ปธ.กมธ.แรงงาน โพสต์เล่า ‘หม่อมเต่า’ แจงเหตุ รบ.ไม่ขึ้นค่าแรง 425ตามที่พปชร.หาเสียงไว้

ปธ.กมธ.แรงงาน โพสต์เล่า หลังเรียกรมว.แรงงาน มาถาม ทำไมไม่ขึ้นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 ตามที่พปชร.หาเสียง “หม่อมเต๋า” แจง รปช.ในฐานะเจ้ากระทรวงไม่มีนโยบายนี้     

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน ได้โพสต์เฟสบุ๊กเรื่อง “รัฐมนตรีแรงงานตอบคำถามเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ” เล่าภายหลังเรียก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาชี้แจงถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล ใจความว่า

“วันพุธที่ผ่านมา รัฐมนตรีแรงงานเข้ามาตอบประเด็นค่าแรงขั้นต่ำด้วยตัวเอง จากที่มีคนร้องเรียนพรรคพลังประชารัฐไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ 400-425 บาท/วัน (แต่คุณอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เจ้าของนโยบายไม่มา)

รัฐมนตรีแรงงาน-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล บอกว่า ตอนจัดตั้งรัฐบาล มีตั้ง 10 พรรค มาตกลงนโยบายกัน ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน จึงทำให้ไม่ได้บรรจุนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของพลังประชารัฐเป็นนโยบายของรัฐบาล และพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ท่านรัฐมนตรีแรงงานเป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับด้านนี้ มีเพียงนโยบายด้านการเกษตรเท่านั้น ดังนั้นท่านจึงไม่ได้ผูกพันกับนโยบายดังกล่าว อีกทั้งยังบอกว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่อำนาจของรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงาน ครม.มีอำนาจแค่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เป็นไตรภาคี 3 ฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ และคณะกรรมการมีมติว่า ไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มากกว่า 40 จังหวัด ลูกจ้างยังโหวตไม่ขึ้นค่าจ้าง เพราะกลัวตกงาน ทีนี้ท่านรัฐมนตรีก็ยังบอกว่า ลูกจ้างอาจกลัวนายจ้างก็ได้ ก็เลยใช้วิธีแบบที่ท่านเคยได้ศึกษามาตามกระบวนการวิจัยคือ ส่งแบบสอบถามพร้อมแสตมป์ไปให้ส่งกลับมาไม่ระบุชื่อก็ยังได้คำตอบแบบเดิมไม่ต่างคือส่วนมากไม่อยากขึ้นค่าจ้าง

Advertisement

นอกจากนี้ยังบอกว่า ในกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการค่าจ้าง ไม่มีนักวิชาการที่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์แรงงานดีพอ ท่านรัฐมนตรีจึงได้ทำการศึกษามาแล้วพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอยู่ระดับกลางของอาเซียน และมีแนวโน้มที่ค่าจ้างขั้นต่ำจะมีสัดส่วนที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติต่อหัว (จากประมาณ 0.5-0.6 ของรายได้เฉลี่ย สู่ 0.4-0.5 ของรายได้เฉลี่ย) ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดี คือเมื่อเศรษฐกิจดีค่าจ้างขั้นต่ำก็จะไม่จำเป็นต้องเพิ่ม เพราะคนสามารถเลื่อนยกระดับค่าจ้างเองได้ แสดงว่าประเทศมีคนส่วนมากที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีต้องการทำคือการยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับค่าจ้างที่สูงขึ้นซึ่งจะเป็นการแก้ที่ยั่งยืนกว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มักกระทบกับผู้ประกอบการ วันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับที่ควรเป็นแล้ว การปรับแบบก้าวกระโดดอาจเกิดการเลิกจ้างได้

ในการประชุม ที่ปรึกษากรรมาธิการ-ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ได้ให้ความเห็นแย้งว่า จริงๆแล้วการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 54 ซึ่งเป็นการปรับสูงสุดคือ 35-40 % แต่มีงานวิจัยออกมายืนยันว่า ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้นเพียง 0.18-9%เท่านั้น และสำหรับต้นทุนสินค้าเมื่อมีการปรับค่าจ้าง 10% ก็มีผลต่อราคาสินค้าเพียงแค่ 0.82 % ขณะที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่าค่าจ้างเราอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว แต่จากการคำนวณพื้นฐานครัวเรือนต้องมีรายได้ 27,000 บาท/เดือน สำหรับสามชีวิต หรือการทำงานของครอบครัวหนึ่งสองแรงต้องได้รายได้ 13,500 บาท หรือ 425 บาทสำหรับรายเดือน ซึ่งตรงกับที่พรรคพลังประชารัฐและอีกหลายพรรคการเมืองได้คำนวณไว้แต่ไม่มีแนวโน้มที่จะมีการปรับแม้เวลาล่วงมาเกือบปี นอกจากนี้รัฐบาลไทยรับอนุสัญญาจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO C131 ตั้งแต่ปี 2513 ว่าด้วยค่าจ้างที่ประทังชีวิตอยู่ได้ ทุกวันนี้ยังมีคนไทยกว่า 10 ล้านคน หรือ 28% ของกำลังแรงงานที่กินค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำเราถูกคำนวณเพื่อเอาใจผู้ประกอบการมากกว่าการคำนึงชีวิตที่คนอยู่ได้ ผลที่ตามมาคือ ต้องไปทำอาชีพที่ 2หรือ3เพิ่ม ถ้าเลี้ยงดู 3-4 ชีวิตในครัวเรือนไม่ได้ จะเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น อาชญากรรม หรือความรุนแรงในครอบครัว

วันนั้น ผม สุเทพ อู่อ้น ถือเป็นเจ้าภาพเลยไม่ได้ซักถามท่านรัฐมนตรีมาก แต่ขอให้ทุกท่านพิจารณาจากคำแย้งของที่ปรึกษากรรมาธิการต่อรัฐมนตรีแรงงานครับ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image