รายงานหน้า 2 : นักวิชาการถอดรหัส‘อยู่ไม่เป็น’ อนค.ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จัดกิจกรรมอยู่ไม่เป็นหลังจากพรรคเจอปัญหาถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหลายคดี

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก่อนและหลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางความเคลื่อนไหวของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่อย่างตรงไปตรงมา ส่วนหนึ่งได้ให้กำลังใจในฐานะคนรุ่นใหม่ เนื่องจากนักสู้ทางการเมืองแต่ละปัจเจกบุคคลมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่มั่นคงไม่เหมือนใคร แต่ต้องช่วยกันติดตามว่าสิ่งที่ประกาศไว้มีจริงหรือไม่ เวลาจะเป็นบทพิสูจน์ ส่วนการผลิตวาทกรรม อยู่ไม่เป็น ก็อาจทำให้เห็นว่าการอยู่ในสังคมแบบนี้จะต้องอยู่อย่างไร ไม่คือจะไม่กลัวหรือจะทำอะไร แล้วผลลัพธ์จะเป็นแบบไหน ขณะที่เดิมจะต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะเฉยเมยไม่ออกมาต่อสู้กับระบอบเผด็จการ แต่ประเมินว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ยังมีเป้าหมายนี้ และอาจมีเป้าหมายอื่นซ่อนเร้นอยู่ในใจ อาจจะแสดงออกไม่ทั้งหมด แต่ยังมีนัยยะหรือบริบทให้เห็นว่าแนวคิดคนรุ่นใหม่จะมีโรดแมปไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

Advertisement

ที่ผ่านมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้ามาทำการเมืองไม่นาน แต่ปลุกคนให้ออกมาลงคะแนนสนับสนุนมี ส.ส.จำนวนมากถือว่าไม่ธรรมดา เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนในเครือข่ายได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องในสิ่งที่จะทำในอนาคต นายธนาธรอาจจะต้องแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องที่ทำให้สมาชิกพรรคบางส่วนออกมาประจาน แต่แปลกใจที่นายธนาธรไม่ได้ออกมาแก้ตัว และกำลังจะพิสูจน์ให้เห็นคุณลักษณะที่สำคัญบางประการในการต่อสู้ สิ่งเหล่านี้จะมีปัจจัยชี้วัดที่ระยะเวลา การปฏิบัติ เป็นไปตามที่เคยพูดไว้หรือไม่

ที่สำคัญไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ นายธนาธรจะมีอนาคตทางการเมืองอย่างไรจากคดีถือหุ้นสื่อ วันนี้นายธนาธรต้องประกาศให้ชัดว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ชี้ให้สังคมเห็นว่าการต่อสู้ยังมีอุปสรรคจากบางส่วนของอำนาจเผด็จการที่มีขนาดมหึมา รวมทั้งเครือข่ายนักธุรกิจระดับบนที่เข้มแข็ง แต่อย่าลืมว่าทั้งเผด็จการและนักธุรกิจอยู่ไม่ได้ถ้าคนส่วนใหญ่เอาด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นายธนาธรต้องสร้างกระแสด้วยการปลุกเร้า แสดงจุดยืนให้สังคมตื่นตัวอยู่เสมอ และจะต้องทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจบางฝ่ายอย่ามีอคติ ลำเอียง แต่ควรทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ถ้าทำดีมีบรรทัดฐาน สังคมนี้จะไม่มีความขัดแย้ง และต้องยอมรับว่าผู้มีอำนาจบางฝ่ายเป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ขณะที่นายธนาธรก็ต้องแสดงออกให้ประชาชนเห็นว่าควรกำหนดทิศทางให้ประชาชนเดินร่วมอุดมการณ์ได้อย่างไร

หากเปรียบเทียบนายธนาธรกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการเดินเข้าสู่การเมือง แตกต่างกันสิ้นเชิง นายทักษิณมาจากนักธุรกิจเป็นทุนนิยมผูกขาด มีอุดมการณ์ไม่ซับซ้อน แค่มุ่งหวังให้ได้เสียงข้างมากเข้ามาสังกัด แล้วทำสำเร็จด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่นายธนาธต้องแสดงออกว่าไม่ได้มาจากทุนผูกขาดตัดตอน และต้องพูดถึงกระจายรายได้ พูดถึงความเป็นธรรม ความเสมอภาคในสังคม ความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้จริง ก็จะไม่มีใครสนับสนุน เพราะทั้งหมดนี้คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย นายธนาธรจะออกมาโกหกสังคมไม่ได้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ในแนวคิดหรือมีการปฏิบัติให้เห็น สำหรับการเปลี่ยนแปลงสถานะทางการเมืองของนายธนาธร ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่เพื่อทำให้เห็นผลงานการต่อสู้ชัดเจน ถ้าหยุดทำก็คือแพ้ เพราะถ้านายธนาธรมีชุดความคิดว่าตัวเองกำลังถูกทำลาย ก็จะต้องประกาศให้โลกรู้ว่า

Advertisement

ขณะนี้เผด็จการได้ใช้วิธีการอะไรบ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม และเวลาที่ผ่านไปจะพิสูจน์ได้ว่านายธนาธรเป็นนักสู้ของจริงหรือของปลอม

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การจัดงานอยู่ไม่เป็นของพรรคอนาคตใหม่ มาจากเงื่อนไข 3 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก เป็นการเรียกเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ในการจัดงานจึงมีการหลักคิดที่มาของอุดมการณ์ความคิด แนวทางการต่อสู้ของพรรค ประการที่สอง มีการขี้แจงให้เห็นถึงแนวทางการทำงานของพรรค ถูกสังคมตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์หลายกรณี มีการกล่าวหา เช่น การชังชาติ การเคลื่อนไหวโดยทำให้เกิดอุดมการณ์ทางความคิดของบ้านเมือง จึงทำให้พรรคต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกช่วงที่กระแสพรรคอยู่ในช่วงขาลง

เพราะมีบรรดาสมาชิกพรรคเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. กรรมการบริหารลาออก การออกมาชี้แจงจึงต้องการรักษาสถานภาพของพรรค ประการที่สาม น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีหุ้นสื่อของนายธนาธร กำลังจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ดังนั้น พรรคต้องการออกเคลื่อนไหวทำกิจกรรมก่อนเพื่อไม่ให้มีปัญหาจากข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะการออกมาวิจารณ์หลังมีคำวินิจฉัยอาจทำได้ไม่เต็มที่ หรือนายธนาธรอาจหมดสมาชิกสภาพจากความเป็น ส.ส. ทำให้การเคลื่อนไหวทำได้ยากขึ้น หรือแม้กระทั่งจะนำไปสู่โอกาสในการยุบพรรคก็เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้

ต้องยอมรับว่าการเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนไปสู่การเมืองในยุคที่ผันผวน การต่อสู้ทางการเมืองจึงไม่ได้มีข้อจำกัดเฉพาะการต่อสู้ในระดับพื้นที่ ดังนั้น การทำงานแบบเดิมด้วยการรณรงค์หาเสียง การลงพื้นที่ของ ส.ส.อาจจะไม่ใช่สิ่งจะทำให้เป็นผลสำเร็จทางการเมือง แต่จะมีการต่อสู้ในเชิงความคิดมากขึ้น นำไปสู่การสร้างวาทกรรมอยู่ไม่เป็น เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางการต่อสู้กับกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีคำว่าอยู่เป็น โดยยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ยอมประนีประนอม กับสัมพันธภาพทางการเมืองที่มีอยู่ ขณะที่พวกอยู่ไม่เป็นจะต้องออกมายืนตรงข้ามกับพวกอยู่เป็น

สถานะของนายธนาธรในวันที่ 20 พฤศจิกายน ประเมินได้ 2 แนวทาง หากคำวินิจฉัยออกมาเป็นบวก หากมีการยกคำร้อง การถือหุ้นสื่อไม่ผิด นายธนาธรจะเข้าไปทำงานในฐานะ ส.ส.ได้ การเคลื่อนไหวก็จะทำได้กว้างขวางมากขึ้น รวมไปถึงพรรคอนาคตใหม่ก็จะมีกระแสความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง หากมองอีกด้านมีความเป็นไปได้ถ้าผลการวินิจฉัยออกมาเป็นลบ ทำให้นายนายธนาธรหมดสมาชิกภาพ ส.ส. หรือถูกตัดสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น ยังมีผลทางการเมืองและกฎหมาย อาจนำไปสู่การยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค หรือการดำเนินคดีอาญา ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของศาลและ กกต.ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ส่วนผลทางการเมือง หากมีการยุบพรรค ส.ส.ของพรรคอาจมีปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง มีความเป็นไปได้สูง และต้องดูว่าแกนนำของพรรคจะรักษาสถานการณ์ได้หรือไม่ ถ้าทำได้อาจนำ ส.ส.ไปสังกัดพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ หรืออาจจะนำไปสู่พรรคเดิมที่มีอยู่ ถ้าแกนนำรักษาสถานการณ์ไม่ได้ ก็จะทำให้ ส.ส.ไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นอย่างหลากหลาย ทำให้ดุลการเมืองมีความเปลี่ยนแปลง หากไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลพ้นจากภาวะเสียงปริ่มน้ำอย่างชัดเจน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ให้น้ำหนักจุดเริ่มต้นของการจัดงานอยู่ไม่เป็น เห็นพลังขับเคลื่อนที่ผ่านทางโซเชียล และทำให้เห็นว่าพลังโซเชียลมีอยู่จริงในการเมืองไทย และคอนเซ็ปต์อยู่ไม่เป็น เป็นคอนเซ็ปต์ท้าทายสังคมการเมืองเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าสิ่งที่เขาพยายามเสนอมานั้นเป็นการเสนอที่สังคมไทยเดิมหรือว่าโครงสร้างสังคมไทยเดิมปิดกั้นเอาไว้ตลอด อาทิ การพูดถึงการเกณฑ์ทหาร การพูดถึงความเสมอภาคของประชาชน เรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียมในแง่เพศสภาพ การพูดถึงกระจายอำนาจ การกระจายโอกาส เหล่านี้คือสิ่งที่โครงสร้างสังคมไทยในรอบ 100 ปี ไม่เคยให้ความสำคัญเลย จึงนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ข้อเสนออยู่ไม่เป็นเป็นการท้าทายโครงสร้างสังคมเดิมที่ไปต่อไม่ได้

ขณะเดียวกันอีกฝ่ายที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มที่อยู่เป็น สะท้อนให้เห็นว่าอยู่เป็นภายใต้เงื่อนไขอะไร อยู่ภายใต้เงื่อนไขความซับซ้อนของโครงสร้างอำนาจอีกชุดหนึ่งที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีแบบแผน ขึ้นอยู่กับอำนาจ ทุกคนต้องอยู่ให้เป็นเพื่อปรับตัวกับอำนาจเท่านั้นเอง แต่ทั้งนี้สภาวะการอยู่เป็น ไม่ตอบโจทย์สภาวะการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นสังคมอีกแบบหนึ่ง แต่คนต้องการเห็นสังคมแบบนี้ก็ถูกท้าทายจากคนที่เรียกว่าตัวเองว่าอยู่เป็น จึงกลายเป็นมวลประชาชนสองก้อน

การจัดงานอยู่ไม่เป็น เป็นไปได้ที่จะเรียกหรือทำให้ประชาชนสนใจ ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่าในทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่ ช่วงจังหวะหลังการเลือกตั้งเกิดกระแสตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนครปฐม ปัญหางูเห่าในพรรค การคัดสรรผู้สมัครท้องถิ่น จนทำให้มีสมาชิกลาออกจากพรรคจำนวนหนึ่ง การปล่อยงานนี้ออกมาอาจทำให้คะแนนความนิยมของพรรคอนาคตใหม่กลับคืนมา ส่วนที่ทุกคนเป็นกังวลกันก็คือนำไปสู่ปัญหาแบ่งสังคมออกเป็นสองข้าง หรือเรียกว่าการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองและทางสังคมใหม่ เราจำวาทกรรมเรื่อง ไพร่ อำมาตย์ ได้หรือไม่ เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดความตื่นตัวในสังคมการเมืองอย่างสูงเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว

ดังนั้น สภาวะการอยู่เป็นและอยู่ไม่เป็น อาจจะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง แต่เนื้อแท้เป็นการพูดถึงความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของสังคม ชนชั้นนำการเมืองเดิมไม่สามารถจัดการปัญหานี้ภายใต้โครงสร้างอำนาจการเมืองแบบเดิมได้เลย จริงๆ เนื้อแท้คือข้อเท็จจริงของสังคมเพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบวาทกรรม เปลี่ยนรูปแบบอีเวนต์ทางการเมืองนั่นเอง

หากมองในเชิงยุทธศาสตร์การเมือง คิดว่าพรรคอนาคตใหม่ฉลาดในการจัดงานนี้ เป็นยุทธศาตร์แหลมคม ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะหากอนาคตใหม่โดนกระทำก็อาจจะทำให้เครือข่ายหรือกลุ่มแฟนคลับ รู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมที่พรรคอนาคตใหม่โดนกระทำก็ได้ และทำให้เห็นว่านี่แหละคือสภาวะการอยู่ไม่เป็น เนื่องจากหากอยู่เป็นต้องอยู่กับอำนาจให้ได้ สยบยอมให้กับผู้มีอำนาจ หากไม่สยบยอมให้กับผู้มีอำนาจต้องเจอแบบพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม หากในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ผลออกมาเป็นทางลบ จะยิ่งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกว่าสังคมไทยไม่เป็นธรรม ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ยังเห็นแก่ผลประโยชน์ของกลุ่มคนชนชั้นนำทางการเมือง จะเป็นความเชื่อของคนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มคนอยู่ไม่เป็น และจะทำเกิดเงื่อนไข เกิดการสร้างพลังหรือความเห็นต่างทางการเมืองในโลกโซเชียลมากขึ้นและอาจมีอีเวนต์อื่นๆ ตามมา นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมต่อไปได้ ขอเน้นย้ำว่าทั้งหมดทั้งมวล เป็นปัญหาในรอบ 100 ปีของสังคมไทย ผูกขาดอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ เป็นสังคมที่ยังไม่สามารถจัดการความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image