขึ้น โดย 5จี จะเป็นส่วนช่วยเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทได้อย่างไร้พรมแดน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล ซึ่งก็จะเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติขึ้นมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อวางรากฐานต่อยอด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5จี ในการมุ่งสู่การพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในทุกภาคส่วน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

Advertisement

การผลักดัน 5จี อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคที่ไม่มีใครคาดเดาได้ มองว่าช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครคิดว่า 5จี จะมาเร็วขนาดนี้ แต่เมื่อ 5จี เข้ามาประเทศเพื่อนบ้านมีแผนผลักดันในทันที อาทิ เวียดนามและพม่า เป็นต้น ทั้งนี้ การที่มติชนจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นเหมือนการทวงถามผมว่า 5จี จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เชื่อว่า 5จี จะเกิดขึ้นในปี 2563 ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แน่นอน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะทำให้เกิด 5จี โดยเร็ว

ในส่วนภาพรวมของโลก ขณะนี้มีหลายประเทศได้นำ 5จี มาใช้แล้ว ดังนั้น ถ้าไทยยังไม่เข้าสู่ 5จี ภายในปีหน้า จะเกิดปัญหาใหญ่ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจ และการขับเคลื่อนประเทศ คาดว่าจะเกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มองว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเดินหน้าเต็มที่เพื่อให้ไทยไม่ตกขบวน 5จี

นอกจากนี้ จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนใหม่ว่าการมาของเทคโนโลยี 5จี จะทำให้สื่อสารกับครอบครัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ดีขึ้น ความจริงแค่เทคโนโลยี 4จี ก็ใช้บริการดังกล่าวได้แล้ว เพราะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มีการพัฒนาระบบสัญญาณอยู่ตลอด

สิ่งที่ประชาชนต้องรู้ คือ 5จี จะเข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรมของโลก ดังนั้น ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เชื่อมต่อและควบคุม 100 อุปกรณ์ ได้พร้อมกัน 5จี ต้องเกิดให้ได้ในปีหน้า ซึ่งการขับเคลื่อนในครั้งนี้ กสทช.เป็นองค์กรที่มีบทบาทหนักที่สุด ทุกครั้งที่ได้หารือกับ กสทช. จะคุยในเรื่องการประมูลอย่างต่อเนื่อง หาสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย มองว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่สำคัญ ซึ่งจะมีข้อมูลที่
โอเปอเรเตอร์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน

ซึ่งการประมูลในไตรมาสแรก 2563 จะได้เห็นหน่วยงานหลักอีก 1 หน่วย ซึ่งคนที่ผลักดันคือผม แต่ไม่ได้ตั้งมาเพื่อขู่โอเปอเรเตอร์แต่อย่างไร แต่ต้องการผลักดันให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที ควบรวมกันเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็ง เพื่อทำการแข่งขันเข้าประมูล 5จี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในหลายด้าน ทั้งภาคสังคม สาธารณสุข และภาคการเงิน เชื่อว่ารัฐบาลจะนำ 5จี เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชานชนให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น

โดยทั้ง 2 คลื่นความถี่ที่จะทำการประมูล คือย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 26000 เมกะเฮิรตซ์ มีความสามารถในการรองรับคลื่นย่าน 190 เมกะเฮิรตซ์ จะเป็นตัวนำไปสู่เทคโนโลยี 5จี โดยการประมูล 5จี โอเปอเรเตอร์ต้องมีอย่างน้อย 100 เมกะเฮิรตซ์

นอกจากนี้ ไทยยังเหลือคลื่นย่านความถี่ 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นช่องความถี่ของกิจการโทรทัศน์ กำลังคิดจะนำทั้ง 2 คลื่นนี้มาประมูลพร้อมกันได้หรือไม่ หากทำได้จะกลายเป็นประเทศที่เดินหน้าเข้าสู่ 5จี อย่างเต็มตัว ซึ่งจะนำทุกประเทศในภูมิภาคนี้ การนำทั้ง 2 คลื่นเข้าประมูลยังมีความเป็นไปได้ ระหว่างนี้ยังสามารถพัฒนาความสามารถได้ ก่อนเข้าสู่ 5จี

นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนต้องคิดว่าทำอย่างไรให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีความเท่าเทียมเท่าทันและทั่วถึง เพราะเราต้องแข่งขันกับหลายประเทศใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเอาตัวรอด แต่ไทยไม่อยากส่งต่อประเทศให้กับประชาชนคนรุ่นใหม่ทั้งที่ยังมีฐานไม่แข็งแรง การพัฒนาในครั้งนี้ จึงเป็นความตั้งใจที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังที่จะให้ 5จี เกิดขึ้นในปีหน้าให้ได้ แต่จะใช้แบบไหน จัดตั้งที่ใด หากพูดตั้งแต่ยังไม่มีการประมูลเลย ก็จะดูไม่เป็นความจริง

แต่นี่คือแนวคิดและเส้นทางผลักดันที่จะทำให้เกิด 5จี แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ารัฐบาล เอกชน และประชาชน ไม่ร่วมมือกัน หลังจากนี้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนโดยรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย เพื่อเป็นแรงส่งให้ 5จี เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดอย่างแน่นอน

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร
ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

การสัมมนาครั้งนี้เพราะอยากเห็นการหารือเปลี่ยนแปลงของการเดินหน้า 5จี ให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเวลา 3 ปีที่มติชนให้ความสนใจกับ 5จี ตั้งแต่ช่วงเตรียมพร้อมของ กสทช.จนถึงปัจจุบันเดินหน้าไปมาก โดย กสทช.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน 5จี ตามนโยบายรัฐบาล

ขณะนี้ กสทช.ได้เร่งจัดสรรคลื่นความถี่ให้ครอบคลุม ทั้งย่านต่ำ ย่านกลาง และย่านสูง เพื่อรองรับการใช้งานในบริการที่หลากหลายอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อประชาชน และคาดว่าจะจัดประมูลคลื่นดังกล่าวช่วงต้นปีหน้า โดย 5จี เร่งด่วน ช้าไม่ได้ ถ้าช้าไทยจะล้าหลัง

มั่นใจว่าการจัดงานสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN ในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดเวทีเพื่อหารือถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้แทนภาคธุรกิจ และภาคการลงทุน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และจุดยืนร่วมเดินหน้าประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และเพิ่มโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 5จี สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้นโยบายมาแล้วว่า 5จี ต้องเกิดขึ้นภายในปี 2563 ให้ได้ และก่อนที่ 5จี จะเกิดขึ้น กสทช.รวบรวมปัญหาอุปสรรค 4 ข้อ ที่เป็นอุปสรรคทำให้ 5จี ไม่เกิดในไทย ประกอบด้วย 1.ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป 2.กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน 3.การใช้งาน 3จี และ 4จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพของระบบ และ 4.การทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ 5จี เกิดขึ้นในไทย ซึ่ง กสทช.นำเสนอปัญหาและอุปสรรค 4 ข้อต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคทั้ง 4 ข้อดังกล่าวไทยต้องผ่านให้ได้ เพื่อก้าวไปถึง Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN และทำให้เอกชนสนใจเข้ามาร่วมประมูล

ขณะนี้การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อคณะกรรมการ มีรัฐมนตรีกระทรวงเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดนโยบายและเข้าไปดูแผนการลงทุนและการใช้ประโยชน์ 5จี เพื่อสนับสนุนให้ใช้งาน 5จี จากภาครัฐ สาธารณสุข และภาคเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้น เอกชนไม่ต้องกังวลว่าประมูลไปแล้วจะไม่มีคนมาใช้งาน

สำหรับปัญหาอุปสรรคในข้อแรกเรื่องของราคาประมูลมองว่าสูงเกินไปไหม ผลการศึกษาเกี่ยวกับราคาเริ่มต้นหรือราคากลางพบว่าประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 35,370 ล้านบาท มีจำนวน 19 ใบอนุญาต หรือเฉลี่ยราคาใบละ 1,862 ล้านบาท ส่วนความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ มูลค่า 8,100 ล้านบาท มีจำนวน 27 ใบอนุญาต หรือเฉลี่ยราคาใบละ 300 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นผลศึกษาจาก 4 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยชาลเมอร์ส ออฟ เทคโนโลยี ของสวีเดน

โดยเตรียมเสนอราคาดังกล่าวต่อที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคม วันที่ 6 พฤศจิกายน เสนอคณะกรรมการ กสทช. วันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อนำร่างประกาศไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ข้อ 2 กฎกติกาไม่เอื้ออำนวยให้เอกชนลงทุน ที่ผ่านมา กสทช.ปรับเปลี่ยนกฎกติกา โดยจะมี Grace period ให้กับผู้ร่วมประมูลไม่ต้องชำระค่าประมูลเป็นระยะเวลา 3 ปี กำหนดไว้ว่าปีที่ 1 ให้ชำระค่าประมูล 10% ปีที่ 2-4 ไม่ต้องจ่าย ปีที่ 5-10 จ่าย 15% แต่มีเงื่อนไขคือต้องนำเงินที่ไม่ต้องจ่ายไปลงทุน เช่น ลงทุนในอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) 50% ของพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี และลงทุนในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ 50% ของประชากรในสมาร์ทซิตี้ ภายใน 4 ปี โดยต้องเป็นเทคโนโลยี 5จี ที่ประมูลไป

ข้อ 3 การใช้งาน 3จี และ 4จี ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ พบว่า ไทย เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ เป็นประเทศที่ใช้ 4จี เต็มประสิทธิภาพของระบบแล้ว โดยมีประเทศที่ยังใช้งาน 4จี ไม่เต็มระบบ แต่จะเปิดให้บริการ 5จี คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งถ้าดูการใช้งานดาต้าของไทย พบว่ามีค่าเฉลี่ย 9 GB ต่อคนต่อเดือน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 5 GB ต่อคนต่อเดือน และเมื่อปี 2557 ไทยมีการใช้งานประมาณ 5 แสนเทระไบต์ ล่าสุดในปี 2562 การใช้งาน 7.5 ล้านเทระไบต์ คิดเป็น 7,686 ล้าน GB ซึ่งพบว่าการใช้งานอินเตอร์เน็ต ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่า พบว่าหากประชาชนไปอยู่ในย่านที่มีการใช้งานหนาแน่น ทำให้การเข้าถึงระบบช้าลง ถ้าดูจากตรงนี้พบว่าคงไม่ประมูลไม่ได้แล้ว เพราะถนนต้องมีการขยายแล้ว

สำหรับในข้อ 4 การทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลยังไม่ทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ 5จีเกิดขึ้นในไทย ที่ผ่านมา กสทช.เดินหน้า 5จี มาโดยตลอด เราช้าได้ถ้าประเทศอื่นไม่เกิด เช่น ถ้าเวียดนามไม่เกิด มาเลเซียไม่เกิด ถ้าเขาเกิดจะทำให้มีการย้ายฐานการผลิต ทำให้ไทยถึงจุดวิกฤตทางเศรษฐกิจ

โดยขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ เพื่อดำเนินนโยบายในเรื่องการขับเคลื่อนเป็นการเฉพาะ ดังนั้น อยากให้เอกชนเข้าร่วมประมูล เพราะ กสทช.ให้ผ่านทั้ง 4 ข้อแล้ว เมื่อรัฐบาลเดินหน้า 4 ข้อเต็มสูบ มั่นใจว่า 5จี จะเกิดเร็วขึ้น ไม่ใช่ปลายปี แต่เป็นภายในไตรมาส 3 ของปี 2563

สำหรับกรอบเวลาทำงาน 5จี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เสนอร่างประกาศต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน วันที่ 12 พฤศจิกายน ผ่านที่ประชุม กสทช. เพื่อนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน -12 ธันวาคม ซึ่งทุกคนสามารถเสนอความเห็นได้ หลังจากนั้นวันที่ 27 ธันวาคม ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 2 มกราคม 2563 ประกาศเชิญชวน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ประมูลคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตปลายเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าเปิดให้บริการภายในเดือนกรกฎาคม 2563

อยากให้ 5จี เริ่มเปิดบริการเดือนกรกฎาคม 2563 เพราะญี่ปุ่นเปิดให้บริการ 5จี ในงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ดังนั้น อยากให้ไทยเปิดให้บริการเวลาเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันไทยต้องเดินหน้าให้เร็ว เพราะเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เดินหน้าขับเคลื่อน 5จี แล้ว ทราบมาว่าเวียดนามจัดสรรคลื่นแล้วเสร็จ แต่เพียงว่าขั้นตอนการเปิดให้บริการ ผมว่าไม่เป็นระบบเหมือนที่ไทยดำเนินการในขณะนี้

ส่วนประโยชน์ของ 5จี จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Surrey ของอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2563-2573 จะมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจปีละ 5.68% ของจีดีพี แบ่งเป็น 1.45% จากการใช้งานอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูง และ 4.23% จากระบบทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งในส่วนของไทยขณะนี้เศรษฐกิจยังโตไม่ถึง 3% ดังนั้น ถ้า 5จี ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ 5.68% ถือว่าสูงมาก นอกจากนี้ 5จี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานภาครัฐ ภาคเกษตร ภาคขนส่ง ภาคสาธารณสุข ภาคการผลิต ซึ่งผลประโยชน์ไม่เฉพาะผู้ประกอบการโทรคมนาคมอย่างเดียว แต่ผลประโยชน์เกิดต่อประเทศไทยมหาศาล กสทช.และกระทรวงดีอีเอสอยากให้เกิดขึ้นในไทยเร็วที่สุด ถ้าเราช้าหรือหยุดอยู่กับที่แสดงว่าเราถอยหลัง ถ้าเราเดินหน้าเร็วแสดงว่าเราอยู่กับที่ ถ้าเดินหน้าเร็วที่สุดต้องเดินตามแผน กสทช.ข้างต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image