สภาฯ รับหลักการร่างจริยธรรมส.ส. ‘ปิยบุตร’ ลุกค้านเหตุลอกเนื้อหาศาลมาใช้ ชี้คนละองค์กร

สภา-เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ท่ี่รัฐสภาเกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธาน มีมติรับหลักการร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ…. ตามที่ กมธ.วิสามัญฯ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธานกมธ. พิจารณายกร่างฯ ทำแล้วเสร็จ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 421 เสียง ก่อนตั้งกมธ.วิสามัญจำนวน 30 คนพิจารณาก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเห็นชอบในวาระสองและสามต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติดังกล่าวส.ส. ได้อภิปรายท้วงติงในรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่กมธ.จะคัดลอกมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมบัญญัติไว้ในร่างประมวลจริยธรรมของสภา และกมธ. ที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ข้อ 6 – 27 ที่ลอกตัวบททั้งหมดไว้ ทั้งนี้ มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการ นั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากสภาฯ โดยมองด้วยว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ซึ่งกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระร่วมกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้บังคับ และให้ใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้นเป็นการออกแบบที่ไม่ถูกต้อง เพราะส.ส.ต้องควบคุมและตรวจสอบกันเอง แยกองค์กรใครองค์กรมัน ทั้งนี้เมื่อสภามีประมวลจริยธรรม เท่ากับมีการใช้ประมวลจริยธรรมใช้ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่บังคับใช้กับตุลาการศาล และ ที่ใช้กับสภาฯ

“นี่อาจทำให้การบังคับใช้มี 2 มาตรฐาน และอาจมีปัญหาต่อประเด็นส่วนของบทลงโทษ ได้ เพราะหากกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงในส่วนประมวลจริยธรรมของตุลาการ ขั้นตอนตรวจสอบคือส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเรื่องทุจริตตรวจสอบ ทั้งนี้ศาลฎีกาเป็นองค์กรที่ตรวจสอบด้านกฎหมายเป็นหลัก หากส่งเรื่องให้วินิจฉัยต่อประเด็นจริยธรรม และมีโทษให้พ้นจากความเป็นส.ส. ขณะที่ประมวลจริยธรรมของสภาฯ มีบทลงโทษที่ระบุแค่ตักเตือน ทั้งนี้ ตนมองว่าการลอกเนื้อหาจะทำให้การเขียนกฎหมายที่เพี้ยนทั้งหมดได” นายปิยบุตร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image