วิพากษ์ไฟใต้ปะทุ ต่อ‘เคอร์ฟิว’9อำเภอ

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการและนักการเมืองที่คลุกคลีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มองสถานการณ์กรณีคนร้ายยิงถล่มป้อมจุดตรวจชุดคุ้มครอง จ.ยะลา ทำให้ชาวบ้านชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเสียชีวิต 15 ราย และล่าสุดราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีอำนาจประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

การออกประกาศข้อกำหนดแห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งสาระสำคัญให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการระงับ ปราบปราม ยับยั้งการกระทำต่างๆ รวมถึงการห้ามบุคคลออกนอกพื้นที่ อาคารสถานที่ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่า คำสั่งดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือที่ให้เจ้าหน้าที่ ใช้ปฏิบัติการในพื้นที่ แต่ยังไม่ลงรายละเอียด ซึ่งในการปฏิบัติงานจะต้องมีประกาศออกมาอีกครั้ง โดยในประกาศดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) หรือแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ การใช้อำนาจดังกล่าวเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องตระหนัก ว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในแง่ของสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่เช่นนั้นในภาพรวมอาจกลายเป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศนี้ กำลังเกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงหรือไม่ และจะมีผลต่อความเชื่อมั่น ทั้งด้านสังคม ต่างประเทศ หรือการท่องเที่ยว รัฐจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งและจะต้องสื่อสารล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ของความจำเป็น

Advertisement

ส่วนกรณีที่เกิดเหตุความไม่สงบแนวทางที่จะระงับยับยั้งความรุนแรงในพื้นที่ จะต้องใช้วิธีการ เชิงสันติวิธี และกลไกที่ดีที่สุดคือการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้ ความไม่สงบในพื้นที่เบาบางลง

วันมูหะมัดนอร์ มะทา
หัวหน้าพรรคประชาชาติ

Advertisement

ในภาพรวมการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ถูกทาง ต้องมาคุยกันจะแก้ไขปัญหาทางภาคใต้ให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดสันติสุข ซึ่งต้องใช้เวลารวมถึงต้องใช้อีกหลายวิธี ถ้ายังมีการก่อเหตุไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลยังไม่บรรลุเป้าถึงการแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จ คงไม่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องไปทบทวนการทำงานของตนเองว่ามีช่องว่างตรงไหนจุดใดที่ต้องแก้ไข โดยสิ่งที่มองเห็นมาหลายปีคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ประชา ภาคประชาสังคม ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมหาวิธีการเสนอแนะการแก้ไขปัญหานี้ และให้เขามีส่วนร่วมด้วย เช่น กองกำลังที่จะดูแลตนเองทั้งในตำบล หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัดของเขาเอง โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม วันนี้จะเข้าไป ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา และวันที่ 10 พฤศจิกายน จะไปเยียมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาล ได้สอบถามปัญหาให้ลึกๆ ว่าคนร้ายเข้ามาในหมู่บ้านด้วยวิธีใด ตอนไหน อย่างไร และชาวบ้านมีความเห็นเรื่องการก่อเหตุอย่างไร เพื่อนำปัญหาหรือข้อคิดเห็นไปเสนอต่อพรรคและสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้จะได้เสนอแนะ

อีกทั้งช่วงนี้ กมธ.พิจารณาเรื่องงบประมาณปี 63 จะได้ถือโอกาสซักถามหน่วยงานที่รับผิดชอบว่างบประมาณเป็นอย่างไร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีต ผอ.ศอ.บต.

วันนี้อยากให้ฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเร่งทำการสืบสวนสอบสวน พอได้ตัวคนร้ายมาก็จะทำให้ประชาชนอุ่นใจ อย่างไรก็ตามปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะรอบหลัง 15 ปี มีบางช่วงดูดีขึ้น บางช่วงดูเหตุการณ์อย่างเดียวไม่พอ เพราะเป็นความสงบแบบกดทับ ส่วนตัวยังคิดว่าปัญหาไฟใต้กับประชาธิปไตยน่าจะไปด้วยกัน โดยจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นผู้กำหนดหรือรับรู้ว่าตัวเขาจะปลอดภัยอย่างไร ถ้าให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่ร่วมคิด แต่อาจต้องมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ เช่น งบประมาณของ กอ.รมน.ตั้งไว้กว่าหมื่นล้านบาทที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นงบบุคลากรแค่ 50 กว่าล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือจำนวนมากไม่ชัดเจน งบภาคใต้ 36,000 ล้าน แยกเป็นงบบูรณาการหมื่นกว่าล้าน

เวลามีเหตุ ประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบ ทำไมไม่มีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้บ้าง อย่างเหตุการณ์ในอิรัก ซึ่งทหารต่างประเทศเดินทางไป บางครั้งยังต้องไปจ้างคนท้องถิ่นมาดูแลรักษาความปลอดภัย ทำไมเราไม่ให้คนท้องถิ่นกำหนดว่าจะมีระบบที่ทำให้เขามีความสุขได้อย่างไร เชื่อว่าทุกคนในภาคใต้รู้ปัญหาดี วันนี้เราไปผูกทุกเรื่องไว้กับความมั่นคงหมด ทำให้บางครั้งปัญหาไม่ถูกแก้ กฎหมายแก้ไม่ได้ พอบอกจะไปจัดการภาคใต้ ถามว่าจัดการกับใคร กลับเป็นการยกระดับประชาชนเป็นศัตรูของรัฐไปหมดซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าฝ่ายปกครอง ตำรวจ และพลเรือน รู้ปัญหา

ประชาธิปไตยเป็นการให้สิทธิ ให้ประชาชนใช้สติปัญญาของตนอย่างมีเสรีภาพ เอกภาพของเสียงส่วนใหญ่คือความมั่นคงของประชาชน แต่ตอนนี้ในภาคใต้เป็นความมั่นคงของรัฐ ของทหาร หรือของฝ่ายข้าราชการ พอมี กอ.รมน. มีรัฐซ้อนรัฐขึ้นมา คือใช้องค์กรพิเศษ แต่จริงๆ แล้วความมั่นคงของประชาชนที่ประชาชนเห็นร่วมกันโดยการใช้สติปัญญาที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น จะมากำหนดความปลอดภัยของเขาเอง เพียงแต่ว่าต้องให้พุทธและมุสลิมเป็นโอกาสอยู่ร่วมกันให้ได้

โซรยา จามจุรี
นักวิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นการก่อเหตุรุนแรงและมีการสูญเสียมากที่สุดในรอบหลายปี และเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ซึ่งเป็นชุมชนสันติสุขที่ชาวบ้านอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุขมานาน ความสูญเสียครั้งนี้ทุกฝ่ายเห็นว่าไม่มีใครยอมรับได้ โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เสียชีวิตถึง 3 ราย คนในพื้นที่รู้สึกหวั่นวิตกอย่างมาก คงต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานถึงจะฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้รัฐมีการเยียวยาในระดับชุมชน เนื่องจากมีผู้รับผลกระทบเป็นหมู่มากในชุมชน ทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งคนในชุมชนที่ต่างรู้สึกหวาดกลัวและโศกเศร้ากับการสูญเสียญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน รวมทั้งการเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างกันของชาวพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันในชุมชน หรือบ้านใกล้เรือนเคียง

“การเยียวยารายบุคคลอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาทางด้านจิตใจ หรือการเยียวยาด้านทรัพย์สิน ที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ”

เอกรินทร์ ต่วนศิริ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายๆ ปี จะเห็นว่าหลายๆ ฝ่ายมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน และแสดงท่าทีต่อต้านความรุนแรง โดยเฉพาะครั้งนี้มีผู้หญิงและเยาวชนเสียชีวิตด้วย ซึ่งหลายๆ กลุ่ม หลายๆ องค์กร หลายๆ ฝ่าย ได้ออกแถลงการณ์ไม่ต้องการความรุนแรงทั้งหมด ไม่ว่าจะครั้งนี้และครั้งต่อไป ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ผมคิดว่าทุกคนต้องสร้างข้อเรียกร้องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรง ให้มีกฎเกณฑ์ของการใช้ความรุนแรง และเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องคุยกันให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ความรุนแรงครั้งใหม่เกิดขึ้นอีก และไปทำร้ายหรือทำลายผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้

ทั้งนี้ ทางฝ่ายรัฐควรเร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการการพูดคุยและการยุติความรุนแรง รวมทั้งคนในพื้นที่เองก็ต้องลดปฏิกิริยาลง เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกหรือเร่งเร้าให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนในพื้นที่สำคัญที่สุด รวมทั้งคนจาก
ส่วนกลางหรือทั้งประเทศ ให้หันมาเห็นปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ส่วนความหวาดระแวงระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิมที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความสัมพันธ์เกิดความเปราะบางมากยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกิจกรรมร่วม การพูดคุยเข้าหากัน อย่างเช่นวันนี้

ท่านจุฬาราชมนตรีได้เข้ามาเยี่ยมเยียนญาติของผู้ได้รับบาดเจ็บ สร้างขวัญกำลังใจ สร้างความเข้าใจกับ
พี่น้องชาวไทยพุทธโดยตรง จำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ใช่เหตุผลเลือกฝ่ายต่อการใช้ความรุนแรง โดยการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image