รายงานหน้า2 : ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ เปิดแผนลุยศึก‘ซักฟอก-แก้รธน.’

หมายเหตุนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงทิศทางการทำงานของฝ่ายค้านระหว่างเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 และการเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

⦁การเปิดประชุมสภาสมัยนี้ฝ่ายค้านเตรียมพร้อมอย่างไร
สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านต้องทำ คือ ดูในเรื่องของงบประมาณ และแนวทางของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ เพราะเรามีแนวทางและนโยบายของพรรค โดยให้ ส.ส.ของพรรคเข้าไปดูแล โดยเฉพาะ กมธ.งบประมาณที่ต้องมีการปรับลด เราก็เห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนจะมีโอกาสใช้งบเพื่อพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากฟากรัฐบาลไม่ได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดของงบตามที่เราได้นำเสนอ จะมาพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อ หวังว่ารัฐบาลจะแก้ไข เพราะฝ่ายค้านรู้ว่ารัฐบาลทำงบแบบมัดมือชก เนื่องจากทำงบออกมาแบบไม่มีรายละเอียด เนื่องจากเขาคงเคยชินกับ 5 ปีที่ผ่านมา โดยลืมๆ ไปว่าขณะนี้มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทำไม่ได้ เราต้องมีการสอบถาม แล้วเท่าที่สอบถามเขาก็ให้คำตอบอะไรไม่ได้เลย งบประมาณที่ออกมาหลายหมื่นล้าน แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ก็ต้องเอากลับไปแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นก็ให้ผ่านไปไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค เราคุยกันตลอดเวลาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดปัญหา โยงไปถึงพี่น้องประชาชน และเรื่องเศรษฐกิจที่เราประสบปัญหาอยู่ โดยหากเราไม่แก้ไขตรงนี้ เศรษฐกิเราก็จะแก้ไขไม่ได้ อีกเรื่องที่เรากำลังจะทำคือ การศึกษาพิจารณาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราได้มีการดำเนินการผลักดันให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาเพื่อที่จะได้สามารถพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ถ่องแท้ เรื่องนี้ผมว่า ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเองก็เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการโดยมาตรา 44 ที่ผ่านมาบั่นทอนความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิ หรือเรื่องเหมืองทองอัครา ดังนั้น 3 เดือนจากนี้ ในสภาจะมีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการเสนอกฎหมายต่างๆ เพื่อพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป

⦁ตัวบุคคลพรรคเพื่อไทยนั่งเป็น กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญวางใครไว้
อยากเห็นบุคลากรที่เป็นกลางมาช่วยกันทำงาน เพราะต้องยอมรับว่าเราต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราอาจจะต้องใช้คนในส่วนที่เป็นผู้แทนฯบ้าง แต่เราก็อยากได้คนที่มีประสบการณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นกลาง ถ้าจะใช้ ส.ส.ของเราไปเสียทั้งหมดก็จะดูว่าเป็นพวกของเรา ดังนั้น เราจึงอยากได้ผู้ที่มีความช่ำชอง และรู้เรื่องนี้ เพื่อที่จะได้ผสมผสานกัน เพราะไม่ได้คิดว่าความคิดของพรรค พท.อันนี้ถูกต้องเสมอไป จึงอยากให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ โดยเอาคนกลางเข้ามา ซึ่งการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องร่วมกันทำ

Advertisement

⦁แปลว่าสัดส่วนพรรคเพื่อไทยคนของพรรคส่วนหนึ่ง คนนอกส่วนหนึ่งใช่หรือไม่
แน่นอน อาจจะเป็นคนในพรรค พท.ก็ได้ แต่ต้องมีความช่ำชอง และมีความรู้ความสามารถเรื่องนี้ กมธ.ชุดนี้เป็น กมธ.วิสามัญ ที่สามารถให้คนนอกเข้ามาทำหน้าที่ได้ สำหรับตัวประธาน กมธ.นั้น ถ้าได้ประธานที่เป็นคนกลางจะดีมาก เพราะจะได้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวทางของเราไม่ได้หมายถึงการแก้ไขไปในแนวทางที่เราคิด เราอยากแก้ไขเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด ดังนั้น ต้องหาคนกลางที่เป็นคนที่มีความเที่ยงธรรม มีความรู้ มีความคิด ความอ่านมาทำงาน

⦁แสดงสงวนความเห็นว่าประธาน กมธ.ควรจะเป็นบุคคลจะเป็นคนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ผมไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองที่สุดขั้วเข้ามาทำ เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เขวได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประธาน กมธ.มีส่วนในการชี้นำได้ ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าทางรัฐบาลคงจะหาทางผลักดันในเรื่องนี้ โดยเอาคนที่เป็นนักการเมืองเข้ามา เพื่อที่จะให้การแก้ไขเป็นไปในแนวทางที่ปรารถนาหรือไม่ ต้องวางแผน และวางกรอบให้ดี ต้องเอาบุคคลที่มีความรู้ และมีสายตาไกลทั้งเรื่องกฎหมาย และเศรษฐกิจเข้ามา ต้องมองการณ์ไกล

⦁พรรคฝ่ายค้านจะทำอย่างไรในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง
บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในการแก้ไขต้องเป็นบุคคลที่เป็นกลางที่สุด เพื่อผลักดันให้รัฐธรรมนูญเป็นกลาง และมีประโยชน์ที่สุด ต่อไปเราต้องหาบุคคลที่มาจากพี่น้องประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ต้องทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ผมเองในฐานะผู้นำฝ่ายค้านก็คงจะต้องมีการพูดคุยกับทาง ส.ว.บ้าง เพื่อให้ท่านเข้าใจ ซึ่งเราอยากให้มีผู้มีความรู้ ความสามารถอย่างท่าน ส.ว.เข้ามากลั่นกรองกฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่การให้อำนาจในการเลือกนายกฯนั้น อาจจะทำให้เจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งผิดเพี้ยนไป ตรงนี้ก็ต้องทำให้อยู่ในหลักเกณฑ์หน่อย เราอยากให้ ส.ส.ร.เขามาเป็นผู้คิด ผู้ทำ โดยที่ไม่ต้องมีการชี้นำใดๆ ว่าจะให้ออกมาเป็นแบบไหน ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนเข้าใจว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่ออะไร ลองทำประชามติดูก็ได้ จะได้เห็น และผมเชื่อว่าจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

Advertisement

⦁เชื่อว่าจะปลุกภาคประชาชนให้ลุกมาร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญจนเกิดเป็นกระแสได้
เรื่องนี้ก็พูดยาก เพราะมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 บังคับใช้อยู่ การดำเนินการใดๆ ที่ไม่เป็นอิสระ จะระดมคนมาฟังอะไรก็ทำไม่ได้ เช่น 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านไปลงพื้นที่จัดกิจกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ จ.ปัตตานี ก็โดนแจ้งความเอาแล้ว ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลใจกว้างพอ มีงบประมาณพอ จะสอบถามความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในลักษณะการทำประชามติก็จะเห็นได้ชัด อยู่ที่ท่านจะทำหรือไม่เท่านั้น

⦁คนสนใจอีกประเด็นในสมัยประชุมนี้คือเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ฝ่ายค้านเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตลอดช่วงที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลวเสมอ ไม่ได้อยู่บนบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ทำผิดรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านอยากถาม เพราะนอกเหนือจากการบริหารแล้ว ยังมีข้อผิดพลาดมากมาย ต้องหาทางที่จะชี้ให้พี่น้องประชาชนได้เห็น และเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ล้มเหลวอย่างไร และความล้มเหลวต่างๆ ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ เสียงของฝ่ายค้านน้อยกว่ารัฐบาล คงไม่สามารถยกมือโหวตในสภาแล้วคว่ำรัฐบาลได้ แต่หากฝ่ายค้านชี้ไปทีละจุด ไปที่รัฐมนตรีแต่ละคนถึงความบกพร่องที่เกิดขึ้น ก็เชื่อว่าการลงมติไว้วางใจให้รัฐมนตรีแต่ละคนคงไม่เท่ากันก็จะเป็นตัวชี้วัดผลการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคนที่นายกฯจะต้องนำข้อมูลไปปรับปรุงการทำงานของ ครม.ด้วย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมีข้อมูลพอสมควรสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ขณะนี้ในส่วนของแต่ละพรรคยังไม่ได้เอามาหลอมรวมกัน แต่ในระยะเวลาอันใกล้นี้คงได้แนวทางและข้อสรุปที่ชัดเจน

⦁ล็อกเป้ากระทรวงไหน หรือรัฐมนตรีคนใดไว้เป็นหลัก
ผมคงพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ตัวผมจะมุ่งไปที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนคนอื่นๆ ผมบอกไม่ได้ว่าใครจะรับผิดชอบอภิปรายรัฐมนตรีท่านใด หรือกระทรวงใด สำหรับผมจะเป็นคนเปิดอภิปราย โดยจะพูดถึงภาพรวมในการบริหารงานของนายกฯตลอด 5 ปีที่ผ่านมาว่ามีความล้มเหลวอย่างไร

⦁การเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคเพื่อไทย ผู้ว่าฯกทม.เตรียมความพร้อมอย่างไร
ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเป็นจุดหนึ่งที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน และทำงานบริหารพื้นที่ระดับประชาชนที่จะทราบถึงปัญหา และเข้าใจพี่น้องประชาชนละเอียดกว่าส่วนบริหาร ดังนั้น ในฐานะผู้แทนราษฎรก็อยากจะลงลึกไปอยู่กับพี่น้องประชาชนจริงๆ ดังนั้น ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยต้องดำเนินการในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบจ.ขณะนี้ได้มีการเตรียมการวางตัวบุคคลไว้อยู่ เมื่อใดที่รัฐบาลเปิดให้มีการเลือกตั้งก็สามารถดำเนินการได้เลย

⦁ทราบข่าวว่ามีความเห็นไม่ลงตัวกันเรื่องการส่งผู้สมัครในหลายพื้นที่
มีเหมือนกัน ในลักษณะที่ไม่เข้าอกเข้าใจกัน และช่วงชิงพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ อย่างไรก็ตาม พรรค พท.สามารถส่งได้เพียงคนเดียวในนามของพรรค ต้องพิจารณากันต่อไป โดยพยายามอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจกับทุกส่วน คิดว่าประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม จะต้องสรุปจบเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อใด หลายคนก็เดินทำพื้นที่มากน้อยต่างกันไป เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ มีแต่การคาดเดากันว่าจะเมื่อนั้นเมื่อนี้

⦁หลายคนมองว่าจะเป็นศึกใหญ่ เพราะพรรคฟากรัฐบาลเองก็ต้องระดมสรรพกำลังชิงพื้นที่จากเพื่อไทยด้วยเหมือนกัน
เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเวลาที่ปี่กลองดังขึ้นต้องมีคนลงไปชก ดังนั้น ต้องมีพรรคโน้นพรรคนี้เข้ามา ก็ต้องทำใจ แต่พรรค พท.มีความเชื่อมโยงกับพี่น้องประชาชนอย่างแน่นแฟ้น และมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานของพรรคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังเป็นสิ่งหนึ่งที่พี่น้องประชาชนยังสามารถยึดมั่นได้ว่าพรรค พท.ยังยืนอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน ก็หวังใจอย่างยิ่งว่าในการเลือกตั้ง พี่น้องประชาชนยังคิดถึงพรรค พท. และยังมองเห็นความเป็นพรรค พท.ที่เคยสร้างผลงานเพื่อพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด

ศุภกาญจน์ เรืองเดช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image