“เบ้าหน้า” สำคัญกว่า “สมอง” ? จ่อไมค์ถามปัญญาชน-คนสวยหล่อ

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาโดยฉับพลัน เมื่ออาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ออกมาโพสต์ข้อความติติงหน้าตาของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยระบุว่า  “จะทำให้อัตลักษณ์ของชาวจุฬาฯเป็นที่เคลือบเเคลงต่อสาธารณชน”  ส่งผลให้ผู้คนตั้งคำถามว่าหน้าตาและรูปลักษณ์ภายนอกสำคัญขนาดไหน โดยเฉพาะในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย และแวดวงวิชาการ

หนุ่ม สิว เหี่ยว ไม่เกี่ยว “ปัญญาชน”

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ และอดีตครู ซึ่งได้รับคำนิยามว่า “ปราชญ์” คนหนึ่งของไทย ส่ายหน้าบอกว่า สำหรับแวดวงการศึกษา หน้าตาแบบไหน ไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือครูบาอาจารย์ แต่อยู่ที่เนื้อหาสาระและศักยภาพของคนๆนั้นต่างหาก ใครนำเรื่องหน้าตามาเป็นสาระ ถือว่า “เพี้ยนชัดๆ”

“หน้าตาไม่เกี่ยวกับการเรียน ต้องดูว่าเขาเรียนได้หรือเปล่า และจะเรียนสถาบันไหนก็ได้ ไม่จำกัด ส่วนผู้สอน จะหนุ่ม แก่ ฟันหลอ เป็นลุงหน้าเหี่ยวๆ ก็ไม่เกี่ยวกับวิชาการ เนื้อหาสาระที่สอนต่างหากที่ต้องเอามาพิจารณาว่าถูกต้องไหม สอนใช้ได้ไหม ใครจำกัดคนจากเรื่องหน้าตา คนนั้นเพี้ยนชัดๆ คนคิดอย่างนี้ ไม่มีสาระ” ปรามาจารย์ตอบสั้นๆ แต่ชัดเจน

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ผู้ได้รับยกย่องเป็น "ปราชญ์" คนหนึ่งของเมืองไทย
ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ผู้ได้รับยกย่องเป็น “ปราชญ์” คนหนึ่งของเมืองไทย

ชนชั้น-อำนาจ-การศึกษา กำหนด “ทัศนะความงาม”

ด้าน ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของเมืองไทย วิเคราะห์ว่า การศึกษากับชนชั้น เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ส่วนใหญ่คนเรียนดี คือคนที่มีโอกาสในสังคมสูงกว่าคนอื่น อย่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่แถวสามย่าน ซึ่งมักเป็นลูกหลานคนมีฐานะ ซึ่งไม่ได้มีแต่อำนาจทางเศรษฐกิจ แต่มีอำนาจทางวัฒนธรรมด้วย นั่นคือ อำนาจในการกำหนด “ความงาม”

Advertisement

“การศึกษากับชนชั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกอยู่แล้ว แล้วความงามกับชนชั้นก็เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกเช่นกัน มหาวิทยาลัยใหญ่แถวสามย่านมีลูกหลานคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้าศึกษาได้ แน่นอนว่าพวกเขาเรียนดี แต่ส่วนใหญ่ คนที่เรียนดีคือคนที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่าคนอื่น ยิ่งการศึกษาไทยเป็นระบบที่บิดเบี้ยว แก้เท่าไหร่ก็ไม่ตกที่จะให้เกิดการกระจายของความรู้ไปในท้องถิ่น ความรู้สูงๆ คนมีความรู้ดีๆ ก็กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ และจึงอยู่ในกลุ่มคนมีฐานะดีถึงดีมาก ทีนี้ คนมีฐานะ ไม่ได้มีแต่อำนาจทางเศรษฐกิจ เขามีอำนาจทางวัฒนธรรมด้วย มีอำนาจกำหนดความงามด้วย อะไรสวย ผิวพรรณแบบไหนที่เขาชอบ หน้าตาแบบไหนที่ดูดี มันถูกกำหนดมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นทัศนะต่อความงามที่ยึดเอาผิวพรรณขาว ซึ่งมีมาเนิ่นนานในสังคมไทย จนทำให้ครีมเปลี่ยนสีผิว คือเปลี่ยนให้ขาว ขายได้น่ะ มันมีมาอยู่คู่กับสังคมไทยที่เป็นสังคมชนชั้น ผิวขาว ผิวนวล ผิวสีทอง ผมตรง คือชนชั้นสูง ผิวคล้ำ ผิวดำ ผมหยิก คือชนชั้นล่าง” ยุกติกล่าว

ยุกติ ยังวิเคราะห์ถึงความ “ดูดี” ของนักศึกษาแถวสยามย่าน ว่า คนมีฐานะดี ก็มีโอกาสที่จะดูดีได้มากกว่าคนฐานะไม่ดี ทั้งข่าวสารข้อมูลการแต่งตัวตามแฟชั่นความงาม และโอกาสที่จะได้ซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยๆ ด้วยเงินแม้จะไม่มาก แต่เมื่ออยู่ใจกลางเมืองในย่านแฟชั่น ก็ยิ่งทำให้นักศึกษาแถวสามย่านมีโอกาสดูดีได้มากกว่าที่อื่น ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดชุดความคิดเป็นความคาดหวังที่สังคมและที่คนในมหาวิทยาลัยนั้นเองคิดว่า นักศึกษาที่นั่นต้องหน้าตาดี

ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

ตั้งคำถามจริยธรรมความเป็น “ครู”

สำหรับประเด็นที่มีอาจารย์ท่านหนึ่ง วิพากษ์หน้าตาของเนติวิทย์ ในทางลบนั้น ยุกติมองว่า หากเป็นพูดรวมๆ ก็แค่สะท้อนทัศนคติว่าอาจารย์ผู้นั้นควรจะไปอยู่ในเวทีประกวดสาวงาม ชายงาม มากกว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ถ้าเลือกพูดโดยเจาะจงไปที่เพียงนักศึกษาคนใดคนหนึ่ง ก็สะท้อนอคติที่เขามีต่อนักศึกษาคนนั้น อาจจะเป็นอคติทางการเมือง หรืออคติต่อความรู้ความสามารถที่รุ่นหลังบางคนมีเหนือเขาแม้ในวัยที่เขาเองขณะนี้เป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว

Advertisement

“อาจารย์ที่มีอคติต่อนักศึกษาคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ ก็ไม่น่าเชื่อถือว่าเขาจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ได้หรือเปล่า แล้วเขาจะให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชังได้หรือเปล่า ยิ่งถ้าเป็นคนที่สอนคนให้เป็นครูด้วยแล้ว ยิ่งน่าสงสัยในจริยธรรมของการเป็นครู

มหาวิทยาลัยรับเงินภาษีจากชาวบ้านมาบริหารจัดการ ไม่ใช่ว่าคุณบอกว่าออกนอกระบบแล้วจะเป็นอิสระ จะปลอดจากการต้องรับใช้สังคม อาจารย์มหาวิทยาลัยเติบโตมากับการรับเงินภาษีจากรัฐมายาวนาน ปัจจุบันงบประมาณด้านการวิจัย ก็ยังได้รับจากรัฐบาลไม่น้อย แล้วมาดูถูกลูกชาวบ้านแบบนี้ ผมว่าสมควรให้สังคมพิจารณาว่าคนแบบนี้เหมาะสมกับการเป็นอาจารย์สอนคนไปเป็นครูหรือเปล่า” ยุกติปิดท้าย

ญาณิศา บุญประสิทธิ์ หรือ อาจารย์กุ้ง ซึ่งนักศึกษาโจษขานว่า "สวย"
ญาณิศา บุญประสิทธิ์ หรือ อาจารย์กุ้ง ซึ่งนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ โจษขานว่า “สวย”

หล่อ-สวย ช่วยศักยภาพการศึกษา ?

ลองมาพิจารณาในมุมมองของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้รับคำจำกัดความว่า “สวย” จากนักศึกษากันบ้าง

ญาณิศา บุญประสิทธิ์ หรืออาจารย์กุ้ง สังกัดคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ที่โจษขานกันว่า สวย น่ารัก น่ามอง เป็นที่สุด

เมื่อได้รับคำถามว่า ดีกรีความสวยหล่อ เกี่ยวไหมกับศักยภาพในการเรียนการสอน อาจารย์กุ้ง ย้ำเสียงหนักแน่นว่า “ไม่เกี่ยวเลยยย”

สิ่งที่จะทำให้เด็กตั้งใจเรียนขึ้นอยู่กับหลักสูตร เนื้อหา และวิธีการสอน ความสามารถและผลงานของแต่ละคน คือสิ่งที่ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เรื่องหน้าตา ในบทบาทอาจารย์ เนื้อหา วิธีการสอน และหลักสูตร คือสิ่งที่จะทำให้เด็กตั้งใจเรียน ส่วนนักศึกษาจะหน้าตาอย่างไร ยิ่งไม่เกี่ยว เพราะอาจารย์ย่อมเมตตาต่อลูกศิษย์ทุกคน

“นิยามคำว่าสวยหล่อ ขึ้นอยู่กับรสนิยม แต่ถ้าพิจารณาความสะอาดเรียบร้อย การดูแลตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนรอบข้างสบายใจ ไม่ใช่เฉพาะในแวดวงวิชาการ แต่เป็นทุกวงการ ไม่ใช่ว่าสวยมาก จะน่าเชื่อถือมาก ทุกอย่างขึ้นกับความสามารถ เราเป็นอาจารย์ ให้เกียรติสถาบัน สถานที่ และให้เกียรตินักศึกษา การแต่งตัวเรียบร้อย เป็นหนึ่งในแบบอย่างที่สอนนักศึกษาว่า เวลาจบไปทำงานต้องให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ขอยกตัวอย่างเวลาทำงานในบริษัทเอกชน มีลูกน้องหน้าตาดี แต่งตัวหวานแหวว เท่ห์ สมาร์ท แต่ศักยภาพการทำงาน ถ้าเปรียบกับคนหน้าตาธรรมดา แต่ตั้งใจทำงาน ตรงต่อเวลา ถามว่าสบายใจที่จะติดต่องานกับใครมากกว่ากัน”

วราภรณ์ พวงไทย บรรณาธิการนิตยสารชั้นนำ ขณะทำงานร่วมกับฌอน จินดาโชติ ดารา-นายแบบมากความสามารถ
วราภรณ์ พวงไทย บรรณาธิการนิตยสารชั้นนำ ขณะทำงานร่วมกับฌอน จินดาโชติ ดารา-นายแบบมากความสามารถ

วงการบันเทิงชี้ แค่ “หน้าตาดี” ไม่รอด !

ปิดท้ายด้วยบุคคลในแวดวงที่คลุกคลีกับ “หน้าตา” อย่างแวดวงนิตยสาร ต้องร่วมงานกับดารา นายแบบ นางแบบมากมาย ไหนจะคอลัมน์ต่างๆด้านแฟชั่น และความงาม
วราภรณ์ พวงไทย บรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง บอกว่า ต้องยอมรับว่าหน้าตามีส่วนสำคัญในแวดวงนิตยสารและงานบันเทิง แต่ความสามารถก็สำคัญเช่นกัน เพราะบางรายหน้าตาดีมาก แต่ทำงานไม่ได้ ก็ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในขณะที่บางคน ไม่ถึงกับสวยหล่อ แต่มีความสามารถ วันหนึ่งก็ดังขึ้นมาได้ จากแค่เป็นเด็กในกองถ่าย

“ดารา พิธีกร ดีเจ ต้องเลือกหน้าตา แต่ความสามารถต้องมี บางคนสวยหล่อทำงานไม่ได้ แสดงไม่ดี ไม่รู้มุมตัวเอง เคยเจอนะ นายแบบบางคน หล่อมากกกกกกกก แต่โพสต์ท่าไม่เป็น ต้องคอยไปจัดท่าทางให้เวลาถ่ายแบบ เพราะฉะนั้น สุดท้ายแล้ว เลือกคนทำงาน ต้องเลือกที่ความสามารถด้วย ว่าเหมาะกับงานไหม ต้องมีการเทรนด์ การดูแลฝึกฝน มิฉะนั้นคงไม่มีอาชีพอย่าง เอ-ศุภชัย”

ส่วนประเด็นการวิพากษ์หน้าตาของนักศึกษานั้น วราภรณ์บอกว่า เหตุใดจึงไม่ให้เกียรติในความสามารถของเด็กที่สอบเข้ามาได้ การแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ดูใจร้ายเกินไป

และอยากตั้งคำถามกลับว่า “อัตลักษณ์จุฬา” คืออะไร ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image