เดินหน้าชน : ยุบไม่ยุบ เขตพื้นที่การศึกษา : สุพัด ทีปะลา

การออกมาประกาศเดินหน้าปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รอบใหม่ของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียแล้ว

กระแสการคัดค้านจากข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษา ในเขตพื้นที่การศึกษาเริ่มมีมากขึ้น

ล่าสุดมีการนัดแต่งชุดดำทั่วประเทศ เพื่อประท้วงและคัดค้านการปรับโครงสร้างรอบล่าสุด

หลังมีการแพร่ข่าวในโลกโซเชียลว่าโครงสร้างใหม่ ศธ.จะยุบเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ทั่วประเทศ เหลือเพียงสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เท่านั้น

Advertisement

ทำให้ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ต้องออกมาสยบกระแสข่าวโดยยืนยันว่า “ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ อยากให้ทุกคนใจเย็นและร่วมมือกันการศึกษาไทยไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยคนคนเดียว

ทุกคนต้องร่วมมือกัน ยังมีหลายอย่างใน ศธ. ที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้คนภายนอกมั่นใจว่า ศธ.มีความเป็นเอกภาพ ไม่ได้บอกว่าจะทอดทิ้งใคร ไม่ว่าจะเป็นครูที่กำลังเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร ผู้อำนวยการ ร.ร. ผอ.สพท. แต่กำลังลงมาดูว่า ถ้าจะเดินไปข้างหน้าต้องทำอย่างไร”

อันที่จริงแนวคิดการยุบเขตพื้นที่การศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว

Advertisement

ช่วงสมัยรัฐบาล คสช. 5 ปีที่ผ่านมา มีการออกคำสั่ง ม.44 เพื่อลดบทบาทอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่
การศึกษา โดยตั้งศึกษาธิการจังหวัด 76 แห่ง ให้เข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา”

เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตการแต่งตั้งโยกย้าย ที่มีเรื่องร้องเรียนมายัง ศธ.อยู่ตลอด

การออกคำสั่ง ม.44 ดังกล่าวจึงเป็นการวางฐานเพื่อการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ใหม่

แต่ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา รมว.ศธ.สมัยรัฐบาล คสช.ไม่ได้ผลักดันเรื่องอย่างจริงจัง จะด้วยเพราะเกรงกระแสการคัดค้าน หรือจะโยนให้รัฐบาลชุดใหม่เป็น
ผู้ดำเนินการ

การออกมาคัดค้านปรับโครงสร้างเป็นโจทย์และอุปสรรคใหญ่ว่าสุดท้ายแล้วโมเดลโครงสร้างใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร

เพราะหากดูข้อเรียกร้องล่าสุดของกลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผอ.โรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ที่บุกยื่นหนังสือถึง กมธ.การศึกษา วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้วดูจะสวนทางกับโมเดลที่จะออกมา

โดยเฉพาะประเด็นคัดค้านการยุบเขตพื้นที่การศึกษา และข้อเรียกร้องทบทวนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแยกงานบุคลากร เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย ออกจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่ยึดโยงกับ ม.44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

ข้อเรียกร้องดังกล่าวของกลุ่ม ผอ.สพท.และครู ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็ก
หลายพรรค

ขณะที่ ตวง อันทไชย ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา เห็นด้วยที่จะไม่ให้ยุบเขตพื้นที่การศึกษา คืนอำนาจงานบริหารงานบุคคลให้เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อยุติความขัดแย้ง

จากนี้คงต้องจับตาว่าณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.จะหาทางออกปมปัญหาเหล่านี้อย่างไร

เพื่อให้โครงสร้าง ศธ.ลงตัวเสียทีหลังจากที่ปรับกันมาหลายรอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image