ทอ.โชว์เหนือ เปิดตัว F-5 TH อัพเกรด พร้อมเปิดตัว U1 อากาศยานไร้คนขับสายพันธุ์ไทย

ทอ.เปิดตัว F-5 TH อัพเกรด เผยแนวทางพัฒนา ต่อยอดใส่จิตวิญญาณ ทอ. ลดการใช้งบประมาณ วางเป้าพัฒนาซอฟต์แวร์เครื่องบินรบเป็นของตนเอง ตามยุทธศาสตร์ ปี 80 / เปิด U1 อากาศยานไร้คนขับสายพันธุ์ไทย เดินหน้ายุทธศาสตร์ยืนบนขาของตัวเอง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานในพิธีบรรจุประจำการเครื่องบินขับไล่ F-5 TH จำนวน 14 ลำ และอากาศยานไร้คนขับแบบ RTAF U1 (อาร์-ที-เอ-เอฟ-ยู-วัน) โดยเครื่องบินขับไล่ F-5 ได้มีการปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบ Avionics ที่ทันสมัย ระบบป้องกันตนเอง ระบบเรดาร์ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมาย รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้อาวุธสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูงและระยะยิงไกล อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operation) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) เพื่อรองรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Link-T) เทียบเท่าเครื่องบินขับไล่ GRIPEN 39 C/D ในยุค 4.5 ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2565 โดยเอฟ 5 เป็นเครื่องบินรบของสหรัฐที่อายุใช้งานเก่าที่สุด ในภูมิภาคนี้เหลือแค่ไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังประจำการอยู่และได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อยืดอายุใช้งานได้ต่อไปอีก 15 ปี

นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ยังได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศในการสนับสนุน และร่วมมือกันผลิตอากาศยานไร้คนขับแบบ RTAF U1 จำนวน 17 เครื่อง ซึ่งได้รับการออกแบบและผลิตตามมาตรฐาน รวมถึงข้อกำหนดความสมควรเดินอากาศสากล โดยสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง ในรัศมีปฏิบัติการ 100 กิโลเมตร และสามารถวิ่งขึ้นและร่อนลงสนามบินด้วยระบบอัตโนมัติ มีสมรรถนะ และขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหาร และการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม

หลังจากนั้น พล.อ.อ.มานัต แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ทั้งสองโครงการทำด้วยมันสมองคนไทย โดยการอัพเกรด F-5 ครั้งนี้ได้ใช้ร่างกายเดิมของเขา แต่ใส่จิตวิญญาณของกองทัพอากาศเข้าไป ทุกอย่างมีการทำใหม่หมด ถ้าให้ต่างประเทศทำก็คาดว่าจะงบประมาณหลักหมื่นล้านบาท แต่กองทัพอากาศดำเนินการเองก็ใช้งบประมาณแค่หลักห้าพันล้านบาท ต่อไปจะมีสร้างนักบินรบ วิศวกรต้นแบบ รวมถึงวิศวกรซอฟต์แวร์ในกองทัพอากาศไทยขึ้น เพื่อคิดค้น ซอฟต์แวร์แอพพลิเคขั่นที่ฝังอยู่ในอากาศยาน โดยลงลึกถึงระดับ Source code หรือคำสั่งในโปรแกรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้

Advertisement

พล.อ.อ.มานัตกล่าวว่า กองทัพอากาศจะใช้แนวคิดนี้ไปสู่การอัพเกรดเครื่องบิน Alpha Jet ให้เป็น-Multi Role และอัพเกรด Au-23 Peace Maker และในยุทธศาสตร์ปลายปี 2580 กองทัพอากาศน่าจะมีขีดความสามารถในการสร้างอากาศยานของเราเองได้ ไม่จำเป็นต้องผลิตทุกชิ้นส่วน แต่ชิ้นส่วนที่สำคัญอาจต้องผลิตเอง คือมันสมอง นั่นก็คือจิตวิญญาณของเครื่องบินรบทั้งหมด อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์ Purchase and Development ไม่ใช่ซื้อ ใช้งบประมาณอย่างเดียว ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่อยอดด้วย

ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้เดินตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์ความมั่นคง แผนปฏิรูปกองทัพ เลยไปถึงยุทธศาสตร์ ทอ.ปี 80 เรามีการจัดทำอย่างเป็นรูปธรรม มีแผนโครงการทั้งหมด โครงการนี้สำคัญเพราะเป็นโครงการในประเทศ และ เป็นฝีมือคนไทยภาคเอกชนมีความสำคัญ สร้างแรงงานและตำแหน่งงานชั้นดี โดยเราทำเองแม้กระทั่งสายไฟ เราผลิตจากภัยคุกคามบ้านเราและตีโจทย์ออกมา แปลงสู่เทคโนโลยีและชิ้นส่วนอุปกรณ์ มีการเส้นทางการพัฒนาที่ซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างนานและใช้ความพยายามสูง มีการลงแรง ลงใจ และลงปัญญา ส่วนที่มีการบอกว่าของไทยไม่มีคุณภาพนั้นก็เป็นเป็นการตั้งโจทย์กันเอง ความจริงแล้วคนไทยเป็นคนที่ฉลาดมาก แต่เราไม่ได้สอนให้คนไทยตั้งโจทย์ เรามียุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กองทัพ ก็ต้องไปดูว่าอะไรอยู่ในยุทธศาสตร์และดึงมาหาคำตอบให้ได้

น.อ.นภดร คงสเถียร ผู้รับผิดชอบการจัดตั้งศูนย์อากาศยานไร้คนขับกองทัพอากาศ กล่าวว่า สำหรับอากาศยานไร้คนขับแบบ RTAF U1 ที่ทอ.ร่วมกับเอกชน ในการผลิตและพัฒนา จะนำเข้าประจำการในพื้นที่เดิมของฝูงบิน 206 โดยจะใช้ในภารกิจการฝึกเป็นหลัก และจะดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกนักบิน UAV ที่เป็นระบบ เพื่อสร้างกำลังพล เพื่อสนับสนุน ฝูงบิน UAV ตามยุทธศาสตร์ของ ทอ. ในการสร้าง นักบิน UAV ในอนาคต สำหรับฝูงบิน 404 เดิม ที่มี UAV แบบ AeroStar ที่ซื้อจากอิสราเอล ก็จะใช้ในภารกิจปฏิบัติการ

พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ กล่าวว่า UAV U1 ทำโดยคนไทย เกือบ 100% โดยใน อนาคตจะพัฒนาต่อยอด เพื่อทำหน้าที่ในด้านความมั่นคงอื่นๆ แนวคิดที่กองทัพอากาศวางไว้ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ของคนไทยด้วยกัน ยุทโธปกรณ์ปัจจุบันราคาสูง หากไม่คิดพัฒนาด้วยตนเอง ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ถ้าเราพัฒนาด้วยตนเองการใช้

ด้าน น.อ.สุรศักดิ์ เสสะเวช ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการรบ สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศ กล่าวว่า เราทำซอฟต์แวร์ของเราด้วยสมองของคนในกองทัพอากาศ ด้วยวิศวกรคนไทยจะมีการติดตั้งจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ แบบ IRIS-T ของเยอรมัน และเป็นครั้งแรกของโลกที่ F5 ติดอาวุธนำวิถีแบบนี้ รวมถึง Python4 ของอิสราเอล นี่คือจิตวิญญาณ เราต้องการให้อาวุธนำวิถืทั้งสองชาติอยู่บน F5 มีแต่ชาติไทยที่ทำได้ เราก็เอาจิตวิญญาณ กริพเพน ที่มี เน็ตเวิร์ก เซนทริก ซึ่งเราก็เอาจิตวิญญาณมาพัฒนาให้เหมาะสมกับความต้องการทางยุทธวิธีของเรา เช่นเดียวกับ U1 ซึ่งเรามี Aero star และ อากาศยานไร้คนขับอีกแบบที่เรากำลังจะเข้าประจำการ ก็ได้นำจิตวิญญาณ และ ความต้องการทางยุทธการ มาพัฒนาเครื่องที่เรามีอยู่

น.อ.สุรพงษ์ ศรีวนิชย์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศทอ.มียุทธศาสตร์กำลังรบที่ไม่ใช่การจัดหาอย่างเดียว และจะใช้แนวคิด Purchase and development ยกเว้นอากาศยานที่มีสมรรถนะสูง ส่วนไหนที่เราพัฒนาได้ก็จะพัฒนาเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน การจะใช้จัดหาเครื่องบินใหม่ต้องใช้งบประมาณสูง ทอ.ตระหนักดีว่างบประมาณทั้งหมดเป็นภาษีของประชาชน ยุทธศาสตร์เขียนชัดเจนว่าการจัดสรรงบประมาณในหายุทโธปกรณ์ต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอากาศยานทุกแบบ เครื่องบินรบ หรือ เซ็นเซอร์ ต้องสนองตอบภารกิจป้องกันประเทศ และพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image