นักวิชาการ-เอกชน ชี้ทางออก-แก้‘จีดีพี’ตก

หมายเหตุความคิดเห็นกรณี สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ขยายตัว 2.4% รวม 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2562 อยู่ที่ 2.5% ทำให้ สศช.ปรับประมาณการจีดีพีของปีนี้ใหม่ อยู่ที่ 2.6% จากเดิมคาดว่าจะโตได้ที่ 3% ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ออกมายังแย่อยู่ แม้จะปรับเพิ่มจากไตรมาส 2 ขึ้นมา แต่ก็ขึ้นมาได้ไม่มาก หากดูตัวเลขในไตรมาส 1 ของปี 2562 จีดีพีทำได้ 2.8% ไตรมาส 2 ทำได้ 2.3% เพราะฉะนั้นครึ่งปีแรกจึงทำได้ประมาณ 2.55% พอไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% ทำให้ทั้ง 3 ไตรมาสรวมกันอยู่ที่ 2.5% ทำให้ตัวเลขจีดีพีออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการของหลายสำนักที่คาดการณ์จีดีพีไว้ แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ประเมินไว้สูงกว่าตัวเลขจริงที่ออกมา ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีลงอย่างต่อเนื่อง จาก 3.5% เหลือ 3% จนมาล่าสุดเหลือ 2.6% ทั้งปี ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เพราะหากจำได้ จะเห็นว่ารัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาท หวังว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้โตไม่ต่ำกว่า 3% ได้ สะท้อนให้เห็นว่าแรงกระตุ้นของมาตรการเหล่านี้ยังอ่อนแออยู่

Advertisement

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตไป อาทิ ประเทศจีนที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 27 ปี อยู่ที่ 6% สหภาพยุโรปโตลดลงเหลือประมาณ 1% รวมถึงญี่ปุ่นที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสล่าสุดก็อ่อนแอลงเช่นกัน ผลกระทบจากภายนอกจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยโตติดลบอย่างชัดเจนมากขึ้น ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกติดลบไปแล้ว การกระตุ้นของภาครัฐก็ยังไม่ได้แข็งแรงมากนัก เพราะงบประมาณต่างๆ ยังไม่สามารถออกมาได้ ทำให้ตัวกระตุ้นจีดีพีในปีนี้ ทั้งภาคการส่ง การลงทุนภาครัฐก็แย่ การลงทุนของภาคเอกชนทรงตัว การบริโภคในประเทศก็ยังไม่ได้แข็งแรงมากนัก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นคือ การที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นกว่า 78% ของจีดีพี ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทำได้แค่ 2.5-2.6% เท่านั้นแน่นอน ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4-5 ปีทีผ่านมา

ตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะโต 2.6% ถือว่าต่ำมาก กระทั่งตัวเลขจีดีพีของปี 2561 ที่โต 4.1% ถือว่าเป็นการเติบโตที่สูงมากของประเทศไทย แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในประเทศสมาชิกอาเซียน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของอาเซียนโตเฉลี่ยทำประมาณ 5.3% ประเทศไทยทำได้ 3.8% ไทยชนะอยู่ประเทศเดียวคือ บรูไนที่จีดีพีเฉลี่ยประมาณ 1.5% ทำให้ปี 2561 จะสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เรียกว่าอัตราการเติบโตอ่อนแอ เป็นภาพฉายของเศรษฐกิจในเชิงโครงการที่ไม่ใช่เป็นเพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับสภาวะของการปรับตัวไม่ทันกับโลกของการเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศในแถบอาเซียนมีการเติบโตชนะไทย ยกเว้นบรูไนเท่านั้น แสดงว่าไทยกำลังอยู่ในฐานะที่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างในการแข่งขันสู้ประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ได้

รัฐบาลในตอนนี้ พูดง่ายๆ ว่าเทจนหมดกระเป๋าแล้ว การจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรมา ก็มีข้อจำกัดในส่วนของงบประมาณ คงไว้ในลักษณะของงบลงทุนที่สามารถใช้ได้เต็มที่ แม้จะเตรียมไว้ในลักษณะของการขาดดุลแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ไม่ใช่ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ชิมช้อปใช้ แต่ต้องเป็นการดำเนินมาตรการในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ปรับปรุงเรื่องของโครงสร้างภาคเกษตรกรรม สินค้าเกษตรต่างๆ ให้ครบวงจรมากขึ้น ปรับปรุงในส่วนของการกระจายรายได้ และปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ เพราะตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถแข่งขันได้ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้แล้ว

Advertisement

ทั้ง 3 เรื่องนี้จะต้องรีบดำเนินการให้ดีในระยะยาว เพราะตอนนี้ที่ทำกันอยู่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง

รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

สิ่งที่ สศช.แถลง เป็นเรื่องคาดการณ์ได้อยู่แล้ว ประเด็นที่แถลงหลักๆ เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ เทรดวอร์และเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ การส่งออกจึงลดลง ติดลบไปหลายเปอร์เซ็นต์ การบริโภคภายในและการลงทุนจึงแผ่วลง แต่เมื่อมองในระยะยาวถือเป็นเรื่องปกติเพราะเมืองไทยเป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว อย่างน้อย 5-6 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตสูงสุดได้ 3-4 เปอร์เซ็นต์ บางปีได้ 1 เปอร์เซ็นต์หรือติดลบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายนอกเป็นหลัก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหลักๆ คือปัญหาเรื่องการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เราถูกบีบจากทั้งข้างบนและข้างล่าง ไปข้างหน้าไม่ได้ กล่าวคือ ไปแข่งกับประเทศที่มีเทคโนโลยี มีตรายี่ห้อเป็นของตัวเอง อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น เช่นนี้เราไปไม่ถึง เนื่องจากระดับความสามารถในการผลิตของเราไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกันก็ถูกบีบจากข้างล่าง เกิดจากการไล่ตามขึ้นมาของเศรษฐกิจรอบข้างเราที่เกิดใหม่ เช่น เวียดนามได้รับเลือกพันธุ์ข้าวดีเด่นเบอร์ 1 ของโลก แทนข้าวไทยมา 2-3 ปี รวมทั้งเวียดนามมีประชากรมาก มีตลาดขนาดใหญ่ ประชากรอายุน้อยกว่าเรา แรงงานเหลือเฟือ ที่ดินราคายังไม่แพง ทำให้ต่างชาติแห่เข้าไปใช้เป็นฐานลงทุน ในรอบหลายปีที่ผ่านมา อัตราการลงทุนหลายเท่าจากต่างประเทศมายังไทยน้อยกว่าที่คนไทยส่งทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ คือ อาการที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเชิงโครงสร้าง เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี เช่น เกิดสงครามการค้า เกิดเบร็กซิท เราก็ทรุดไปเลย

ส่วนนโยบายรัฐที่ออกมาก็ต้องไปดูตามด้วยว่าจะเปลี่ยนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐที่ไม่ใช่กิมมิก ไม่ใช่ชิมช้อปใช้ ไม่ใช่บัตรคนจน แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ ความสามารถในการแข่งขัน พูดถึงเฉพาะการเจริญเติบโตไม่พูดถึงการกระจายรายได้ปัญหาเดียว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันลดลงทำให้เราโตช้าลง นี่คือปัญหาเดียวที่เป็นปัญหาโครงสร้าง กล่าวคือ เรามีความสามารถในการผลิตไม่เพียงพอ แรงงานเราแก่ ค่าแรงเราสูงขึ้น เทคโนโลยีเราไม่พอ

ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในปี 2563 สิ่งที่ควรจะต้องเน้น คือ การแก้ที่โครงสร้าง ควรจะต้องเลิกนโยบายทาหน้าปะแป้ง และทุ่มงบประมาณไปโฟกัสที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ทำอยู่พอสมควร แต่จะมีประสิทธิภาพหรือคุ้มค่าหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถกเถียงกันได้ไม่ว่าจะเป็น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ (Infrastructure) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในงบวิชาการพัฒนาที่มากขึ้นหรือการพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งไม่มีใครพูดถึง

เราสูญเสียการพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์มาเป็นระยะเวลายาวนานมาก ความสามารถในการแข่งขันที่เคยเป็นข้อเด่นในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ธนาคารโลกบอกชัดเจนว่าความสามารถในด้านต่างๆ ของเราโดยเฉพาะ
อินฟราสตรักเจอร์ ทั้งถนน สนามบิน รถไฟ ระบบรางทั้งหมด ประเทศอื่นตามเราทันแล้ว ทั้งที่เมื่อ 10 ปีก่อนเราได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราสูญเสียความสามารถในการลงทุนด้านนี้

สังคมไทยไม่ใช่ไม่มีเงิน เงินล้นระบบธนาคาร เพียงแต่ว่าเราสูญเสียความสามารถ กระทั่งการจะสร้างอินฟราสตรักเจอร์ที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนที่ทักษิณ ชินวัตร จะถูกรัฐประหารปี 2549 เราพูดถึงเมกกะโปรเจ็กต์ ยังไม่ทันถึงไหนก็ทำรัฐประหาร ปี 2549 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทก็ถูกตีตกไป ชี้ให้เห็นว่าเป็นการพลาดโอกาสไป โอกาสที่รัฐบาลเทคโนแครตในอดีตที่ผ่านมาเห็นความจำเป็นในการสร้างอินฟราสตรักเจอร์เหล่านี้มาตั้งนานแล้ว เนื่องจากไม่มีการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง อินฟราสตรักเจอร์ที่เรามีอยู่ เกิดขึ้นก่อนยุคฟองสบู่แตกไม่ทันกับการเติบโตรอบข้างที่แข่งขันจนตามเรา

ในรอบความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เรื่องใหญ่ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่มีสมาธิ ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็เข้ามาทำแต่ Cosmatic ใครเป็นคู่แข่งก็ตัดขาไม่ให้สร้าง ส่วนควรจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น มองว่าการกระตุ้นการสร้างอินฟราสตรักเจอร์เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตัวมันเองอยู่แล้ว คือการเพิ่มงบประมาณใช้จ่าย ทั้งการก่อสร้างที่จะต้องจ้างแรงงาน ซื้ออิฐหิน ดิน ปูน ทราย เพียงแต่หลังโปรเจ็กต์จบจะมีเครื่องมือในการทำมาหากินต่อไปหรือไม่ ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชิมช้อปใช้ และการกระตุ้นการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ที่หายไปในอากาศเมื่อจบแล้ว กระทั่งการจำนำ การอุดหนุนราคาพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดซึ่งเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องทำ เพราะเกษตรกรจะไม่มีกิน แต่ต้องลดเรื่องเช่นนี้ลงไปเรื่อยๆ ต้องไปลงทุนในภาคการเกษตรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น คิดค้นเครื่องจักรเพื่อทดแทนยาฆ่าหญ้าที่ไม่ให้เกษตรกรใช้ การ
กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่แค่อุดหนุนพืชผลการเกษตรที่ใช้งบปีละหลายแสนล้าน ในระยะสั้นมีความจำเป็น เพียงแต่ต้องโฟกัสในระยะยาวกับเรื่องเช่นนี้มากขึ้น

รัฐบาลที่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีความชอบธรรมทางการเมือง รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองมักจะหวังผลระยะสั้นทั้งนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะออกโปรเจ็กต์แบบแต่งหน้าทาปากเช่นนี้ขึ้นมา

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลควรเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการชิม ช้อป ใช้ ต่อไป อาจเป็นเฟส 4 และเฟส 5 ภายใต้เงื่อนไขการปรับหลักเกณฑ์ให้การใช้เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มากที่สุด ให้กระจายลงชุมชน หมู่บ้าน ตรงเป้าหมายโครงการ ให้เงินในระบบหมุน 4-5 รอบ เพราะมีประสบการณ์จาก 3 เฟสแรกแล้ว หากไม่ดำเนินการอาจถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ

คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ และตัวเลขส่งออกลดลง ตาม สศช.ในเดือนธันวาคมนี้ เดิม กกร.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวระดับ 2.8-3.0% และส่งออก -2.0-0%

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้า ในเมื่อไทยยังพึ่งพารายได้จากการส่งออกถึง 70% ทั้งที่ปัจจุบันมีปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีนยังยืดเยื้อ บวกกับสถานการณ์เงินบาทของค่าไทยที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตได้คือการพึ่งพาในประเทศ น่าได้ผลดีที่สุดในเวลานี้ คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ แม้ไทยจะประสบปัญหาจากเงินบาทแข็งค่าทำให้ต้นทุนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้ยังสูงอยู่ถึงประมาณ 40 ล้านคน ภาครัฐ โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ควรตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวในอนาคตให้ถึงระดับ 50-60 ล้านคน

ไทยต้องดูจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวและบริการ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยว อาหาร บริการที่เป็นมิตร บุคลากร และความปลอดภัย โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งระบบให้ความสำคัญมากๆ ใช้บทเรียนจากเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต จนทำให้นักท่องเที่ยวจีนกังวลความปลอดภัยจนตัวเลขท่องเที่ยวลดลง แต่ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น ในด้านบริการต่างๆ ทั้งภาคการขนส่ง ร้านอาหาร ร้านเครื่องประดับ ต้องมีความเป็นธรรมกับนักท่องเที่ยว ราคาต้องยุติธรรม ไม่ฉวยโอกาส

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งเสนอให้รัฐบาลจัดแคมเปญ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ พลัสทรี คือ บวกแรกคือ กู๊ด (Good) หรือดี อาจเป็นกู๊ดฟู๊ด อาหารที่อร่อย คุณภาพดี ราคาไม่แพง อย่างสตรีทฟู้ดเมืองไทยมีชื่อเสียงควรนำเสนอมากๆ ต่อมา กู๊ดทราเวล สถานที่ท่องเที่ยวดี สวยงาม ดึงดูดใจ และกู๊ดโลเกชั่น โดยนำเสนอว่าการมาเที่ยวไทยไม่ใช่แค่ประเทศเดียว สามารถเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นในอาเซียนได้ง่าย บวกที่สอง คือ ฟัน (Fun) ควรชูความสนุกจากเทศกาลต่างๆ ในไทย อาทิ สงกรานต์ที่ดังไปทั่วโลก วัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ภูมิภาค

และบวกที่สาม คือ เซฟ (Safe) เรื่องนี้สำคัญเพื่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยว ควรดูแลทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความปลอดภัยจากอาหารที่มีคุณภาพก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
ที่ปรึกษาประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา

ผมมีความเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 5 ข้อด้วยกัน 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังขาดความเป็นเอกภาพ มีแค่นโยบายกระตุ้นเหมือนยาแก้ปวด ยังไม่เพียงพอ หากเทียบกับคนป่วย ต้องเข้าห้องไอซียูแล้วรีบผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตไว้ก่อน 2.ปัญหาเศรษฐกิจมีผลต่อปัญหาสังคมมาก จะเห็นข่าวคนเครียดและฆ่าตัวตายมากขึ้น การทำผิดกฎหมายโดยคนที่ไม่เคยมีประวัติเริ่มมากขึ้น เช่นการปล้นธนาคาร ปล้นร้านทอง สังคมเกิดความขัดแย้งกันเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่น่าเป็นห่วงมาก คือเมืองท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถูกทำร้ายเพื่อแย่งชิงทรัพย์ 3.เศรษฐกิจกับการเมือง วันนี้นักการเมืองใช้เวลาด้านการเมืองมาก การไขปัญหาเศรษฐกิจมีการพูดถึงกันน้อยมาก นักการเมืองที่รับผิดชอบงานด้านนี้ก็ยังเป็นมือใหม่มองปัญหาไม่ทะลุ 4.ในต่างจังหวัด ยังขาดหน่วยงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำกันอยู่จะเป็นงานอีเวนต์และงานตามนโยบายเท่านั้น ควรรื้อฟื้น กรอ.จังหวัดมาเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และ 5.เมืองที่มีเศรษฐกิจผูกอยู่กับอุตสาหกรรม น่าเป็นห่วงมาก เช่น จ.นครราชสีมา มีตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าในช่วง 10 เดือนของปีนี้ มีการปิดโรงงานทั้งประเทศไปแล้วจำนวน 1,339 โรง มีมูลค่าถึง 56,000 ล้านบาท มีคนตกงานแล้ว 30,000 คน

ปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาสำคัญที่สุดในเวลานี้ กลุ่มสายป่านสั้นไปก่อนแล้ว ที่เหลืออยู่คือพวกสายป่านยาว แต่เริ่มมีข่าวไม่ดีกันแล้ว ทั้งสายการบิน ธนาคาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

จรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบูรณ์
ประธานหอการค้า จ.พระนครศรีอยุธยา

เห็นด้วยกับแนวทางที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขอให้รัฐบาลชะลอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน มองว่า ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไปชะลอตัวบวกกับค่าเงินบาทของไทยแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง และสหรัฐอเมริกายังมาประกาศตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าจากประเทศไทย โดย 3 สาเหตุหลักนี้ ทำให้สถานประกอบการด้านธุรกิจในประเทศ ย่ำแย่อยู่แล้ว หากรัฐบาลมาเร่งรัดเพื่อจะขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำในช่วงนี้ตามที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้นักลงทุนอาจต้องเลิกกิจการ เพราะไม่สามารถทนแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันเพื่อขายสินค้าในตลาดโลก จะลดน้อยลง เพราะเรามีต้นทุนทุกอย่าง สูงกว่าประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า

เสนอว่า หากจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องมีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำก็ควรขึ้นแบบขั้นบันได เช่นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันค่าแรงขึ้นต่ำอยู่ที่ 320 บาท/วัน และรัฐบาลต้องการขึ้นเป็น 400 บาท/วัน หากรัฐบาลประกาศอยู่ครบ 4 ปี ก็เสนอให้ขึ้นปีละ 20 บาท/วัน รวม 4 ปี ก็ขึ้นครบ 80 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของนักลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image