“คุณหญิงหน่อย” โพสต์เล็งดัน “ตลาดน้อย” เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Sudarat Keyuraphan” ระบุว่าจะพลิกฟื้นชุมชนเก่าตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน หลังจากที่ได้ร่วมกับคณะสถาปนิกชื่อดังไปสำรวจสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในย่านดังกล่าว เพื่อนำไปต่อยอดนโยบายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative economy

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวระบุว่า

พลิกฟื้นชุมชนเก่า เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

Advertisement

“ตลาดน้อย”
ตัวอย่างการสร้าง Creative economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อพลิกฟื้นชุมชนให้มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อวานนี้หน่อยมาเดินย่านตลาดน้อย เพื่อมาดูสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ด้วยความตั้งใจจะเก็บข้อมูลร่วมกับพี่น้องเพื่อนำไปต่อยอดนโยบายพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ผ่านแง่มุม “Creative economy” หรือ #เศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดยการเดินศึกษาครั้งนี้ ได้ร่วมเดินกับคุณด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค และ คุณโจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานชุมชนตลาดน้อย ที่กำลังจะมีงาน Awakening Bangkok สัปดาห์ที่จะถึงนี้ อันเต็มไปด้วยงานแสงสีและสื่อผสม

Advertisement

มีคุณลีลาวดี วัชรโรบล และ ปุ๊น ตรีรัตน์ ร่วมเดินศึกษาเส้นทางภายใต้แนวคิดการทำชุมชนเก่าแก่เป็นแหล่งรายได้ ผ่านการรักษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต โดยนำอาคารเก่ามาทำเป็นโฮสเทล หรือเป็นร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว

ต้องบอกว่าที่นี่เป็นของดีที่อยู่กลางเมือง เพราะพี่น้องพยายามสร้างชุมชนเก่าแก่ย่านนี้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อรักษาสภาพชีวิตดั้งเดิมของตนเองเอาไว้ โดยมีการนำเอาอาคารเก่ามาทำเป็นโฮสเทลให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาพัก เป็นการดึงเอาศักยภาพของผู้คนและชุมชนมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งหัวใจของการพัฒนาให้ยั่งยืนนั้น มาจากคนในชุมชนของตนเองค่ะ

ที่สำคัญคือการ #พลิกฟื้นชุมชน ผ่านมาตรการ Transfer of Development Rights (TDR) ที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นทั้ง สตรีทอาร์ท หรือเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ พื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งตลาดน้อยเองก็มีบ้านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อยู่เยอะมาก เช่น ในย่านศาลเจ้าโรงเกือก ศาลเจ้าเก่าแก่ของคนจีนฮากกา ตลอดจนบ้านของกลุ่มตระกูลโปษยะจินดา คฤหาสน์โซว เฮง ไถ่ ที่ตั้งมาสมัยรัชกาลที่ 2

แนวทางพลิกฟื้นวิถีชีวิตชุมชนควบคู่กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น คุณด้วงให้ความรู้หน่อยโดยมองว่าจะทำให้ชุมชนปรับตัวและจะเข้มแข็งขึ้น ต่างจากการที่มี #โครงการลอยมาจากไหนไม่รู้แล้วมีงบมาลง ซึ่งไม่ยั่งยืน

หน่อยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนโดยยกตัวอย่างถึงชุมชนในสมุย ที่ก็มีการแบ่งจุดท่องเที่ยวในชุมชน เป็นจุดที่เน้นนวด อีกจุดขายน้ำมันมะพร้าว และอีกจุดทำร้านอาหาร แล้วมีบริการพาทัวร์ มีระบบจองทางเว็บไซต์ของหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนตลาดน้อยเองก็น่าจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

นอกจากนี้ การทำโครงการก็ต้องคิดถึงความเชื่อมโยงในการเดินทาง เช่น ท่าเรือที่จะเชื่อมมาถึงชุมชน ซึ่งคุณด้วง บอกว่าได้มีการคุยกับกรมเจ้าท่า ในเรื่อง circle line หรือ เรือที่จะเวียนเหมือนแท็กซี่ สามารถทำร่วมกับบริษัทเรือ แต่ว่าเวลานี้โครงการดังกล่าวยังไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

เราเดินพูดคุยกันสนุกสนานมากค่ะ จนมาถึง #ท่าน้ำภานุรังษี ที่นี่เป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพของคนฮกเกี้ยนที่มาตั้งย่านการค้าแถวนี้ เป็นจุดที่จะเห็นการเข้า การออก ของเรือที่ผ่านจุดสำคัญๆ ทั้งสะพานพุทธ สะพานสาทร เมื่อเรือสำเภาเข้าออก

ท่าน้ำภานุรังษี เป็นจุดตั้งของโรงกลึงเก่า ที่ขึ้นชื่อเรื่องตีเหล็กเพื่อบริการบำรุงเรือที่เข้าออก พื้นที่โรงกลึงนี้ชุมชนบอกว่าต่อไปจะมีการปรับปรุงเป็นสวนอาจารย์ป๋วย และ เป็นพื้นที่ด้านศิลปะ ซึ่งชุมชนได้มีการพูดคุยกับกรมธนารักษ์เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน ให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ในชื่อ ‘สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย) และประจวบเหมาะกับพื้นที่จุดนี้เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างย่านบางรักกับสำเพ็ง ดังนั้นชุมชนก็จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาตรงจุดนี้เช่นกัน

หลังจากได้เยี่ยมชมและพูดคุยกับพี่น้องในชุมชน หน่อยรู้สึกตื่นเต้นและชื่นชมพี่น้องในชุมชนหลายท่านมีความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะบอกเล่าถึงรากเหง้าความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐาน การสร้างบ้านเรือน ที่สัมพันธ์กับลักษณะเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย การสืบทอดตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น เป็นความรู้จากคนพื้นที่ที่หาฟังที่ไหนไม่ได้จริงๆค่ะ สัมผัสได้ถึงความรัก ความผูกพันมากๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้จนถึงเวลานี้ หน่อยเชื่อว่ามาจากชุมชนที่เข้มแข็ง และมาจากการที่ผู้นำชุมชนมีความเข้าใจในระดับพื้นฐานของการพัฒนา ที่สำคัญมีหน่วยงานอย่าง TCDC เข้ามาช่วยให้การพัฒนาเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้งบประมาณที่ลงมาใช้จะน้อยนิดก็ยังเกิดขึ้นได้ขนาดนี้

หน่อยเชื่อว่า ถ้าพี่น้องในชุมชนต่างๆทั่วประเทศมีโอกาสที่จะทำเป็นโครงการ หรือนำงบประมาณจากส่วนอื่น มาปรับปรุงชุมชน ก็จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้ประโยชน์มหาศาล คนในชุมชนทำมาหากินได้ง่าย เกิดการสร้างงาน ลูกหลาน รวมทั้งคนในพื้นที่ก็จะไม่ทิ้งรกรากไปไหน ซึ่งจะเป็นสิ่งยั่งยืนมากกว่าการสร้างถาวรวัตถุใดๆ

ชุมชนตลาดน้อย เป็นต้นแบบของการร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ ที่จะประสานระหว่างการพัฒนา คนที่เข้ามาใหม่ และการอนุรักษ์ ซึ่งในเมืองชั้นใน ยังมีย่านที่ซับซ้อนอย่างตลาดน้อย อยู่อีกมากรอให้เกิดการพัฒนาให้ยั่งยืน ต่อไป

หน่อยและ #ทีมเพื่อไทย เห็นว่านี่คือแนวทางสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ที่จะกระจายรายได้ให้คนตัวเล็กๆ มีเงิน มีงาน และสำคัญที่สุดคือการรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมไว้ได้อย่างร่วมสมัยมากที่สุดค่ะ

#ประชาชนคิดเพื่อไทยทำ
#เพื่อไทยหัวใจคือประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image