เรืองชัย ทรัพย์นิรันดน์ : ถึงเวลาเรียนรู้ประชาธิปไตยจากประเทศต้นแบบ

ขณะปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยแรก เป็นระหว่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปี 2563 วาระสอง เห็นว่านัดกันทุกวันทำการ มีเวลาว่างเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ว่าง ต้องกลับเขตเลือกตั้งพบกับพี่น้องประชาชนเจ้าของเสียงที่ลงคะแนนและไม่ได้ลงคะแนนให้

อย่างน้อย นำเรื่องงบประมาณในเขตเลือกตั้งของตัวเองไปแสดงให้พี่น้องเขตพื้นที่นั้นทราบว่าจะนำงบประมาณที่ได้ไปทำอะไรบ้างให้เกิดประโยชน์กับเขตเลือกตั้งและพี่น้องในเขตเลือกตั้งนั้น

การเลือกตั้งครั้งนี้หลังจากห่างเหินมากว่า 5 ปี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ทั้งเก่าและใหม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปมาก โดยเฉพาะผู้แทนราษฎรใหม่จำนวนไม่น้อยที่ผ่านการศึกษาทั้งในและต่าง ประเทศ รวมถึงแต่ละคนต่างศึกษาเรื่องการบ้านการเมืองทั้งก่อนการรัฐประหารเมื่อ ปี 2557 และหลังมีนายกรัฐมนตรีจากคณะรัฐประหารมาเกินกว่า 5 ปี ได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรมาก กระทั่งนำมาแสดงออกในการอภิปรายหลายหัวข้ออย่างมีหลักฐานและข้อมูลได้เป็นอย่างดี

แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่หลายคนจะยังไม่คล่องตัวพอในการอภิปราย แต่เรื่องที่นำมาเสนอยังดีกว่าอดีตสมาชิกที่เข้ามาสมัยแรกๆ เมื่อก่อนมาก

Advertisement

รูปแบบของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของประเทศต้นแบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ไม่ทราบว่าเรียกในภาษาอังกฤษอย่างนี้หรือไม่) คือ สหราชอาณาจักร ที่เราได้รู้เห็นผ่านการถ่ายทอดจากโทรทัศน์ เฉพาะการนั่งประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากนำมาใช้กับประเทศไทยมีหวังต้องกระทบกระทั่งถึงขนาดชกต่อยกันแน่

แต่ระบบและรูปแบบการประชุมกับวิธีการของอังกฤษดูจะให้ความเคารพในเรื่องประชาธิปไตยคือ สิทธิและเสรีภาพด้านมนุษยชนในเกณฑ์มาตรฐานสูง การพูดจาปราศรัยจึงมี “ลิมิต” อยู่ในเกณฑ์ที่แต่ละคนต่างรู้ดีว่าสามารถแสดงออกได้มากน้อยขนาดไหน จึงจะไม่ล่วงล้ำเข้าไปละเมิดในความเป็นส่วนตัวส่วนบุคคล

ยิ่งเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเป็นพวกเดียวกันยิ่งจะเห็นในความเป็นเหตุเป็นผลที่แสดงออก แม้เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งจะขัดแย้งในความเห็นกับนายกรัฐมนตรี ที่สุดนายกรัฐมนตรีต้องลาออกแล้วมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่

ในวันเปิดสภาของอังกฤษสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธทรงมีพระราโชวาทว่า รัฐบาลของพระองค์จะนำประเทศออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปนั้นเป็นแสดงนโยบายระดับชาติ มิใช่ระดับรัฐบาลที่แสดงออกต่อชาวโลกและกลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิก ซึ่งเป็นอันแน่นอนว่า ภายในกำหนดเวลาสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสมาชิกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปไม่เปลี่ยนแปลง

นั้นเป็นประชามติที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์นับแต่สมเด็จพระราชินีซึ่งเป็นองค์ประมุขของประเทศได้กล่าวในการเปิดประชุมรัฐสภา ให้ชาวโลกได้ทราบ

ระบอบประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักรน่าจะแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างไร การประกาศพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าซึ่งทรงเป็นพระประมุขของประเทศนั้นนับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาชนแห่งสหราชอาณาจักรด้วยประการทั้งปวงแล้ว

ทั้งที่กว่าจะออกจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรใช้เวลาหลายปี มีการทำประชามติหลายครั้งที่สุดนายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งที่ไม่สามารถนำสหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปได้

คือการรอคอยซึ่งมีระยะเวลาในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเสียงของประชาชนเป็นอย่างหนึ่ง เสียงของรัฐบาลเป็นอย่างหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้องขอประชามติจากประชาชนถึงสองครั้งสามครั้ง กระทั่งประชาชนยืนยันในการออกจากสหภาพยุโรปด้วยเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยจึงต้องยอมรับ โดยไม่มีการใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนแต่อย่างใด

สมกับเป็นประเทศต้นแบบระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ จริงไหมครับ บิ๊ก-บิ๊ก ที่มีปืนในมือทั้งหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image