สแกนเขตการค้า‘อาร์เซ็ป’ อันตรายและโอกาส

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการและภาคเอกชนถึงผลดีและผลเสียจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ผู้นำ 16 ประเทศได้แก่ 10 ชาติอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เห็นชอบประเด็นการเจรจาทั้ง 20 ข้อบท

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

อาร์เซ็ปที่อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้เห็นชอบใน 20 ข้อบทเรียบร้อยแล้ว หากสามารถตกลงกันได้ จะเกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียอย่างมหาศาล

Advertisement

กรอบการเจรจาอาร์เซ็ปจะทำให้ในระยะยาวกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกทั้ง 16 ประเทศ ซึ่งหมายถึงว่าจะมีลักษณะเป็นตลาดร่วมที่จะมีการเปิดเสรีทั้งสินค้า แหล่งเงินทุน การบริการและแรงงาน

แต่ในระยะสั้นและระยะกลางจะกลายเป็นเขตการค้าเสรี 16 ประเทศ หมายความว่าในอนาคตทั้ง 16 ประเทศจะเปรียบเสมือนประเทศเดียวกันในเรื่องของสินค้าคือสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดใน 16 ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรม จะเคลื่อนย้ายไปทั้งใน 16 ประเทศเหล่านี้ได้ โดยไม่มีกำแพงภาษีนำเข้าระหว่างกัน รวมถึงไม่มีการจำกัดปริมาณหรือโควต้าในการนำเข้าสินค้า

ทำให้อาร์เซ็ปกลายเป็นเขตเศรษฐกิจในการเคลื่อนย้ายสินค้าครอบคลุมทั้ง 16 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกว่า 3.5 พันล้านคน และมีจีดีพี เท่ากับ 32% หรือ 1 ใน 3 ของโลก และมีขนาดการค้าสูงถึง 29%

ผลกระทบที่จะตามมาจากอาร์เซ็ป จะทำให้ประเทศต่างๆ และบริษัทต่างๆ ที่อยู่นอกกลุ่มอาร์เซ็ป จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ ด้วยการเข้ามาลงทุนในอาร์เซ็ป เพื่อจะได้ประโยชน์จากการที่มีแหล่งกำเนิดสินค้าอยู่ใน 16 ประเทศนี้ เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นเข้าออกใน 16 ประเทศได้โดยไม่มีภาษีนำเข้า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการขยายตัวของการลงทุนจากบริษัททั่วโลก

อาร์เซ็ปจะทำให้ประเทศต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสมาชิกอาเซียน หรือประเทศในอาร์เซ็ปทั้งหมด การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ จะเป็นได้การแข่งขันในแง่บวกและแง่ลบ หากธุรกิจในไทยสามารถปรับตัวได้ดี ก็จะขยายไปสู่ตลาดที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่า 3.5 พันล้านคน แต่หากไม่สามารถแข่งขันได้ก็จะต้องล้มลุกคลุกคลานมากขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอื่นที่จะตามมาด้วย โดยเฉพาะการลงทุนที่จะเข้ามาจากทั่วโลก นอกจากจะส่งผลให้การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ระบบขนส่งโลจิสติกส์ ขยายตัวมากขึ้น แต่ก็จะมีผลกระทบในแง่ของสังคมและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น

ลองนึกภาพว่าเมื่อมีต่างชาติเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น อาทิ เมื่อญี่ปุ่นเข้ามา ก็ทำให้ประเทศไทยมีความนิยมอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น

อาร์เซ็ปจึงเป็นทั้งภัยอันตรายและโอกาส หากสามารถปรับตัวได้ดีก็จะมีโอกาสมากขึ้นในตลาดที่ใหญ่ขึ้น แต่หากธุรกิจมีการปรับตัวได้ไม่ดีก็จะตกอยู่ในภาวะของการล้มลุกคลุกคลานมากกว่าเดิม

ถึงแม้ประเทศไทยจะเตรียมพร้อมหรือยังไม่พร้อมในการเกิดข้อตกลงอาร์เซ็ปขึ้น แต่ถึงอย่างไรภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันยุคนี้

ส่วนอีกข้อหนึ่งที่สำคัญทางด้านภูมิรัฐศาสตร์คือ การเกิดขึ้นของอาร์เซ็ปจะทำให้อาเซียนที่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง ที่เป็นกลไกในการพัฒนาอาร์เซ็ป มีความสำคัญในเวทีการเมืองโลกมากขึ้น เพราะไม่ใช่การรวมเพียง 10 ประเทศในอาเซียนเท่านั้นแต่เป็นการรวมทั้ง 16 ประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มีความสำคัญในกรอบของการเมืองและความมั่นคงของโลกอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะนี้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมหรือความไม่พร้อมของประเทศไทย ที่จะสามารถแข่งขันในระหว่าง 16 ประเทศได้หรือไม่ วันนี้ต้องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่

สำหรับภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแล ทั้งธุรกิจที่แข่งขันได้และแข่งขันไม่ได้ ในส่วนของธุรกิจที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องเข้ามาช่วยเพื่อให้ปรับตัวได้ต่อไป ตรงนี้มีในกรอบเจรจาว่าจะให้เวลาในการปรับตัวเท่าใด มีการยกเว้นหรือไม่อย่างไร การปรับตัวในกรอบกำแพงภาษีจะมีเงื่อนไขในส่วนของระยะเวลาอย่างไร เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องช่วยเอกชนและภาคธุรกิจ

ในส่วนของภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัวแน่นอน ตัวใดที่หากไม่สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องพยายามลดต้นทุน หรืออาจจะย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำลง

ในปี 2563 ถึงแม้จะมีการลงนามในสัญญาร่วมกันขึ้น แต่ประเมินว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมยังมีค่อนข้างน้อย

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย

อาร์เซ็ปเป็นการเปิดพื้นที่อาเซียน ยกระดับอาเซียนไปเชื่อมโยงกับประเทศจีน อินเดีย และยังมีประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อีก โจทย์เรื่องนี้มีความพยายามที่จะยกระดับอยู่แล้ว แต่ก็มีประเด็นอยู่ว่าหลายประเทศกลัวเศรษฐกิจภายใน ซึ่งรวมทั้งไทย เวียดนาม และกัมพูชาด้วย ส่วนประเทศที่ดันมากๆ จะเป็นสิงคโปร์

ทั้งนี้ จีนและอินเดียอยากได้ตลาดของเรา แต่จะแตกต่างกันตรงที่อินเดียมองว่าในอาร์เซ็ปมีพลเมือง 600 กว่าล้านคน เฉพาะอาเซียนอย่างเดียวก็ 300 ล้านคนแล้ว แต่อินเดียค้าขายในภูมิภาคนี้น้อยมาก ของไทยกับอินเดียมีประมาณ 5-6% เท่านั้น

ผมเคยเป็นคณะทำงานอยู่ในทีมนี้มีโอกาสไปเจรจาที่ประเทศอินเดีย เราไม่ค่อยรู้ว่าพรมแดนไทยกับอินเดียติดกันทางทะเล เขาก็รุกเรื่องนี้เรามาก อินเดียอยากรุกผ่านทางมหาสมุทรอินเดีย เขาอยากได้พื้นที่แต่ก็ติดเรื่องตลาดในประเทศเหมือนกัน และเขาก็กลัวจีน

ขณะที่จีนมองเรื่องนี้ในแง่การลงทุนให้คนของเขาออกมาลงทุนได้ เพราะอาร์เซ็ปพูดถึงเรื่องการลงทุนด้วย ที่จีนอยากได้การลงทุนเพราะบ้านเขามีปัญหาเศรษฐกิจจึงต้องระบายออกมา และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต้องการการพัฒนาอีกมาก สังเกตว่าจีนจะมุ่งเรื่องรถไฟฟ้า ท่าเรือ การเจรจาต่างๆ จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่งวดนี้คิดว่าเป็นเพราะเวลาที่งวดเข้ามา อีกทั้งประเด็นอยู่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทำให้คนไม่ไว้วางใจอเมริกาด้วย โอกาสจะสำเร็จจึงมีสูง

ที่เขาบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะจะเป็นการเปิดตลาดการค้า-การลงทุนในประเทศ อาร์เซ็ปทำให้อาเซียนตลาดบึ้มขึ้น เพราะจีนมี 1,400 ล้านคน อินเดีย 1,300 ล้านคน ในอาเซียนอีก 600 ล้านคน เป็นกำลังซื้อครึ่งหนึ่งของโลกและถือว่ามีมูลค่าสูงสุดของโลก ทางเหนือมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทางใต้มีอินเดีย ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็อยากเป็นอาเซียน ซึ่งอาเซียนก็รังเกียจบอกว่ายูเป็นฝรั่ง จึงคิดว่ารอบนี้ออสเตรเลียไม่เกี่ยว

ตรงนี้เป็นภาพใหญ่ ส่วนภาพการเปิดการเจรจาที่เวียดนามคนไทยจะต้องเตรียมความพร้อม จะมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของเราที่ได้ประโยชน์ ต้องดูตลาดภายในด้วยว่าหากจะเปิดก็ควรจะต้องมี ฟุตโน้ต (Footnote) ว่าเราจะต้องมีระยะเวลาการเปิด โดยเฉพาะภาคเกษตร อย่าลืมว่าอินเดียเป็นคู่แข่งทางด้านเกษตรกับเราเรื่องข้าว อินเดียปลูกข้าวมากกว่าเรา ไทยจึงต้องระมัดระวังอย่างมาก

ตลาดจีนจะทะลักเข้ามา แต่ขณะเดียวกันเราลงทุนที่จีนแบบไม่มีสตางค์ คนที่ได้ประโยชน์อาจเป็นสิงคโปร์ที่อาจเป็นศูนย์กลางเรื่องการเงินของภูมิภาค ดังนั้น ไทยต้องมองบริบทให้ดีว่าตกลงแล้วประโยชน์ของอาร์เซ็ปคือเรื่องอะไร เพราะเรื่องการท่องเที่ยว แม้ไม่มีอาร์เซ็ปเราก็ได้เต็มๆ อยู่แล้ว เนื่องจากเรามีฟรีวีซ่า ไม่จำเป็นต้องมีอาเซียนวีซ่า

ส่วนประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ คือ 1.ตลาดจะใหญ่ขึ้น 2.เขามาลงทุนได้ เราก็ไปขายเขาได้ จีนก็เบ้อเริ่ม อินเดียก็เบ้อเริ่ม เราสามารถเข้าไปลงทุนเชื่อมโยง ภาษีเป็น 0 หมด แต่ความจริงก็ 0 อยู่แล้ว 3.ประโยชน์เรื่องการขนส่ง และ 4.ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นประโยชน์ของเรา

ในแง่ความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศจะมาลงทุนกับไทยนั้น เขาก็คงจะเลือก ต้องถามว่าเรามีอะไรที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เรื่องกำลังคน เราไม่มีแน่นอน ดังนั้น อุตสาหกรรมที่จะมาบ้านเราได้ต้องไม่เอาคน ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เราต้องเปิดรับไฮ-เทคโนโลยี เรื่องสกิลเราต้องเตรียมเอาไว้ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของไทย ไม่ใช่แค่สกิลภาษาอังกฤษ แต่คือสกิลที่จะเปิดสู่การค้าในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งบ้านเราสกิลยังมีความเป็นอนุรักษ์อยู่มาก

ไทยอาจจะยังมีไม่มากพอในเรื่องระบบการศึกษา ไม่ใช่แค่เด็กของเราปักธงอาเซียนแล้วดูเป็นอาเซียน เด็กอนุบาลแต่งตัวน่ารักๆ ใส่ชุดอาเซียนแล้วบอกว่าเราเข้าอาเซียน ดังนั้น 1.เราต้องปรับระบบการศึกษา ปรับปรุงเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ 2.เอสเอ็มอีของเราก็ต้องเห็นโอกาส ไม่อย่างนั้นเราจะถูกแย่งการค้าขายไปหมด 3.สถานประกอบการขนาดใหญ่ๆ อย่างบริษัทเอสซีจี บริษัท ปตท. อย่าไปพูดถึงเขา ให้ไปพูดถึงรายกลางและรายเล็กที่อยู่ต่างจังหวัด เราต้องมีภูมิคุ้นกันให้เขา แต่เราจะทำกันอย่างไร องค์กรเอกชนบางทีก็เพ้อฝันไปตามรัฐบาล บางทีองค์กรเอกชนใหญ่ๆ ก็ต้องมาเตรียมคนภายในของเราด้วย

อย่าเอาตัวใหญ่มาพูด เพราะทำให้ข้อมูลเสีย บางทีเรามองว่าประเทศไทยแข่งขันได้ แต่ไปเอาช้างมาเทียบ ก็ไม่ใช่ เพราะเป็นระดับโกลบอลแล้ว จึงต้องมองข้อเท็จจริง องค์กรธุรกิจในต่างจังหวัดมีอีกมากที่เราต้องเตรียมภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ดีใจ ตัดริบบิ้น แล้วมองแต่ภาพใหญ่ว่าคนมากขึ้น คนครึ่งหนึ่งของประชากรโลก การค้าโฟล์ว แต่เราไม่รู้ว่าเมื่อเข้ามาแล้วขีดความสามารถของเราเป็นอย่างไร

อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มาถึงก็ตัดนาฟตา (เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) ตัดอะไรออกไปหมด เพราะมองว่าเข้ามาแล้วจะแย่งงานคนของเขา แม้แต่อเมริกาเอง ถ้าไม่ได้ทรัมป์ก็แย่เหมือนกัน เพราะถ้าเปิดนาฟตา การค้าก็ระบาดเข้ามาแล้วจะสู้ไม่ได้ดังนั้นอาร์เซ็ปมองได้ 2 มุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image