‘สมคิด’ชี้ปี63ทั้ง‘เสี่ยง’ทั้ง‘โอกาส’ ปลุกจับมือบูมไทยศูนย์กลางศก.

หมายเหตุหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนา “THAILAND 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

เราสามารถมองโลกได้สองแบบ มองในมุมบวกหรือมองในมุมลบ ชีวิตเราผ่านวิกฤตการณ์มาเยอะ ถ้ามองทุกอย่างเลวร้ายไปหมดจะไม่เห็นอะไร แต่ในวิกฤตมีโอกาส ต้องคอยดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีโอกาสอะไร เราจะรู้ว่าต่อไปควรทำอะไร ส่วนใหญ่ที่จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงรุนแรงคือวิกฤตการเงิน อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องเข้ามาอยู่วงการการเมืองมาถึงทุกวันนี้ก็ 20 ปีกว่า เพราะสมัยนั้นวิกฤตรุนแรงไม่มีใครอยากเสนอตัวเข้ามาแก้ไขจึงได้เรียกนายสมคิดเข้ามา ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ก็คอยดู ถ้าเจอสิ่งที่เป็นลบต้องทำให้ตัวเองเข้มแข็งไว้ ขณะเดียวกันต้องมองหาโอกาสหาช่องทาง ยกตัวอย่าง การประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ที่ผ่านมาผ่านพ้นไปด้วยดี ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพทำหน้าที่ได้ด้วยดี ต้องขอบคุณความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผู้นำจากทุกประเทศชื่นชมไทย แต่ไม่ใช่แค่รับคำชมเท่านั้น สิ่งที่เห็นได้ชัด คืออาเซียนกำลังทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในอดีตอาเซียนอาจจะเป็นเพียงกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความผาสุก ความสงบร่วมกัน แต่ในขณะนี้อาเซียนเป็นมากกว่านั้น อาเซียนกำลังเป็นหัวใจของเอเชีย มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน เป็นซัพพลายเชนหลักของอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) สูงที่สุดของโลก อาเซียนจึงมีความสำคัญด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ที่เห็นชัดมากขึ้น ทุกๆ ภูมิภาคพยายามที่จะเชื่อมต่อกับอาเซียน กลุ่มแรก ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) อาเซียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เข้ามาเกาะเกี่ยวเชื่อมโยง และได้มีความพยายามที่จะยกระดับเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ของโลก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน จีดีพีรวม 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการค้าทั่วโลกกว่า 40% อยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะอยู่ในภูมิภาคนี้ หมายถึงโอกาสที่เกิดขึ้น โดยอาร์เซ็ปมีการผลักดันกันมานาน ปัจจุบัน 15 ประเทศเห็นชอบแล้ว โดยจะมีการลงนามที่เวียดนามในปี 2563 ขณะที่อินเดียยังไม่ยินยอม เพราะการค้าเสรีคือการเปิดตลาด การเมืองในอินเดียยังไม่พร้อมที่จะรับกับสิ่งเหล่านี้ แต่โดยรวมถือว่าได้ยอมรับในหลักการใหญ่แล้ว แต่ยังเหลือย่อยๆ ที่เหลืออยู่ จนกว่าจะถึงเวลาลงนาม หากอินเดียพร้อมก็จะเป็น 16 ประเทศ หากไม่พร้อมก็เป็น 15 ประเทศ แต่อาเซียนยังเป็นศูนย์กลาง คือ อาเซียนบวก 5

Advertisement

กลุ่มที่สอง คือ นโยบายหนึ่งเส้นทาง หนึ่งแถบ หรือเบลต์แอนด์โรดของจีน ที่ต้องการเชื่อมต่อจีนกับทั่วโลกเพื่อสร้างเครือข่ายสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ โดยส่วนที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือส่วนที่เชื่อมโยงสู่ทางด้านใต้ นั่นคือ อาเซียน นอกจากเบลต์แอนด์โรด จีนยังได้พัฒนาคู่ขนาน คือ เกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย (จีบีเอ) ที่ประกอบด้วย กวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางการผลิต ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและโลจิสติกส์ และมาเก๊าเป็นศูนย์กลางบริการ เพื่อช่วยผลักดันการเชื่อมโยงมายังอาเซียน ขณะที่ไทยการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านมามีนักลงทุนจีนกว่า 500 คน เข้ามาดูงานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งสิ่งสำคัญ คืออีอีซีเกิดได้ทันเวลาและต้องเดินหน้าอย่างจริงจังไม่ทำให้ล่ม เพราะหากอีอีซีล่ม ไทยจะไม่มีอะไรที่เหนือกว่าเวียดนามอีกเลย

ฉะนั้น โครงการใหญ่ต้องเดินหน้าเพื่อยืนยันว่าเราทำได้ ไม่ได้ดีแต่พูด ทั้งนี้ไทยยังเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีระดับการพัฒนาที่สูงที่สุดสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้และทั่วโลกได้ ซึ่งล่าสุดจีนและญี่ปุ่นมีนโยบายจับมือกันออกมาลงทุนในประเทศที่ 3 โดยเลือกอีอีซี ฮ่องกงได้เข้ามาตั้งศูนย์กลางในการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง

โดยช่วงปลายปีนี้ นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงหรือตัวแทนจะเดินทางมาไทยเพื่อผลักดันเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ฮ่องกง รองรับจีนและฮ่องกงจะมีการย้ายฐานการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีความยืดเยื้อ และอยากให้เชื่อมโยงตลาดทุนไทยและอาเซียน เป็นต้น และล่าสุดได้เดินทางไปเมืองเซินเจิ้น ที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนอีอีซี เชื่อว่าจะเกิดความเชื่อมโยงกับมาเก๊าต่อไป ถือเป็นโอกาสมหาศาลเช่นกัน

Advertisement

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งกลุ่มที่มาแรง คือ ความร่วมมือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่อินเดียผลักดัน ถือว่าเป็นภูมิภาคหลักเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีการผลักดันการค้าเสรี เพื่อถ่วงดุลนโยบายเบลต์แอนด์โรด และสร้างความสมดุลในภูมิภาค รวมทั้งยังมีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ที่ผลักดันโดยญี่ปุ่น ซึ่งสหรัฐก็ให้ความสนับสนุนแม้ว่าจะมีการถอนตัวออกไปหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

ทั้งหมดนี้อาเซียนอยู่ตรงกลางของทุกภูมิภาค ดังนั้น ไทยต้องตื่นตัว (Highly Active) ทำให้ประเทศเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่เล็กไม่สำคัญแต่ขึ้นกับว่ามีบทบาทมากแค่ไหน ถ้ามีบทบาทมากทุกอย่างจะมาที่เราแน่นอน อย่างที่สิงคโปร์เคยทำได้ ซึ่งไทยมีทั้งพื้นที่ มีทั้งซีแอลเอ็มวี สามารถที่จะเป็นตัวกลางได้และมีบทบาทสูงในเวทีอาเซียน

การที่ไทยจะเป็นตัวกลาง เป็นจุดเชื่อมโยง และมีบทบาทในอาเซียนได้ต้องมีของดี เรื่องแรก คือ การเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่ดีพอ หากไม่ดีพอก็เป็นไม่ได้เพราะศักยภาพไม่ถึง โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีดีพีไทยขยายตัวต่อเนื่องและขยายตัวสูงสุดถึง 4.8% ในครึ่งปีแรก 2561 และปิดปีที่ 4.1% แต่ในปีนี้โมเมนตัมเศรษฐกิจถดถอย ด้วยหลายประการ กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ผ่านมาครึ่งปีตั้งแต่ประกาศเลือกตั้ง ต้องมีรัฐบาลรักษาการที่รัฐมนตรีเหลือไม่กี่คน การเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ งบประมาณปี 2563 ยังไม่ผ่านการเห็นชอบสภากว่าจะใช้ได้เดือนมกราคม ปี 2563 สภาพแบบนี้จึงต้องประคองเอาไว้และเร่งจัดตั้งรัฐบาลใน 3 เดือนเพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี สงครามการค้าสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศใหญ่ถดถอยลงโดยเฉพาะประเทศที่เน้นการส่งออกกระทบมาก เวียดนามกระทบไม่มาก เพราะมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซัมซุง และกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานสูง ส่วนไทยถูกกระทบทั้งแง่สินค้าและแง่ตลาดเพราะสินค้าเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดใหญ่ คือ จีนและสหรัฐ

ข้างต้นเป็นเหตุผลให้ทำให้เศรษฐกิจไทย ปี 2562 ขยายตัว 2.8% ในไตรมาสแรก และ 2.3% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 3 เชื่อว่าจะเศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้น การลงทุนเริ่มกลับมาหลังรัฐบาลตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยผมไม่ใช่รองนายรัฐมนตรีที่คุมด้านเศรษฐกิจ ขอพูดให้ชัด ผมคุมกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอุดมศึกษา เป็นต้น

ฉะนั้นการที่จะบอกว่าจีดีพีปี 2563 เท่าไรไม่สามารถพูดได้ แต่รัฐบาลทำเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีการตั้ง ครม.เศรษฐกิจเพื่อประสานงาน โครงการลงทุนต่างๆ กำลังเดินหน้า โดยอีอีซี อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ลงนามสัญญาแล้วก็ต้องเริ่มลงทุน ส่วนโครงการที่เหลือกำลังจะผลักดันออกมา ส่วนผังเมืองอีอีซีอยู่ระหว่างรอเข้า ครม. ด้านการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

แม้ว่าเราเจอพายุ แต่ยังมีโอกาสถ้ามีโมเมนตัมที่ดีพอ และเรามีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคองสภาวะนี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ เชื่อว่าไตรมาส 4 งบประมาณที่คั่งค้างเบิกจ่ายออกมา น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ที่ประมาณว่าจีดีพีจะขยายตัว 2.9% สำหรับเศรษฐกิจปีหน้าขอให้ดูโมเมนตัมของไตรมาสที่ 3-4 โดยล่าสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกมาแล้ว

โดยปีหน้าเป็นปีสำคัญ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย ครม.เศรษฐกิจจะผลักดันสิ่งคั่งค้างออกมา ที่สำคัญปีหน้าถ้าเป็นปีที่การลงทุนเกิดขึ้น เราต้องใช้โอกาสนี้ เพราะแม้เงินบาทแข็งเอื้อต่อการลงทุน ซึ่งโลกปัจจุบันเงินบาทแข็ง อยากให้เงินบาทอ่อนไม่ได้ง่ายอย่างนั้น โดยธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) มีการดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว และเขามีความอิสระในการดำเนินงาน การพูดจาขอให้เขาช่วยดูแลรัฐบาลก็ทำเต็มที่แล้ว รวมทั้งจะมีการผลักดันการประมูล 5จี แน่นอน อย่างช้าเดือนมีนาคม 2563 อย่างเร็วเดือนกุมภาพันธ์ 2563

โดยครั้งนี้จะไม่เน้นเม็ดเงินประมูล เน้นการสร้างประโยชน์ชาติ เพราะต่อไปต้องเน้นดิจิทัล คาดประมูลจบและนำมาใช้ภายในปีหน้า นี่คือโมเมนตัมที่จะเกิดขึ้น และเราต้องทำจริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นขอนักลงทุนต่างชาติให้เกิดขึ้น และผลิตบุคลากรที่มีทักษะมารองรับงาน ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ต้องช่วยธุรกิจต่างๆ ในการทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล ส่วนภาครัฐต้องเน้นเรื่องประชารัฐเพื่อสร้างฐานรากเข้มแข็ง กระจายรายได้ ลดความยากจน เป็นพลังร่วมของประเทศ

ถ้าเรามองไปข้างหน้าจะรู้ว่าเป็นเรื่องความท้าทาย ไม่ใช่มองว่าเป็นเผาหลอกหรือเผาจริง พูดอย่างนี้ซ้ำซากมา 15 ปี ทำไมไม่พูดว่าปีหน้ามีปัญหาอะไรจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร ปีหน้าโอกาสมาแล้วจะช่วยกันอย่างไร จะทำงานให้ประเทศไทยแข็งแรงอย่างไรเพื่อให้ทุกคนมาไทย แทนที่จะไปเวียดนาม นี่คือสิ่งที่เราต้องเผชิญ ทั้งนี้การเมืองเราต้องดี เพราะถ้าการเมืองไม่ดีทุกอย่างไม่เดิน

ดังนั้น ปี 2020 ไม่ใช่ว่าจะเผาหลอกหรือเผาจริง แต่เป็นปีที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน สื่อมวลชนก็เช่นเดียวกัน ต้องรอบรู้กว่านี้ ต้องเก็บข้อมูล ร่วมมือกันออกสื่อที่มีประโยชน์ ความรู้ที่มีประโยชน์ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะนี้ภัตตาคารในฮ่องกงแบ่งแยกสี เราเอ็กซ์พอร์ตสิ่งที่ไม่ควรเอ็กซ์พอร์ต เราต้องไม่ให้สถานการณ์กลับไปสู่อดีต ทุกอย่างเป็นเรื่องที่คุยกันได้ สามารถร่วมมือกันได้ ช่วงเวลานี้สำคัญมาก ดิจิทัล อีอีซี การประคองการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีบทบาทเด่นภายในภูมิภาค ไม่ใช่รัฐบาลแค่ 34 คนเท่านั้นที่จะทำ แต่คนทั้งประเทศที่จะทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image