โฟกัสเกมร้อน ‘มาร์ค-สุชาติ’ ชิง ปธ.แก้รัฐธรรมนูญ

เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีญัตติสำคัญที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้ผลักดันให้ที่ประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 เลื่อนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ 215 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน รวมกันลงชื่อเสนอ ให้เลื่อนลำดับญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาไว้ในลำดับต้นๆ ของระเบียบวาระการประชุมเพื่อรอการพิจารณาเป็นวาระแรกๆ ในสมัยประชุมสภา ครั้งที่ 2

เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน จุดพลุชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เหมาะสมที่จะนั่งเป็นประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยสัดส่วนของคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กำหนดไว้จะมีจำนวน 49 คน แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 9 คน พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 4 คน และพรรคเล็ก 1 คน ส่วนพรรคฝ่ายค้าน 19 คน

เมื่อสแกนดูตามสัดส่วน คณะ กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 49 คน หากฝั่งรัฐบาลจับมือกันแน่นจะมีเสียงรวมกันอยู่ที่ 30 เสียง ขณะที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านถึงจะไม่แตกแถวก็จะมีเพียง 19 เสียง
เป้าหมายของฝ่ายค้านเดินเกมหนุน อภิสิทธิ์ จากฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นมาชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะได้ กมธ.จากพรรค ปชป. 4 เสียงมาโหวตหนุนด้วยแล้วก็จะมีเสียงรวม 23 เสียง ยังเป็นรองเสียง กมธ.จากฝั่ง ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล หากไม่แตกแถวจะมีเสียงรวมอยู่ที่ 26 เสียง

Advertisement

โดยพรรค พปชร.ไม่ยอมหลงเหลี่ยม เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของฝ่ายค้านซ้ำสอง ที่จะผลักดันอภิสิทธิ์ ขึ้นมาคุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนเมื่อครั้งต้องยอมถอยให้ชวน หลีกภัย ขึ้นมานั่งแท่นเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ในเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร คุมเกมงานในสภา ที่แกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรค พปชร.ยากที่จะสั่งการให้นายหัวชวน ทำตามสัญญาณ

 

 

Advertisement

 

จึงเปิดเกมขอส่งคนของพรรค พปชร.ขึ้นมาชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการส่ง สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค พปชร.ในฐานะรองประธานสภา คนที่ 1 เข้ามาคุมงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 นั้นแกนนำพรรค พปชร.อย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยอมรับเองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อเรา ด้วยกลไก และกติกาในรัฐธรรมนูญ จึงนำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลผสม 18 พรรค ได้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัมแบ๊กกลับมานั่งเก้าอี้ นายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ยิ่งหากให้คนอื่นที่ไม่ใช่สายตรงจากฝั่งของ ครม.และพรรค พปชร.มาคุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเลยเถิดไปถึงขั้นถูกรื้อทั้งฉบับตามเป้าหมายของฝ่ายค้าน กติกาที่สร้างความเป็นต่อทางการเมืองให้กับพรรค พปชร.ก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

แม้แกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรค พปชร.จะรู้เป็นอย่างดีว่า คณะ กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นเพียงคณะที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาศึกษากันไม่ว่าจะ 6 เดือน หรือ 1 ปี กว่าจะได้ข้อสรุป แล้วจึงเสนอไปยังรัฐบาลว่าจะเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราใด
แต่ยังต้องเจอกับด่านหฤโหด นั่นคือ การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องมีเสียงเห็นชอบของ ส.ว. 250 คน จำนวน 1 ใน 3 หรือ 83 เสียง สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชนว่าจะเห็นชอบให้มีการแก้ไขหรือไม่ อีกหนึ่งด่านด้วย

หนทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้นในสภาพความเป็นจริง จึงยังเป็นหนังเรื่องยาว หากภาคประชาชนตัวจริงไม่ออกมาสนับสนุนแบบมีกระแสฉันทามติร่วมกันชัดๆ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เกมการแย่งชิงตำแหน่งประธาน กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างพรรค ปชป.และพรรค พปชร.ในมุมมองของ ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มองว่า คงไม่ถึงขั้นเป็นสัญญาณของรอยร้าวในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล เพราะต้องรู้อย่างชัดเจนก่อนว่าการเมืองมันไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

การแย่งกันเสนอชื่อนี้ ก็เป็นเหมือน Power Play หรือเกมแห่งอำนาจระหว่างสองพรรคการเมือง

เพราะประชาธิปัตย์ก็ถือไพ่ใบสำคัญ รัฐบาลก็ขาดประชาธิปัตย์ไม่ได้ ประชาธิปัตย์ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ลำบาก เพราะสมาชิกก็จะเล่นงานเอา กลุ่มที่อยากเข้ารัฐบาลก็มีอยู่ เป็นการถือไพ่กันคนละใบ

แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเจรจากันทั้งนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าตราบใดยังใช้อามิสสินจ้าง หรือใช้วิธีการงูเห่าเข้ามา หากนายสุชาติได้เป็นประธาน พรรค อนค.ก็ไม่มีปัญหา

ส่วนเกมชิงการนำแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครจะเข้าวิน เพลี่ยงพล้ำ หรือวิน-วิน โฟกัสไปที่ในห้องและนอกห้องประชุมสภา อย่าละสายตา !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image