09.00 : INDEX จากกรณี “ชวน” ประธานสภา ถึง “อภิสิทธิ์” กุมกรรมาธิการ

ประเด็นของตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็เช่นเดียวกับประเด็นตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ขึ้นมาคำถามก็คือ พรรคพลังประชารัฐจะเอาใครมาสู้

จำเป็นอยู่เองที่ นายสุชาติ ตันเจริญ จะต้องถอย

ต่อตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติส่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามา

Advertisement

ถามว่าพรรคพลังประชารัฐจะดัน นายวิรัช รัตนเศรษฐ จะดัน นายวิเชียร ชวลิต เข้าไปต่อกรหรือ

ในที่สุดก็ต้องทำแบบ นายสุชาติ ตันเจริญ เคยทำมาแล้ว

หากเริ่มต้นจากจำนวน 49 กรรมาธิการซึ่งประกอบด้วย ครม. 12 พรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรคฝ่ายค้าน 19 ฝ่ายของรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลก็กุมเอาไว้แล้วถึง 30

Advertisement

19 เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านแทบไม่มีความหมายอะไรเลย จึงขึ้นอยู่กับว่า 30 เสียงของฝ่ายรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร

การยืนกรานของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาพรรคพลังประชารัฐจะทำอย่างไร เพราะคะแนนของพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ก็มีความหมาย

ปมเงื่อนมิได้อยู่ที่ความเป็นพรรคพลังประชารัฐ หากแต่อยู่ที่ว่าจะเอาใครมาต่อกรกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มากกว่า

ต้องยอมรับว่าจังหวะก้าวในกระบวนการรัฐสภาพรรคประชาธิปัตย์มากด้วยคม มากด้วยเขี้ยว

เขี้ยวระดับ นายชวน หลีกภัย ก็แตกลายงาอยู่แล้ว

เมื่อประสานเข้ากับเขี้ยวระดับ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และระดับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เข้าไปอีก

อย่าว่าแต่นักการเมือง”น้ำดี”อย่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะกล้าต่อกร แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่อย่าง นาย ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็ต้องถอย

อย่างนี้ประธานยุทธศาสตร์เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะหาทางออกอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image