สถานีคิดที่ 12 : เกมใครเกมมัน โดย: ปราปต์ บุนปาน

แคมเปญ “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่ อาจฟังดูมีความแตกต่างจากการประกอบกิจกรรมการเมืองกระแสหลักโดยทั่วไป

แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าเราพิจารณาสภาพการเมืองไทยร่วมสมัยโดยถี่ถ้วน ก็จะพบข้อเท็จจริงที่ว่าพรรค/กลุ่มการเมืองหลักๆ ทั้งหลาย ต่างก็มีแนวทางการดำเนินงานอันเป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งผิดแผกจากพรรค/กลุ่มการเมืองอื่นๆ

สำหรับฟากฝั่งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หากอนาคตใหม่มาพร้อมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการพยายามวางเกม-บรรทัดฐานใหม่ๆ ลงในสถาบันการเมืองอย่างสภาผู้แทนราษฎร/รัฐสภา

เพื่อไทย ซึ่งเคยเป็นแนวหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยมาก่อน ก็คล้ายจะต้องจำใจถอยลงไปตั้งหลักเพื่อเล่นเกมเซฟๆ ตามระบบ-ระบอบที่ตั้งมั่นอยู่

Advertisement

โดยมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การไม่ชนะศึกเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด และการโดนอัดหนักๆ มานับครั้งไม่ถ้วนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ความหลากหลายนั้นดำรงอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกัน

พรรคพลังประชารัฐอาจกำลังยินดีปรีดากับ “ความสำเร็จ” ของโครงการชิมช้อปใช้เฟสต่างๆ

Advertisement

ขณะเดียวกัน สถานะ-ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง-กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มได้สำเร็จ ก็ถือเป็นปราการด่านสำคัญที่ช่วยปกป้องพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล

พรรคภูมิใจไทยขับเคลื่อนตัวเองด้วยนโยบายที่หวือหวา ฟู่ฟ่า ว่องไว ซึ่งอาจไปต่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เสริมด้วยบุคลิกที่คล้ายจะกล้าชนกับเอกชนใหญ่ รวมถึงสื่อมวลชน บางเจ้า

ความโดดเด่นของประชาธิปัตย์ในวันที่ต้องลดระดับเป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง อาจไม่ได้อยู่ที่บทบาทของ จุรินทร์ ลักษณวิษฏ์ หัวหน้าพรรค และเหล่าแกนนำพรรคผู้ได้โควต้ารัฐมนตรี

แต่อยู่ตรงการเล่นบทบาทเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดำรงตนอย่างค่อนข้างจะ “เป็นกลาง” ทางการเมือง ของ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร

รวมถึงความกระตือรือร้นในการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการชูอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การเปิดทางเรื่องแก้รัฐธรรมนูญของนายชวนผู้เป็นประธานสภา เรื่อยไปถึงจังหวะก้าวของ ส.ส. อย่าง เทพไท เสนพงศ์ ซึ่งหลายครั้งดูไม่เป็นประโยชน์ต่อพรรคพลังประชารัฐสักเท่าไหร่

ขยับไปอีกนิด ยังมีสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลอันนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะ แต่บางเสียงจากสภาสูง ก็ไม่ได้เห็นตรงกันกับหลายเสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญสักเท่าไหร่

ยังไม่ต้องนับรวมผู้นำกองทัพ ที่สามารถแสดงจุดยืนและวาระทางสังคม-การเมืองของตนเองได้อย่างอิสระตามสมควร

นี่คือภาพรวมของสังคมการเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ที่เป็นสนามการต่อสู้ ประลองกำลังและความคิด ของผู้คน/ตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ หลายๆ กลุ่ม

แม้ในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พรรคการเมืองต่างๆ จะดูอ่อนแอลง แต่ความไม่เข้มแข็งดังกล่าวก็อาจนำไปสู่เสียงหรือแนวทางการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ยอกย้อน ซับซ้อนกว่าเดิม ภายใต้การรวมกลุ่มที่ไม่ได้กระชับหนักแน่นดังรูปลักษณ์เบื้องหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าจะแสวงหาได้ยากยิ่งท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ ย่อมเป็น “ฉันทามติในทางการเมือง”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image