การพัฒนาสังคม‘สู่รู้’ : โดย ธงชัย สมบูรณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คนหรือประชาชนคือทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์รวมของรัฐชาติ ย้อนกลับไปยังแนวคิดการพัฒนาผู้คนในรัฐชาติเริ่มมีปรากฏอย่างจริงจังในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาประเทศจากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักมาให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้คนเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด เพราะถ้าผู้คนในรัฐชาติได้รับการพัฒนาที่ถูกทิศทางและมีความเหมาะสมจะส่งผลต่อการพัฒนาได้ดีและมีความยั่งยืนต่อไป ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 นี้ให้ความสำคัญของการพัฒนาคนในทุกๆ มิติ

อาจกล่าวได้ว่าที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจและวิถีการกินดีอยู่ดีเป็นเพียงกระบวนอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้คนในรัฐชาติมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหาใช่เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้การปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแบบแยกส่วนมาเป็นการพัฒนาแบบความเชื่อมโยง (Connected development) และการพัฒนาแบบบูรณาการ (Integrated development) ที่ต้องการมุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

กล่าวคือร่วมคิดร่วมทำร่วมปรับปรุงวิธีการดำเนินงานร่วมได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและร่วมติดตามผล แนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่สำคัญของแผนพัฒนารัฐชาติในฉบับๆ ต่อมา

ความอ่อนแอของสังคมไทยที่มองเห็น

Advertisement

ความเป็นจริงแล้วสังคมไทยมีความเข้มแข็งในหลายมิติไม่ว่าความงดงามทางธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาสัมผัสคือความงดงาม คือวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่ยังมีความงดงามอยู่ แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าความเข้มแข็งเหล่านี้จะกลายเป็นความอ่อนแอและถูกผุกร่อนลงไปทุกที ดังนั้น รัฐชาติจะต้องหาวิธีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ความอ่อนแอของสังคมที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือ

1.สภาพการเมืองที่พบว่าผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนหรือผู้คนในรัฐชาติยังขาดฐานคิดที่เกี่ยวกับส่วนรวม การหยิบยกปัญหาบางประเด็นที่อภิปรายในรัฐสภายังไม่มีความชัดเจนในข้อมูล ยังมีความเป็นพวกเดียวกันที่ปรากฏทางสื่อค่อนข้างชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้นยังขาดความเข้าในคำว่า “มารยาททางการเมือง (Political manners)” ว่าอะไรควรทำในสถานที่นี้สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสามัญสำนึกธรรมดาที่ควรรู้และควรกระทำ

Advertisement

2.สภาพทางวัฒนธรรมที่ถูกผุกร่อนในบางพื้นที่ วัฒนธรรมบางอย่างถูกเผาผลาญจากลูกหลานคนไทยเองโดยเฉพาะวัฒนธรรมที่นิยมความสะดวกสบายมีการเสพวัตถุนิยมเกินไปจนขาดความพอดี การใช้จ่ายที่เกินกำลังความสามารถของตนเองในการบริหารจัดการทางด้านการเงิน ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรมการออมยังไม่ได้ซึมซับเข้าไปในจิตใจอย่างลึกซึ้ง

3.สภาพทางสังคมที่มีความรุนแรงทางอาชญากรรมมากขึ้นทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท การก่อเหตุอาชญากรรมดูเป็นเรื่องปกติวิสัย ประการหนึ่งอาจมาจากความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่ไม่ได้สำแดง “อิทธิฤทธิ์” ให้ผู้คนเกรงกลัว

4.ความอ่อนแอของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงและมีการสื่อสารที่ต่อเนื่องได้อย่างชัด การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ส่วนมากเป็นเรื่องที่หดหู่และไม่สร้างสรรค์

การสร้างสังคม “สู่รู้” ของสังคมไทย

การที่จะทำให้รัฐชาติก้าวไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาในระยะยาวนั้นคือ การพัฒนาที่ทัดเทียมสังคมโลกและเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการพัฒนาและก้าวไปสู่สังคม “สู่รู้” ที่ชัดเจนทั้งนี้รัฐสามารถทำได้ดังนี้

1.จะต้องสร้างการ “ใฝ่รู้” ที่ถูกต้องโดยเฉพาะความเป็นสังคมที่ใหม่และทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยีเป็นสังคมซุปเปอร์ไซต์ (Super Sight) มีการผนวก 5G เทคโนโลยีที่นำภาพเสมือน (Augmented Reality= AR) การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง (Virtual reality = VR) โดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส แม้กระทั้งกลิ่น โดยจะตัดขาดออกจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันเพื่อเข้าไปสู่ภาพที่จำลอง รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence=AI) ซึ่งหมายถึงความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต คนไทยในอนาคตต้องรับรู้ในปัญญาประดิษฐ์ให้ชัดเจนด้วย รัฐชาติต้องส่งเสริมการใฝ่รู้ที่ถูกต้อง มีการสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ที่ถูกและต้องปราศจากการเลียนแบบที่ผิดวิธี “คนที่เป็นตัวแบบหรือคนสาธารณะ” ทั้งหลายจะต้องเป็นแกนนำที่ดีด้วย และสิ่งที่ง่ายที่สุดคือการปลูกฝังให้รักการอ่านข้อความรู้ต่างๆ ให้เป็นปกติวิสัยก็จะนำไปสู่การใฝ่รู้ที่เป็นปฐมบทในอนาคตได้อย่างงดงาม

2.จะต้องสร้างการ “รับรู้” โดยเฉพาะการรับรู้ในศีลธรรมจริยธรรมที่ถูกต้อง ในปัจจุบันดูเหมือนว่าการรับรู้ของผู้คนจะเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสิ่งที่ไม่มีผลต่ออะไรทั้งสิ้น เช่น อาชญากรรมและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา กฎหมายบางหมวดที่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ทำให้หลายคนรับรู้ว่า “มีอำนาจ” สามารถเปลี่ยน “ดำให้เป็นขาว” ได้ นอกจากนี้ผู้คนในรัฐชาติต้องได้รับรู้ในระบบสื่อสารที่ถูกต้องเพราะยังมีข้อมูลหลายอย่างที่ถูกปิดบัง สังคมไทยที่ดีงามตามครรลองเพื่อการพัฒนานั้นต้องมีการรับรู้ในทุกเรื่องและที่สำคัญต้องปลูกฝังให้รับรู้ต่อว่า ชาติคือผลรวมของผู้คนทั้งชาติ มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ก็จะเป็นการรับรู้ที่มีค่ายิ่งนัก (the great perceived)

3.จะต้องสร้างการ “เรียนรู้” ให้เกิดเป็นรูปธรรมและตรงกับจริตของการพัฒนาประเทศ การเรียนรู้ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนจนเรียกได้ว่าหาทิศทางไม่พบ ไม่ว่าระดับกระทรวงหรือระดับองค์กร ซึ่งเป็นที่อดสูอย่างยิ่งราวกับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์หาใช่การพัฒนาที่แท้จริง นอกจากนี้สิ่งที่รัฐควรหยิบยื่นให้กับผู้เรียนคือมิติ “เรียนรู้เพื่อชีวา” มากกว่าการเรียนรู้เพื่ออัตตา ยิ่งไปกว่านั้นงบประมาณการพัฒนาทางการเรียนรู้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่องก็จะทำให้เป็นสะพานสู่การพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นและจะทำให้ไม่เกิดสภาพที่เรียกว่า “ความตื้นเขินของการเรียนรู้”

4.จะต้องสร้างการ “ตื่นรู้” ให้ผู้คนในรัฐชาติมากขึ้น กล่าวคือมีการส่งเสริมการปรับตัวของผู้คนให้เข้ากับสถานการณ์จริงทุกอย่าง สถานศึกษาทุกระดับต้องมีการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และออกจากมายาคติทั้งปวง มีการสอนให้เข้าใจในความจริงของธรรมชาติที่ตนเองต้องสัมผัสและต้องใช้ชีวิตให้กลมกลืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการชี้แนวทางที่ปรากฏทั้งในบทเรียนและต้นแบบที่ดีจากสังคมด้วย สิ่งเหล่านี้คือการชี้นำให้ถึงปัญญา ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างสังคมตื่นรู้ในสังคมไทยต้องให้ผู้คนไม่ติดกับดักในความไม่รู้ในความจริงด้วยประการทั้งปวงเพราะการไม่รู้จริงจะนำไปสู่สภาวะอวิชชา หรือความหลงไปได้ในที่สุด

วิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างสังคมตื่นรู้นั้นต้องตระหนักและรู้ได้ด้วยใจที่ว่า “ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นตามธรรมชาติและการกระทำทางสังคมนั้น สังคมอย่าได้บิดเบือนความจริงเป็นเด็ดขาด”

ความจริงของสังคมไทยที่ก้าวไปสู่สังคม “สู่รู้” ได้เป็นอย่างดีและทันกับรัฐชาติอื่นนั้น ผู้เขียนมองว่าจะไม่ยากเลยถ้าหากรัฐชาติลองหยิบเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ที่มีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างสังคมไทยในลักษณะที่ว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมเอื้ออาทร สังคมสมานฉันท์” ขึ้นมาพิจารณาทบทวนไตร่ตรองและหาความเชื่อมโยงกับความทันสมัยที่เกิดขึ้น

สุดท้ายสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสู่รู้จาก “ผู้รู้” อย่างชัดเจนและที่สำคัญคงจะไม่มีคำถามว่า “ผู้นำกับผู้รู้” คือคนเดียวกันหรือไม่…อย่างแน่นอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image