สถานีคิดที่ 12 : ศึกนอก-ศึกใน เกมสั้น-เกมยาว : โดย ปราปต์ บุนปาน

โครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบัน-กลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งบางคนแสดงท่าทีเหมือนไม่อยากเข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือแตะต้อง มิได้ส่งผลยากลำบากต่อเพียงพรรคฝ่ายค้านหรือภาคส่วนอื่นๆ ที่ออกมารณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทั่งรัฐบาลเองก็กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากบ่อเกิดอันเป็นปัญหาดังกล่าว

การที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้มีระบบพรรคการเมืองมากมายหลายพรรค ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมนั้น แม้จะสามารถหยุดยั้งพรรคเพื่อไทยได้สำเร็จ

ทว่าการต่อสู้ต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาลย่อมต้องเกิดขึ้น

Advertisement

แม้จะเป็นรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตาม

ความไม่ลงรอยในกระบวนการนิติบัญญัติและการแสดงจุดยืนทางการเมือง ผ่านการออกมาสื่อสารกับสังคมของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน

ภาวะร้าวฉานที่สำแดงผ่านความบาดหมางระหว่างพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในผู้กุมกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ กับสื่อมวลชนเครือหนึ่ง อันกระทบชิ่งไปยังบางคนบางฝ่ายในพรรคพลังประชารัฐ

ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงจุดเปราะบางในสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่อย่างไรเสีย ก็คงมิได้มีจุดมุ่งหมาย-ผลประโยชน์สอดคล้องต้องตรงกันไปเสียทั้งหมด

นี่คือ “ศึกใน” ซึ่งเป็นปมปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขสะสางในระยะสั้น ถ้ายังหวังจะให้รัฐบาลชุดนี้อยู่รอดไปได้ยาวๆ

ขณะเดียวกัน ยังมี “ศึกนอก” อันอาจหมายถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล/อำนาจรัฐกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ หรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายนอกปริมณฑลอำนาจของรัฐบาล

นี่เป็น “เกมระยะยาว” ที่ไม่มีใครมองผลลัพธ์ออก

“ศึกนอก-เกมยาว” ที่ว่า แสดงออกผ่านรูปธรรมเบื้องต้น ณ วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2562

เมื่อพรรคอนาคตใหม่จัดกิจกรรม “อยู่ ไม่ เป็น” อันถือเป็นการทำงานการเมืองนอกสภา (แต่ไม่ใช่การลงถนน) เพื่อสื่อสารความคิด-มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้สนับสนุน (รวมถึงคนกลางๆ ตลอดจนผู้เห็นต่าง)

อีกด้านหนึ่ง “สถาบันทิศทางไทย” ก็จัดเสวนาโต๊ะกลม “อยู่ เย็น เป็นสุข” ด้วยจุดยืน-กลุ่มคนเข้าร่วม ที่แตกต่างจากกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่อย่างชัดเจน

นี่คือรูปแบบการปะทะสังสรรค์ทางความคิด-อุดมการณ์ ที่อาจผลิดอกออกผลเป็นพัฒนาการทางการเมืองบางอย่าง (และย่อมมีทั้งผลบวก-ลบปะปนกันไป)

นี่คือการปะทะสังสรรค์ที่วางฐานอยู่บนบริบททางการเมือง-จุดสมดุลทางอำนาจ ที่ยังไม่นิ่ง หากเต็มไปด้วยพลวัตหรือความไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

นี่คือการปะทะสังสรรค์ที่วางฐานอยู่บนกลุ่มผู้สนับสนุนที่ทั้งชัดเจนและไม่เด่นชัด

(เช่น ถ้าเรามีความเชื่อว่าพลเมืองรุ่นใหม่ส่วนใหญ่คือผู้สนับสนุนสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ แนวโน้มดังกล่าวจะแพร่กระจายลงไปถึงคนอายุเท่าไหร่-รุ่นไหน? และจะยึดตรึงประชากรกลุ่มนี้ไปได้นานเพียงใด? หรือถ้าเราคาดเดาว่ากลุ่มผู้อำนาจ-กลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ๆ หลายกลุ่ม น่าจะเห็นด้วยกับท่าทีแบบสถาบันทิศทางไทย ก็คงต้องตั้งคำถามว่ามีใครบ้างที่พร้อมจะออกแอ๊กชั่นกับคนกลุ่มนี้อย่างหนักแน่นจริงจังเปิดเผย)

นี่คือการปะทะสังสรรค์ที่อ้างอิงตนเองเข้ากับความชอบธรรมคนละแบบ

แน่นอน อาการทางการเมืองเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระลอกความขัดแย้งเรื้อรังที่ถูกบ่มเพาะขึ้นในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไม่อาจเยียวยารักษาให้หายขาดได้ง่ายๆ

นี่คืออาการป่วยที่หยุดยั้งไม่ได้ด้วยการรัฐประหาร, การใช้ความรุนแรง หรือคำพิพากษา/คำตัดสินชี้ขาดอันใดอันหนึ่ง ชุดใดชุดหนึ่ง

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image