จังหวะก้าว ลีลา ประชาธิปัตย์ เปิดเกมรุก อาวุธ ‘อภิสิทธิ์’

ทั้งๆ ที่ในพรรคประชาธิปัตย์รวมไว้ด้วยบุคคลคุณภาพ ไม่ว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ไม่ว่า นายเทิดพงศ์ ไชยนันทน์ สมควรเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แล้วเหตุใดต้องชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทั้งๆ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่นอกสภา เพราะเพิ่งประกาศลาออกจาก ส.ส.เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน

นี่แหละคือความสงสัย

Advertisement

ไม่เพียงเป็นความสงสัยของสังคมในวงกว้าง หากแต่ยังเป็นความสงสัยเป็นอย่างสูงภายในพรรคพลังประชารัฐ

ถึงกับพาเหรดกันออกมา “ต้าน”

อาจเป็นเพราะเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจาก ส.ส.เพราะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

คำถามจึงว่าทำไมต้อง “กลัว” ทำไมต้อง “สกัด”

มีเหตุผล 3 เหตุผลที่หากประมวลจากคำแถลงของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ไม่ว่าจะมาจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

1 เป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ มิใช่พรรคประชาธิปัตย์

1 เป็นเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเหตุผลสำคัญเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนหยัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับต้องแก้

ปล่อยให้ “ลอยนวล” ต่อไปไม่ได้

ทั้งหมดนี้นำไปสู่เหตุผล 1 ซึ่งสำคัญและมิได้มีการแถลงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐต้องไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ออกหน้า

นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐกันท่าพรรคประชาธิปัตย์

นี่ย่อมเป็นปัญหาอันละเอียดอ่อนยิ่งในทางการเมือง เป็นปัญหาในเรื่องการนำ นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐต้องการ “นำ” ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ

คำถามก็คือ นำเพื่อ “แก้” หรือนำเพื่อ “สกัด” การแก้

มิได้เป็นเรื่องแปลกที่แต่ละพรรคการเมืองจะต้องแสดงอำนาจ แสดงพลานุภาพแห่งตน ในฐานะที่ตนเป็นแก่นเป็นแกน

นั่นก็คือ เป็นหัวหรือเป็นหาง

กระนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้เป็น “ละอ่อน” เยาวเรศรุ่นเจริญศรีในทางการเมือง รู้อยู่เป็นอย่างดีว่าอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง

พรรคประชาธิปัตย์เล่นทั้งบท #อยู่เป็น

ขณะเดียวกัน เมื่อถึงสถานการณ์หนึ่ง สถานการณ์สำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะงัดกลยุทธ์ในแบบ    #อยู่ไม่เป็น มาเป็นเครื่องมือต่อรอง

ยิ่งพรรคพลังประชารัฐยืนกราน

พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องประเมินว่า สภาพการณ์ทางการเมืองอยู่ในจุดที่พรรคประชาธิปัตย์สมควรโอนอ่อนหรือสมควรแข็งขืน

นั่นก็ขึ้นกับ “กระแส” ในทางสังคมเห็นเช่นใด

การผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยยึดกุมประเด็น “รัฐธรรมนูญ” มาเป็นหัวใจ มาเป็นอาวุธครั้งนี้มิได้เป็นเรื่องของอุบัติเหตุและความบังเอิญ

ชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชั้นมีสถานะ

สถานการณ์ครั้งนี้ก็เหมือนกับเมื่อตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ยกเอาชื่อ นายชวน หลีกภัย เข้ามาชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

นี่คือการรุกในจังหวะอันดีของพรรคประชาธิปัตย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image