วิพากษ์ระเบียบคุมกมธ. ตรวจสอบหรือแทรกแซง

หมายเหตุความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ทำหน้าที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ในสภาผู้แทนราษฎร กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562 โดยให้ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

เทพไท เสนพงศ์
ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ในฐานะรองประธาน กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร

กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมาธิการต่างๆ ส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุนการออกระเบียบดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภาโดยตรง ที่สามารถออกระเบียบเกี่ยวกับกิจการใดๆ ของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภา นับว่าเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่ประธานสภาได้จัดระเบียบการทำงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐสภา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการทำงานของระบอบรัฐสภาต่อไป

เชื่อว่านายชวนเป็นนักกฎหมาย แม่นข้อบังคับการประชุมสภา จะไม่มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างแน่นอน เพราะการออกระเบียบในครั้งนี้ เป็นการออกระเบียบตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 90 ไม่ใช่การลุแก่อำนาจ หรือทำไปตามอำเภอใจ เพื่อกลั่นแกล้งใครคนใดคนหนึ่ง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะใช้เป็นแบบอย่างหรือแนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการทุกคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชุดนี้ มีประธานคณะกรรมาธิการที่มาจาก ส.ส.สมัยแรกจำนวนมากถึง 11 คณะ ยังขาดประสบการณ์ในการทำหน้าที่ เพราะไม่เคยนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการมาก่อน ถ้าไม่มีการวางกรอบหรือแนวทางในการทำงานให้เป็นอย่างที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการไม่บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุมสภา และรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้

Advertisement

สำหรับสภาชุดนี้ ที่มีนายชวนเป็นประธานรัฐสภา เปรียบเสมือนประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ นายชวนได้วางตัวเป็นกลาง และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมทุกประการ เป็น ส.ส.ที่มีอาวุโสสูงสุดในสภา ได้เห็นการทำงานของสภามาเป็นเวลายาวนาน อยากให้เพื่อน ส.ส.ทุกคนได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนภารกิจที่สำคัญในขณะนี้ คือการกอบกู้ศรัทธาและเรียกความเชื่อมั่นของรัฐสภากลับคืนมาให้เร็วที่สุด

จิรายุ ห่วงทรัพย์
ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.)
ในฐานะประธาน กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน

การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกประกาศลักษณะนี้ ออกมาอย่างไรก็กระทบการทำงานของ กมธ. แต่ที่ผมแปลกใจคือ นายชวนชี้แจงว่า เป็นเรื่องเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนอยู่แล้ว คือถ้าเป็นเรื่องเดิมแบบนั้น ประธานสภาจะออกประกาศมาอีกทำไม ที่ผ่านมาในทางปฏิบัติผมก็ไม่เคยเห็น เพราะการเชิญใครมาชี้แจงใน กมธ. ผู้อำนวยการสำนัก กมธ.แต่ละคณะ และเจ้าหน้าที่สภาจะต้องเป็นผู้เชิญ ซึ่ง ผอ.สำนัก กมธ.แต่ละคณะต้องรู้อยู่แล้วว่าจะเชิญใคร ก็สามารถไปรายงานต่อประธานสภาได้อยู่แล้ว ไม่ต้องให้ใครไปรายงาน เพราะถ้าจะให้ไปรายงานทุกวันศุกร์ ส่วนตัวผมไม่มีเวลาไปรายงานหรอก เพราะเป็นงานเอกสาร โดยที่แต่ละสัปดาห์จะเชิญใคร กมธ.จะมีเอกสารออกเชิญอยู่แล้ว

Advertisement

นายชวน ฐานะประธานสภาต้องอธิบายให้ชัดว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เพราะโดยปกติตามธรรมเนียมปฏิบัติก็รายงานตามปกติอยู่แล้ว เราไม่ได้จะต้องขออนุมัติว่าจะเชิญใครก่อนนี่ เพราะเป็นมติ กมธ. แต่ที่ตลกคือตรงประธานออกประกาศเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน หรือไม่ซ้ำซ้อน เพราะไม่ใช่หน้าที่ของประธาน เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ และ ผอ.สำนัก การทำแบบนี้ก็ต้องถามว่าท่านประธานมีเป้าประสงค์อะไร และถ้าบอกว่ากลัวเรื่องจะซ้ำซ้อนก็ไม่จำเป็นต้องออกประกาศ ทำตามกระบวนการก็จบ ทั้งนี้ การทำแบบนี้ของประธานขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 129

“…คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ แต่การเรียกเช่นว่านั้นมิให้ใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยตรงในแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับ ให้ข้อเท็จจริงส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก…” ซึ่งตอนนี้เราก็รอดูอยู่ว่าเขาจะเอาอย่างไร เพราะประกาศเขาก็ออกมาลอยๆ โดยไม่ได้แจ้งไปทางประธาน กมธ.ก่อนแต่อย่างใด

ถ้าประธานสภาจะเรียกก็เรียกเจ้าหน้าที่สภาที่อยู่ใน กมธ.ไปชี้แจงเอง เนื่องจากเราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปชี้แจง ผมไม่ติดใจเรื่องที่ประธานสภายกเหตุผลเรื่องการทับซ้อนกันขึ้นมาชี้แจง อย่าลืมว่า กมธ. 35 คณะทับซ้อนกันแน่นอน เช่น กมธ.กีฬา ดูเรื่องกีฬา แต่คณะของผมดูเรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วแบบนี้ทับซ้อนไหม สมมุติถ้ามีคนมาร้องผมว่ามีการทุจริตในสมาคม

ยิงปืนแบบนี้ผมก็ส่งเรื่องต่อไป กมธ.กีฬา ในมุมของผม นายชวนไม่ควรกลัวเรื่องทับซ้อนหรอก เพราะยิ่ง กมธ.ทำเรื่องเดียวกัน 3 คณะ ก็ยิ่งดีต่อประชาชน เพราะ 3 คณะย่อมศึกษาไม่เหมือนกัน และ กมธ.แต่ละคณะมีองค์ความรู้ไม่เหมือนกัน ประชาชนได้ประโยชน์ แล้วเราจะห่วงอะไรถ้าประชาชนได้ประโยชน์ ข้าราชการไม่เสียเวลาชี้แจงมากหรอก ชี้แจงอาทิตย์ละไม่กี่ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ คุณเริ่มคิดเรื่องพวกนี้จาก กมธ.ป.ป.ช.ใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็ทำไปตามแนวทางปฏิบัติ

ชำนาญ จันทร์เรือง
รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)
ในฐานรองประธาน กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

ถ้าว่ากันแฟร์ๆ ปกติเวลาการออกข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร หรือกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องกับสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องไปออกระเบียบให้มีรายละเอียดมากขึ้น กรณีของข้อบังคับสภา มาตรา 90 วรรคสี่ กำหนดเพียงว่า “เมื่อคณะกรรมาธิการสามัญจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ให้คณะกรรมาธิการสามัญรายงานให้ประธานสภาทราบ ในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกัน ในกรณีที่การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาในเรื่องใดมีความเกี่ยวข้องกัน ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะต้องดำเนินการให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันดำเนินการ” อธิบายง่ายๆ ว่า เป็นข้อบังคับเพื่อไม่ให้ กมธ.แต่ละคณะทำงานซ้ำซ้อนกัน คือในอดีต คนคนเดียวถูก กมธ.หลายคณะเรียกพร้อมกัน เพราะมีเรื่องใกล้เคียงกัน ซึ่งประธานก็จะพิจารณาให้นำเรื่องมารวมกัน เพื่อไม่ให้เป็นการผูกพันกับคนอื่น

แต่ระเบียบที่ออกมา ด้วยความปรารถนาดีอย่างไรก็ไม่ทราบ มันทำเกินไปนิดหนึ่งในความเห็นของผม ที่บอกว่าจะเชิญใครต้องแจ้งประธาน ซึ่งไม่เคยมีในอดีต เพราะเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่าง กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

สภาผู้แทนราษฎร ที่ผมอยู่ วันหนึ่งมีเรื่องเข้ามา 3 ราย 1 รายมีผู้ถูกร้อง 10-30 คน ซึ่งบางทีก็มา บางทีก็ไม่มา บางทีก็ฉุกเฉินมาตอบรับตอนเช้า ซึ่งไม่สามารถรายงานล่วงหน้าได้ ในประเด็นที่สงสัยว่าการแสดงความเห็นของนายชวน เป็นไปเพื่อปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผมไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ กมธ.จะมีอำนาจเรียกคน เรียกเอกสาร แต่กฎหมายก็มีบทลงโทษไว้เช่นกัน หากมีเจตนากลั่นแกล้งคนถูกเรียก

การออกหรือเปลี่ยนข้อบังคับในแต่ละครั้ง จะออกเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะข้อบังคับจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งข้อบังคับฉบับที่แล้ว ออกตามรัฐธรรมนูญ 2550 พอมีสภาใหม่ ก็ต้องปรับให้เข้ากับรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนที่นายชวนกล่าวอ้างว่า ข้อบังคับนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ต้องตอบว่า ใช่ ที่มีข้อบังคับมานานแล้ว แต่ที่ระบุว่าให้ กมธ.รายงานประธานสภาทุกวันศุกร์ ยังไม่เคยมี ส่วนตัวคิดว่ารายละเอียดนี้ทำโดยฝ่ายกฎหมายที่ยกร่างไป ในทางปฏิบัติทำไม่ได้

การปฏิบัติหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย มีความเป็นกลาง หรือเหมาะสมหรือไม่ ก็อยากตอบว่า แน่นอนว่าตอนนี้นายชวน คือตัวเลือกที่ดีที่สุด ถ้าถามว่าเป็นกลางไหมก็ต้องบอกว่า ไม่มีใครในโลกที่เป็นกลาง หาไม่ได้ แต่ว่าจะเอียงมากเอียงน้อยเท่านั้น บางครั้งเราก็สงสัยว่า ตกลงท่านเป็นประธานหรือสปีกเกอร์ เพราะบางทีท่านก็พูดยาวอบรมสั่งสอน ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของประธาน แต่ก็ยังไม่ถึงกับน่าเกลียด การที่นายชวนออกมาพูดแบบนี้ เป็นการพยายามผูกขาดอำนาจหรือไม่ ผมมองว่านายชวนพยายามจะทำอะไรให้สภาขับเคลื่อนได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ของท่าน ภาพรวมท่านก็มีความพยายามในการทำงานให้ดี แต่ผมมองว่าน่าจะมีทีมงานที่มาจากหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดไอเดียหลากหลาย และมีสภาที่พัฒนาการก้าวหน้ากว่านี้ แต่แน่นอนที่ท่านต้องนำคนจากพรรคประชาธิปัตย์มาทำงาน เพราะท่านมาจากพรรคประชาธิปัตย์ กฎข้อบังคับคือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถแก้ไขได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการล้วงลูก กมธ.หรือไม่นั้น ผมมองว่าเป็นการระบุที่ลงรายละเอียดมากไปหน่อย บางทีก็ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจ กมธ.ตัดสินใจเองบ้าง

———————

ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562

โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และ ข้อ 90 วรรคหก แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562 ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 ในระเบียบนี้ “ประธานสภา” หมายความว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร “คณะกรรมาธิการ” หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร “ที่ประชุม” หมายความว่า ที่ประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ

ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะรายงานต่อประธานสภาทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป

ข้อ 5 ให้ประธานสภาตรวจสอบรายงานตามข้อ 9 หากพบว่ามีคณะกรรมาธิการมากกว่าหนึ่งคณะจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกัน ให้ประธานสภาแจ้งให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทราบโดยไม่ชักช้า และจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ เพื่อร่วมกันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ไม่อาจยุติการดำเนินการดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ประธานสภาแจ้งให้ทราบ

ข้อ 6 การร่วมกันดำเนินการตามข้อ 5 อาจพิจารณาดำเนินการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้น โดยตกลงร่วมกันให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องคณะใดคณะหนึ่งเป็นประธานในการดำเนินการดังกล่าว หากไม่อาจตกลงกันได้ ให้ประธานสภาเป็นผู้กำหนด (2) ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้น โดยให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งเป็นหลักในการดำเนินการ และให้คณะกรรมาธิการคณะอื่นที่เกี่ยวข้องส่งกรรมาธิการตามจำนวนที่ที่ประชุมกำหนดเข้าร่วมการดำเนินการนั้นด้วย (3) แนวทางอื่นที่ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้ร่วมกันดำเนินการตาม (1) (2) หรือ (3) แล้ว ให้ประธานสภาแจ้งคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ 7 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด

ข้อ 8 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image