‘ไสลเกษ’ปาฐกถาพิเศษ คุกมีไว้ขังคนจน…จริงหรือ

หมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 โดยนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุกมีไว้ขังคนจน… จริงหรือ?” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความหวังสภาผู้แทนฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” ที่ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน

 

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์
ประธานศาลฎีกา

ส่วนตัวมีโอกาสสัมผัสกับความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน วันที่เข้ารับตำแหน่งยังไม่มีนโยบายใดๆ ก่อนจะออกนโยบายจึงได้หารือกับทีมงานว่าประธานศาลฎีกาควรจะรับฟังความเห็นของคนอื่นๆ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จึงเซ็นหนังสือถึงศาลถึงกระบวนการยุติธรรมและประชาชนทั่วประเทศในหลายช่องทาง ให้ส่งความเห็นว่าอยากให้ศาลเป็นอย่างไร ได้ผลเกินคาด 60 เปอร์เซ็นต์ของความคิดเห็นที่ส่งมาเป็นของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม อีก 40 เปอร์เซ็นต์คือประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกของคนทั่วไปมองว่าศาลยุติธรรมยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจกำหนดนโยบาย แม้ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 ปี แต่ก็คิดว่าเลือกลำดับความสำคัญของปัญหาได้ก่อน และทำได้จริง

Advertisement

ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ จะแถลงนโยบายต่อสื่อและสาธารณชนว่า สิ่งแรกที่จะทำคือ 1.การคุ้มครองสิทธิของประชาชน หลายคนบอกว่าศาลปล่อยคนตัวน้อย ไม่ค่อยให้โอกาส เลยไปนึกถึงคำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” จริงหรือไม่ เมื่อไตร่ตรองจากรายงานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศบอกว่า คนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน แต่น้อยมากที่มีการให้คำนิยามว่าอะไรคือคนจนหรือคนรวย ทำความผิดแตกต่างกันหรือไม่ เราจึงสันนิษฐานจากสามัญสำนึกว่า ถ้าคนที่มีความรู้ มีการศึกษาส่วนใหญ่จะมีฐานะ เมื่อมีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจอะไรมากขึ้น การทำผิดจะน้อยลง จริงหรือไม่ ท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ผมรวยแล้ว ผมไม่โกง” น่าคิดว่าการศึกษาทำให้คนไม่ทำความผิดจริงหรือไม่ คนจนคือคนที่ด้อยโอกาสและกระทำความผิดง่ายๆ ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น รับของโจร กรรโชกทรัพย์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความต้องการทางเศรษฐกิจ

แล้วคนรวยไม่ลักทรัพย์ใช่หรือไม่ ไม่ฉ้อโกงใช่หรือไม่ คนรวยเป็นคนที่มีความรู้ คนรวย รวยจากตลาดหลักทรัพย์ ปั่นหุ้น ฟอกเงิน ฯลฯ สรุปว่าคนรวยมีวิธีการกระทำความผิดโดยใช้องค์ความรู้เนียนกว่าซับซ้อนกว่าคนจนหนีภาษีหรือไม่ มีคนจนไปขอรับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยที่ไม่ได้ส่งออกหรือนำเข้าหรือไม่ คำตอบคือไม่มี

ดังนั้น กระบวนการทำความผิดส่วนหนึ่งเกิดจากโอกาสและการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง จึงเกิดคำถามว่า ในคุกมีคนจน-คนรวยมากน้อยแค่ไหน เมื่อดูตัวเลขจากทีมงาน ประโยคที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือไม่” ก็จะบอกได้ว่า จริง เพราะคนที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่ด้อยโอกาส สถิติปี 2561 มีคนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษประมาณ 6.8 แสนคน ในจำนวนนี้ศาลจำคุกเพียง 90,000 โดยประมาณ คิดเป็น 16.5 เปอร์เซ็นต์ 42 เปอร์เซ็นต์ศาลใช้วิธีรอการกำหนดโทษ ที่เหลืออีก 58 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีปรับ กักขัง คุมความประพฤติ

Advertisement

แล้วคุกมีไว้ขังคนมากขนาดนี้จริงหรือไม่ คนที่ติดคุกมีเพียง 16.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถามว่าในกลุ่มนี้มีคนจนและคนรวยกี่เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้ไม่เคยมีรายงาน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ 1.ไม่ได้นิยามว่าคนจน-รวยต่างตรงไหน 2.เมื่อแยกไม่ออกระหว่างคนจน-รวย จะสรุปได้หรือไม่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน แต่แน่นอนที่สุด คนรวยจับยาก เวลาให้ประกันตัวคนที่หนีส่วนใหญ่คือคนรวย คนที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่เป็นคนจน ดังนั้น ผลของคำพิพากษาในการจำคุกก็ต้องเป็นคนจนมากกว่า เพราะมีการฟ้องคนจนมากกว่า

สถิติต่อมา วันที่ 1 ต.ค.2562 มีคนถูกขัง 3.6 แสนคน ขังระหว่างสอบสวน 2 หมื่นกว่าคน หรือ 5.5 เปอร์เซ็นต์, ถูกขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 1 หมื่นกว่าคน หรือ 2.8 เปอร์เซ็นต์, ถูกขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา 8 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 84 เปอร์เซ็นต์คือต้องโทษเด็ดขาดว่าต้องจำคุก เมื่อดูตัวเลขนี้จะเห็นว่าผู้ต้องโทษเด็ดขาดไม่ว่าจนหรือรวยต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน การที่จะบอกว่ามีช่องว่างว่าจำคุกเฉพาะคนจนก็น่าคิดว่าจริงหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธหรือยืนยัน แต่อยากให้ท่านทั้งหลายพูดกันด้วยข้อมูลที่เท็จจริง

ในฐานะประธานศาลฎีกา นโยบายที่จะทำภายในปีนี้คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนระหว่างการเป็นผู้ต้องหา หรือระหว่างพิจารณาคดี ให้เขามีโอกาสได้รับการประกันตัวมากที่สุด จากตัวเลขในปี 2560 มีคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณา 2.2 แสนราย ศาลปล่อยตัวชั่วคราว 2.1 แสนราย ทั้งหมด 93.6 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าผู้ที่ถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีมีเพียง 16-17 เปอร์เซ็นต์ ศาลกักขังคนไว้ระหว่างรอการพิจารณาคดีโดยไม่จำเป็นจริงหรือไม่ เพราะ 93.6 เปอร์เซ็นต์ได้รับการปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี นี่คือคำตอบในเชิงสถิติ

ส่วน 16.5 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องขัง จะทำอย่างไรในการเอาคนเหล่านี้ออกจากคุกระหว่างรอการพิจารณา ทางกรมราชทัณฑ์บอกว่า พื้นที่คุกปัจจุบันไม่พอขัง พื้นที่นี้เอาไปขังคนที่ไม่จำเป็น ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่บอกว่า “ตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดให้ถือว่าคนบริสุทธิ์อยู่” ฉะนั้นไม่ควรขังคนบริสุทธิ์ นี่คือการอ้างรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา ตรรกะนี้น่ารับฟังว่ายังบริสุทธิ์อยู่ แต่ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วว่ามีความผิดจะสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ได้หรือไม่ เมื่อคดีไปถึงศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยืนว่ามีความผิด จะยังสันนิษฐานเช่นเดิมหรือไม่ว่าคนนี้บริสุทธิ์ คำถามคือระหว่างสอบสวน 1.คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน กับ 2.จำเลยระหว่างในพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่นี้ใครบริสุทธิ์กว่ากัน

“คำพิพาษาของศาลผูกพันคู่ความอยู่ตลอดตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง” ฉะนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยังอยู่ว่าผิด แต่รัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดให้ถือว่าบริสุทธิ์ เมื่อไตร่ตรองกรณีเช่นนี้ สมควรจะปฏิบัติกับ 1.จำเลยในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่ามีความผิด 2.จำเลยในคดีทีศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิด 3.ในคดีที่ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา อยู่ระหว่างการสืบพยาน และ 4.คดีที่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการสอบสวน จะปฏิบัติกับคนเหล่านี้ในลักษณะเดียวกันหรือไม่ หลักคิดในทางรัฐธรรมนูญไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร จะเป็นบทบัญญัติของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่ถ้าบอกว่ายังบริสุทธิ์ผุดผ่องในทางสามัญสำนึกลองพิจารณาดูว่าใช่หรือไม่ เมื่อบุคคลเหล่านี้มาสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยอำนาจหน้าที่ของศาล เราคงไม่อาจปฏิบัติต่อจำเลยที่มีผลของคำพิพากษาแตกต่างกัน ได้เหมือนกัน

อีกประการคือ หลักการปล่อยตัวเหยื่อชั่วคราว คนที่ถามคำถามให้ผมต้องเก็บไปคิดอย่างหนัก คือท่านชวน หลีกภัย ที่ถามว่า ศาลคิดถึงผู้เสียหายและเหยื่อหรือไม่ เพราะการปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยออกไป บุคคลที่จะถูกคุกคามทั้งในความรู้สึกและความเป็นจริงหากเกิดขึ้น คือเหยื่อที่เป็นเด็ก ผู้หญิง คนชรา และคนด้อยโอกาส ดังนั้นโยบายการคุ้มครองสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเหยื่อและสังคมด้วย ศาลคงไม่ปล่อยตัวผู้ที่ฆ่า-ข่มขืนออกไปอย่างแน่นอนต่อให้รวยหรือจนแค่ไหน

ทุกวันนี้โซเชียลทำให้มีดราม่า เช่น เรื่องตากับยายเก็บเห็ดแล้วติดคุก แต่เบื้องลึกคดีนี้ ตากับยายครอบครองไม้ต้องห้าม และบุกรุกทำลายป่าเกินกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ตากับยายรับสารภาพในคดี อีกตัวอย่าง ครอบครัวมีความสัมพันธ์ระหองระแหง สามีเป็นอาจารย์อ้างไปตีกอล์ฟ กลับมาบ้านถูกภรรยาจุกจิกจู้จี้ วันหนึ่งทำร้ายกันด้วยอุปกรณ์ในถุงกอลฟ์จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล กว่าเรื่องนี้จะถึงศาล หนังสือพิมพ์ลงข่าว ฉบับแรก อาจารย์สามีตีภรรยาด้วยหัวไม้หนึ่ง สัปดาห์ที่ 2 เป็นหัวไม้สาม สัปดาห์ที่ 3 เหล็ก 7 แต่ทราบหรือไม่ว่าเมื่อคดีมาถึงศาล อาวุธที่ใช้ตีคือ “ร่ม” นี่คือข้อมูลที่เข้ามาสู่สำนวนแต่สังคมรับรู้ไปแล้วว่าสามีใจร้ายอย่างมาก สุดท้ายเรื่องจบที่สามีรับสารภาพ คู่นี้ภรรยาไม่ได้ทำงาน สามีหาเลี้ยงครอบครัว มีลูกเล็ก 2 คนกำลังจะเข้าโรงเรียน วันที่รับสารภาพ พ่อกับแม่ของภรรยามาให้การเป็นพยานที่ศาลว่าให้อภัยทุกอย่าง ขออย่าจำคุกผู้เป็นสามี เพราะลูก 2 คนจะไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ตากับยายแก่แล้วไม่มีคนเลี้ยงดู ทำให้ไปสู่การตัดสินรอการลงโทษ คือเบื้องหลังสื่อโซเชียลที่ดราม่าไปเรียบร้อยแล้ว

คนรู้ข้อเท็จจริงน้อยมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น คุกเอาไว้ขังคนจนหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ผมจะออกเป็นบทความให้รายละเอียดในเรื่องนี้

 

ชวน หลีกภัย
ประธานสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับที่ผ่านมา ผมมีชีวิตตั้งแต่เกิดถึงปัจจุบันอยู่ในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ เริ่มตั้งแต่
ฉบับที่ 3 ส่วนตัวมีความปรารถนาในการเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้นและเป็นนักการเมืองมาแล้ว 50 ปี เป็น ส.ส.16 สมัยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เคยมีที่มาจากการแต่งตั้งเลย อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดโครงสร้างบ้านเมือง สภาหรือองค์กรนิติบัญญัติถือเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาตัวเองน้อยที่สุดในอดีต ที่ผ่านมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับไหนออกมาหลังจากการยึดอำนาจ จะมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้ในลักษณะให้ผู้ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เป็นนายกฯต่อ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกฯ มีเสียง ส.ส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่มีเสียง ส.ว.สนับสนุนจำนวนมาก ในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เช่นเดียวกัน

บทเฉพาะกาลในอดีตจะมีระยะเวลาใช้ไม่นาน ใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นก็จะปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามกระบวนการตามปกติ และไม่ได้กำหนดตำแหน่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวยนัก เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 แต่สามารถใช้ได้มาถึงปี 2534 ถึงมีการยึดอำนาจ และก็มีรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นที่ใช้มาถึงปี 2540 จนมีรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไหร่ไม่มีทางรู้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาถือเป็นตัวกำหนดโครงสร้างประเทศและอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจ นั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้กำหนดเรื่องหลักนิติธรรมลงให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเรียนรู้มาจากบทเรียนที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการละเมิดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญมีความสำคัญในแง่โครงสร้างก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นที่มาของการยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ

อย่างเมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นายสุพจน์ ไขมุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เชิญผมไปพบเป็นการส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็น ผมได้บอกไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และไม่ยึดหลักนิติธรรม ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาควบคู่กัน พูดง่ายๆ คือ ปราชญ์โบราณที่คิดว่าบ้านเมืองจะปกครองได้ดีต้องปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ในชีวิตจริงมันหายาก เพราะการปกครองที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์จริงๆ จะต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ออกนอกหลักนิติธรรม จะไม่เกิดเหตุการณ์ปี 2549 และ 2557

ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมาเป็นประธานสภา แต่ในเมื่อเป็นช่วงสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่มาก โดยปกติแล้วเขาไม่ให้ตำแหน่งประธานสภา เพราะประธานจะอยู่ที่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เที่ยวนี้สำหรับนายชวนเขายกเว้นให้ และไม่คิดโควต้า ถ้าคิดโควต้าแล้วไปแย่งเพื่อนสมาชิกในพรรค ส่วนตัวก็คงจะไม่มาเป็น เพราะเป็นการเอาเปรียบเพื่อน และในที่สุดคนที่จะเป็นประธานจริงๆ เขายอมรับว่า ถ้าเป็นผมเขายอมรับ ฉะนั้น เลยตัดสินใจบอกว่าให้ทำงานร่วมกัน ทำให้สภาให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย

ผมได้บอกสมาชิกสภาเสมอว่าต้องวางมาตรฐานของสภาให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ ยังบอกกับนายกรัฐมนตรีเสมอว่า ต้องมาสภาและมาตอบกระทู้ เว้นแต่ท่านจะมีเหตุผล หรือถ้าคณะกรรมาธิการเรียกให้มาชี้แจง ก็ขอให้ท่านให้ความร่วมมือ และขอร้องไปยังคณะกรรมาธิการให้เข้าใจว่า คนมาชี้แจงไม่ได้เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ต้องหา ต้องมีความพอดีถึงจะทำให้อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีพอสมควร

รัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกาศว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชั่น แต่จริงๆมันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หาก
ผู้ปฏิบัติละเมิดและไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นมันก็จะไม่เกิด รัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากต่างประเทศมาก แต่เจ้าของเมื่อมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ทูตเยอรมันมาพบและบอกว่า เคยมีประสบการณ์ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย มีเสียงไม่กี่เสียงก็ได้เป็น ส.ส.แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนของเราที่มีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค และฝ่ายค้าน 7 พรรค ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่ได้เห็นมากนัก

ผมเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สิ่งแรกที่ควรจะทำ คือ อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมดพังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรจะมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม วุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image