ปิยบุตร ขอร่วมด้วย! นั่งกมธ.ศึกษาแก้รธน. แนะตั้งให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งคิดใครนั่งประธาน

อนาคตใหม่ เผย เปิดประชุมสภาฯ เป็นการอุ่นเครื่อง อภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้ความสำคัญ ญัตติศึกษาผลกระทบ คสช. ปิยบุตร ลั่น เข้ามาเป็นส.ส. เพราะอยากแก้รัฐธรรมนูญ ซัด อย่ามัวแต่ตบตีแย่งชิง ตำแหน่ง ปธ.กมธ.แก้รธน.

เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ชั้น 8 อาคารไทยซัมมิท นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ว่า ในการประชุมสภาฯ พรุ่งนี้ เรามีญัตติสำคัญๆ ที่ต้องพิจารณา ในส่วนของพรรคอนค. ได้เตรียมตัวเรื่องญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจ และการออกประกาศ คำสั่ง และมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตนเป็นคนเสนอญัตตินี้ขึ้นมา เราเตรียมผู้อภิปรายไว้ทั้งหมด 10 คน โดยจะอภิปรายภาพรวมทั้งหมด ซึ่งตนจะเป็นคนเปิดประเด็นเองว่าคำสั่งของ คสช. ส่งผลกระทบอะไรบ้าง จากนั้นจะเป็นการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพของสื่อ เรื่องการทวงคืนผืนป่า เรื่องที่ดิน และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการออกคำสั่งเพื่อเอื้อกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ การแทรกแซงองค์กรอิสระ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตนคิดว่าญัตตินี้มีความสำคัญ เพราะตลอด 5 ปีของการปกครองของคสช. เราไม่มีสภาฯ ที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. ได้อย่างเต็มที่ ครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจคสช. ย้อนหลังถึงผลงานในอดีต ที่ยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน นี่คือเหตุผลประการที่หนึ่ง

ส่วนเหตุผลประการที่สองคือ ศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ในวันนี้เป็นการเข้าสู่ระบบปกติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จึงมีอำนาจและความชอบธรรมอย่างเต็มที่ ที่จะกลับมาพิจารณาทบทวนว่า การออกคำสั่งของคสช. นั้น มีความชอบธรรมหรือไม่เพียงใด และต้องมีการแก้ไขยกเลิก หรือเยียวยาผู้ที่เสียหายอย่างไร ตนคิดว่าอาจจะใช้เวลาพอสมควรสำหรับญัตตินี้ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ เป็นไปได้ว่าอาจจะยาวไปจนถึงวันพฤหัสบดี ที่ 7 พฤศจิกายน

เมื่อถามว่าญัตตินี้ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคฝ่ายค้านตั้งใจเจาะจงไปที่ตัวบุคคลหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ญัตตินี้จะเน้นไปที่คำสั่งคสช. ก่อน ยังไม่เน้นตัวบุคคล แต่เป็นการอุ่นเครื่องเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม ประชาชนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องในอดีต ตนขอชี้แจงว่าคำสั่งคสช. ได้ส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือคำสั่งเหล่านี้เราไม่สามารถโต้แย้งได้ศาลได้เลย เพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับ

Advertisement

ส่วนประเด็นเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกเสนอให้ตั้งนั้นได้วางแผนจัดสรรอย่างไร นายปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับ กมธ.ชุดนี้ หากเสียงข้างมากของสภาฯ โหวตให้ตั้ง ก็คงจะแบ่งตามสัดส่วนเดิม คือพรรคอนค. จะได้ประมาณ 6 ที่นั่ง แต่ทั้งนี้ต้องดูที่ประชุมว่าจะเสนออย่างไร

ส่วนจะมีความหวังในการตั้งกมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช. สำเร็จหรือไม่นั้น เลขาธิการพรรคอนค. กล่าวว่า เท่าที่ตนได้พูดคุยกับส.ส.หลากหลายพรรค ก็เห็นตรงกันว่าเราควรต้องพูดเรื่องนี้เพราะเรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และคำสั่งคสช. ไม่ได้กระทบกับกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งเท่านั้น แต่ยังกระทบเป็นวงกว้างต่อพี่น้องประชาชน เช่น สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และที่ดิน รวมไปถึงข้าราชการที่ถูกโยกย้ายด้วยคำสั่งคสช. ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ก็มีความเห็นว่าจะตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการทำงานในชุดของตนอย่างเดียว ตนจึงอยากให้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญ ขึ้นมา เพื่อจะเปิดโอกาสให้ส.ส.จากทุกพรรค และบุคคลภายนอกมาทำงานร่วมกัน

ส่วนญัตติการขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตร เปิดเผยว่า หากญัตติเพื่อศึกษาผลกระทบคำสั่งของคสช. มีเยอะ ญัตติตั้งกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะถูกเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้า เท่าที่ประเมินพบว่ามีโอกาสสูงที่จะตั้งกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีหลายพรรคการเมืองเสนอเข้าไป หากตั้งได้แล้วก็ต้องมีบุคคลภายนอก และตัวแทนจากส.ส.ของแต่ละพรรคเข้าร่วมตามสัดส่วน แต่คณะรัฐมนตรีไม่ควรมีส่วนเสนอชื่อคนที่จะเข้ามาในกมธ.ชุดนี้ เพราะมีความแตกต่างจาก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2563 เพราะรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ แต่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาฯ ดังนั้นส.ส.ควรเป็นผู้เสนอชื่อแทน ซึ่งพรรคอนค. จะได้ประมาณ 6 ที่นั่ง ประกอบด้วย ส.ส.และบุคคลภายนอก เช่น อดีตนักการเมือง นักวิชาการ และนักรณรงค์ที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ และยืนยันว่าบุคคลทั้งหมดจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนที่ร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร เบื้องต้นยังไม่ได้ตกลงกันอย่างชัดเจน

Advertisement

“ต้องยอมรับว่าที่ผมมาเป็นส.ส.ก็เพื่อเข้ามาผลักดันเรื่องกฎหมาย และการแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่าจะเสนอตัวเองเข้าไปนั่งในกมธ.ชุดนี้ด้วย” นายปิยบุตร กล่าว

และว่า ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนค. ก็กำลังคิดจะที่จะเข้าร่วมด้วย แต่ยังติดภารกิจที่ปรึกษา กมธ.งบประมาณฯ อยู่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยากให้ตำแหน่งประธานกธม.แก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากส.ส.ของพรรค พปชร. นั้น นายปิยบุตร กล่าวว่า ในท้ายที่สุดการตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานฯ ก็จะอยู่ที่กมธ.ทั้งหมดลงมติเลือก ตามที่ผ่านมาก็มักจะตกลงกันได้ก่อน แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็คงต้องลงมติในที่ประชุม ไม่มีกติกาบอกว่าตำแหน่งประธานฯ จะต้องมาจากพรรคการเมืองซีกรัฐบาล เพราะพรรครัฐบาลมีหลายพรรค และพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งในสภาฯ คือพรรคเพื่อไทย (พท.)

ต่อข้อถามว่า ช่วงที่ผ่านมามีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้มานั่งตำแหน่งประธานกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตร แสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการตั้งกมธ.ให้ได้ก่อน ถ้าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนไปโฟกัสว่าใครเป็นประธานฯ สังคมก็อาจจะคลางแคลงใจว่าไม่มุ่งเน้นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไปถกเถียงตีกันว่าใครจะเป็นประธานฯ ตนว่าเราควรทำให้กมธ.ชุดนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อผลักดันในนามของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากเราหาฉันทามติร่วมกันได้ก็จะเป็นผลงานร่วมกัน ที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ในประเด็นใดบ้าง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็จะถูกแรงกดดันว่าต้องเอาด้วย

ส่วนจะชวนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนค. มาร่วมด้วยหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องนี้เรากำลังปรึกษากัน เพราะนายธนาธรยังติดภารกิจที่ปรึกษา กมธ.งบประมาณฯ อยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image