‘บิ๊กตู่’ชู!‘มั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน’ ปลุก-เวทีสุดยอดอาเซียน

หมายเหตุพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นประธานและกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิดหลัก ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability) เป็นการประชุมในระดับผู้นำครั้งสุดท้ายของปี ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย นอกจากผู้นำอาเซียนแล้ว ยังมีผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี และ รัสเซีย รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ ที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 นอกจากนี้ ยังมีผู้นำจากภาคีภายนอก และองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับเชิญเป็นแขกของประธาน (Guest of the Chair) เข้าร่วมด้วย ได้แก่ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเทพฯ และนนทบุรี เกิดจากความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพกับประชาคมโลก อันจะช่วยยกระดับภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้า

เมื่อพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ได้กล่าวเนื้อร้อง เพลงดิอาเซียนเวย์ วี แดร์ ทู ดรีม, วี แคร์ ทู แชร์ (We dare to dream, we care to share) เพื่อเป็นการทบทวนความกล้าฝันจากรุ่นสู่รุ่น และหารือแนวทางร่วมกันในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืนŽ ด้วยความร่วมมือครั้งนั้นนำ
ไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

Advertisement

เพื่อสานต่อผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จึงขอกล่าวเนื้อร้องอีกท่อนหนึ่ง คือ อาเซียน วี อาร์ บอนด์ แอส วัน ลุคกิ้ง เอาต์ ทู เดอะ เวิลด์ (ASEAN we are bonded as one. Looking out to the world.) อาเซียนเราผูกพันกันเป็นหนึ่ง มองออกไปสู่โลกŽ สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ไม่เพียงความร่วมมือร่วมใจเฉพาะในภูมิภาค แต่ยังให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ซึ่งถือเป็น กัลยาณมิตรŽ
ที่ช่วยสนับสนุนให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายที่วาดฝันไว้ และขยายผลสู่นอกภูมิภาคอาเซียน

ในปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนและโลกต่างเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบสิบปีจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค สะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งทางการค้าและปัญหาอื่นๆ ระหว่างบางประเทศ ความท้าทายต่อระบบพหุภาคีนิยม
ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะทะเล

ดังนั้น ความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพอันแน่นแฟ้นจึงมีความสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียพร้อมรับมือ และก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปได้

Advertisement

ในช่วงการประชุมระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2562 นี้ ถือว่าเป็นวาระสำคัญที่จะสะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อร่วมมือร่วมใจ สานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และวางแนวทางร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากความเป็นแกนกลางและจุดเด่นของภูมิภาคอาเซียนที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูกับใคร เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยดำเนินการในสองแนวทาง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาว ไปพร้อมกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสองมิตินี้ถือว่าเป็น สองด้านของเหรียญเดียวกัน ที่จะนำมาซึ่งภูมิภาคที่ยั่งยืน

ประการที่หนึ่ง การสร้างภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ ต้องมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของ หลักการ 3M คือ การเคารพซึ่งกันและกัน การไว้เนื้อ เชื่อใจ และ การมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ต้องมุ่งวางรากฐานด้านกฎกติกา ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสำคัญที่ภูมิภาคอาเซียนมี ทั้งการนำหลักการสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) นำมาใช้ในบริบทที่กว้างมากกว่าภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เราได้ต้อนรับอัครภาคีของสนธิสัญญาฯเพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศต่างๆ ยอมรับในหลักการพื้นฐานและกฎกติกาของการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค รวมไปถึงการมีกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจภูมิภาค
อาเซียน การมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็งและมีภูมิภาคอาเซียนเป็นแกนกลาง อาทิ การประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก อาเซียนบวกสาม เออาร์เอฟ และความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการจัดทำประมวลการปฏิบัติ (COC) ในทะเลจีนใต้ระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีน และการฝึกผสมทางทะเลระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสหรัฐ เป็นต้น

ประการที่สอง คือ การสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน ผ่านการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ดำเนินการให้เสร็จในปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกไปพร้อมกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ทั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในภูมิภาคอาเซียนด้วยการสร้างความเกื้อกูลระหว่างยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงต่างๆ ทั้งภายในอาเซียนและนอกภูมิภาค ตั้งแต่การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างประชาชน ทางการเงิน และด้านดิจิทัล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4IR

เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ MSMEs เกษตรกร กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต มีความยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และการรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ด้วยการดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และปัญหาประมง ไอยูยู (IUU) ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง IUU ทั้งหมดต้องพึ่งพาความร่วมมือกับหุ้นส่วนอาเซียนและมิตรประเทศ

ความมั่นคงที่ยั่งยืนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ดังนั้น การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชน ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ของภูมิภาคอาเซียนและสายใยทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก

ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาชนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราบรรลุเป้าหมายและร่วมสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ หนึ่งในนั้น คือ ศูนย์อาเซียนทั้ง 7 แห่งในประเทศไทย ยินดีที่จะได้ร่วมเปิดตัว 3 ศูนย์สุดท้าย จากทั้งหมด 7 ศูนย์ ให้เป็นมรดกของการลงทุนจากความร่วมมือร่วมใจเพื่อประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อลูกหลานของพวกเรา และเพื่ออนาคตของภูมิภาค

ขอเชิญชวนทุกคน ร่วมมือ ร่วมใจ และจับมือกับหุ้นส่วนให้แน่นขึ้น เพื่อร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนที่จะสร้างภูมิภาคที่มีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และมีความไพบูลย์ เพื่อวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้า โดยให้ประชาคมอาเซียนของพวกเราที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต สามารถเป็นพลังสำคัญในการบรรลุความฝันนี้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อประโยชน์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image