รายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรธน. มติ7ต่อ2สั่ง ‘ธนาธร’พ้นเก้าอี้ส.ส.

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายนุรักษ์ มาประณีต เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากกรณีถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่

โดยในห้องพิจารณาคดีฝ่าย กกต.(ผู้ร้อง) มีผู้อำนวยการสำนักและวินิจฉัยเข้าร่วมรับฟังคำวินิจฉัย ขณะที่ฝ่าย (ผู้ถูกร้อง) นายธนาธรเดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยมีนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ติดตามมาให้กำลังใจด้วย ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลจะเริ่มอ่านคำวินิจฉัย เจ้าหน้าที่ศาลได้แนะนำผู้ร่วมรับฟังคำวินิจฉัยภายในห้องพิจารณา อยู่ในความสงบไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร อย่าแสดงกิริยาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้

จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มอบให้นายปัญญา อุดชาชน และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นตุลาการร่วมอ่านคำวินิจฉัย ความว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบ รวมทั้งการไต่สวนพยาน คำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีแล้ว มีข้อเท็จริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิก ส.ส.ของนายธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ และนับตั้งแต่เมื่อใด

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ได้มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป และวันที่ 24 มกราคม 2562 มีประกาศ กกต.เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. วันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต สถานที่ที่พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 และกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 โดยพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีรายชื่อนายธนาธร อยู่ในลำดับที่ 1

Advertisement

ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 กกต.ในฐานะผู้ร้อง ได้มีประกาศ กกต. เรื่อง ผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยปรากฏรายชื่อนายธนาธร เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ แต่นายธนาธร ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำนวน 6 แสน 7 หมื่น 5 พันหุ้น ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 โดยรับหุ้นจากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2562 บริษัท วี- ลัค มีเดีย ได้แจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แบบ บอจ.5 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) บัญญัติให้สมาชิก ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (3) บัญญัติให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์และสื่ออาศัยความได้เปรียบเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง หรือใช้อำนาจครอบงำสื่อมวลชน จนทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางได้

ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งประการแรกว่า ประเด็นการไต่สวนและยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น เห็นว่า มาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต. มีหน้าที่และอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่เห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส. มีเหตุสิ้นสุดลงตามมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ซึ่ง กกต.มีมติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การยื่นคำร้องจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

ข้อโต้แย้งประการที่สอง ซึ่งนายธนาธรระบุว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ และได้ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 แต่เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ แล้วเห็นว่า กิจการสื่อสิ่งพิมพ์หมายความรวมถึงวารสารและนิตยสารด้วย และเมื่อเจ้าของกิจการประสงค์จะเลิกกิจการต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อภายใน 30 วัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัท วี-ลัค มีเดียไปจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

Advertisement

นอกจากนี้ บริษัท วี-ลัค มีเดีย ยังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ แผ่นป้าย กระจายเสียงทางวิทยุ โทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี งบการเงินที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รอบปี 59, 60 และ 61 ก็ระบุว่ามีรายได้จากการโฆษณา ดังนั้นแม้ว่าบริษัท วี-ลัค มีเดียจะอ้างว่าหยุดกิจการ เลิกจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน เป็นต้นมา และแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว แต่บริษัทยังสามารถประกอบกิจการอีกเมื่อไรก็ได้ จนกว่าจะจดทะเบียนแจ้งยกเลิกกิจการ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จึงถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ข้อโต้แย้งที่ 3 ผู้ถูกร้องอ้างว่า ในวันสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายธนาธร ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย แล้วเพราะได้โอนหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เห็นว่าจากพยานหลักฐานจากการไต่สวนพบว่า แบบสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วน บริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 12 มกราคม 2558 และวันที่ 21 มีนาคม 2562 ปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 675,000 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 จึงมีการส่งสำเนาแบบ บอจ.5 ระบุหุ้นหมายเลขดังกล่าวว่านางสมพรเป็นผู้ถือหุ้น

ผู้ถูกร้อง ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า โอนหุ้นดังกล่าวให้นางสมพร ในวันที่ 8 มกราคม 2562 ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้น มีลายมือชื่อของ น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม น.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ เป็นพยาน ตามที่ประมวลกฎกมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 กำหนด และมีการจ่ายค่าตอบแทนในการโอนหุ้นจำนวน 6.7 ล้านบาท เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 สั่งจ่ายชื่อนายธนาธร ต่อมามีการโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 และนายทวีโอนกลับคืนให้นางสมพร ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยไม่มีค่าตอบแทน

ข้อเท็จจริงจากการปรากฏหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกร้อง ได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าว ในวันที่ 8 มกราคม 2562 จริงหรือไม่ โดยพบว่าในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้มีหนังสือส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์โดยเร็วเป็นปกติทุกครั้ง เช่น หนังสือของบริษัทฯลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 หนังสือบริษัทฯ ลงวันที่ 12 มกราคม 2558 ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นการโอนหุ้นของนางสมพร ให้กับนายธนาธร และหนังสือบริษัทฯ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยคัดจากสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 แต่การโอนหุ้นของผู้ถูกร้อง ให้แก่นางสมพร ในวันที่ 8 มกราคม 2562 กลับไม่ปรากฏการณ์ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดทั้งที่การส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญ หากผู้ถูกร้อง มีความประสงค์เข้าสู่การเมือง การที่ไม่มีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จึงผิดปกติไปจากที่ผ่านมา ทั้งที่มีความสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกร้องอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ได้โอนไปก่อนที่ผู้ถูกร้อง สมัครรับเลือกตั้ง ย่อมทำให้มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

แม้ผู้ถูกร้องจะแก้ข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ทันทีภายหลังจากการโอนหุ้นดังกล่าวเพราะมีการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จึงไม่มีนักบัญชีที่คอยมาติดตามจัดการหลักฐานทางทะเบียน ดังเช่นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การของ น.ส.ลาวัลย์ ที่ระบุว่า สามารถทำได้ ถ้ามีคำสั่งให้ทำ เพราะ น.ส.ลาวัลย์ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ด้วย ประกอบกับในทางปฏิบัติการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการได้และการยื่นเอกสารดังกล่าวกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยาก โดยบริษัท วี-ลัค มีเดีย ใช้วิธีจัดส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบดุลประจำปี ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตั้งแต่ปี 2559-2561

ส่วนที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ประเด็นที่นางสมพรได้ชำระค่าหุ้นด้วยเช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาถนนบางนาตราด เซ็นทรัลซิตี้ ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2562 สั่งจ่ายนายธนาธร จำนวนเงิน 6,750,000 บาท แต่กลับนำเช็คไปขึ้นเงินตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ กกต.ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งเป็นเวลานานถึง 128 วันหลังจากที่ระบุในเช็ค ทั้งที่กฎหมายเกี่ยวกับเช็คคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 กำหนดให้ผู้ทรงเช็คมีหน้าที่นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้ขึ้นเงินภายใน 1 เดือน

กรณีเช็คต่างเมืองให้เวลา 3 เดือน โดยคดีนี้เป็นเช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาถนนบางนาตราด เซ็นทรัลซิตี้ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมื่อไม่ระบุสถานที่ออกเช็ค ต้องถือว่าออกเช็ค ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่ายคือนางสมพร ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น นายธนาธรจึงมีหน้าที่นำไปขึ้นเงินภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 แม้อ้างว่ามีการนำเช็คเรียกเก็บเงินล่าช้าเป็นประจำ แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดย้อนหลัง 3 ปี พบว่าการเรียกเก็บเงินตามเช็ควงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ระหว่าง 2560-2562 มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คหลังจากวันที่ที่ลงในเช็คประมาณ 42-45 วัน กล่าวคือ เช็คลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 มีสามฉบับ ฉบับที่ 1 จำนวน 3,361037.50 บาท ฉบับที่ 2 จำนวน 5,246,237.50 บาท และฉบับที่ 3 จำนวน 5,306,237.50 บาท เช็คทั้งสามฉบับนำไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 30 มีนาคม 2560 ส่วนเช็คลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 จำนวน 2,643,750 บาท นำไปเรียกเก็บเงินลงวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ดังนั้น เช็คทั้ง 4 ฉบับนำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีใช้เวลาอย่างมาก 42 วัน และเช็คลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 มี 1 ฉบับ จำนวน 3,326,237.50 บาท นำไปเรียกเก็บเงินลงวันที่ 30 มีนาคม 2560 ใช้เวลา 45 วัน และเช็คลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 มี 1 ฉบับ จำนวน 2,336,192 บาท นำไปเรียกเก็บเงินวันที่ 4 เมษายน 2561 ใช้เวลา 45 วัน แต่ในการเรียกเก็บเช็ค ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2562 กลับใช้เวลาถึง 128 วัน แม้จะมีเช็คลงวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ใช้เวลานำฝากเข้าบัญชี 98 วัน ก็มียอดเงินเพียง 27,000 บาทเท่านั้น

จึงแสดงให้เห็นว่าการนำเช็คชำระราคาหุ้นลงวันที่ 8 มกราคม 2562 ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งนางรวิพรรณเบิกความว่าไม่สะดวกจะนำเช็คไปขึ้นเงิน เพราะต้องดูแลบุตร ซึ่งเป็นเด็กทารก และเป็นเช็คที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นในเดือนมีนาคม 2562 มีข่าวว่านายธนาธรถูกกล่าวหาไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นกันจริง ทนายความจึงรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งนำเช็คเพื่อนำไปให้ปากคำกับทาง กกต.ในเดือนเมษายน และได้รับเช็คกลับคืนมาในเดือนพฤษภาคม ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวมีความขัดแย้งกับหนังสือของนายธนาธร ลงวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ชี้แจงต่อเลขาฯ กกต. เรื่องขอชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐาน
ซึ่งแสดงให้เห็นว่านางรวิพรรณสามารถนำเช็คเข้าบัญชีได้ตั้งแต่ 9 มกราคม 2562 ข้ออ้างเรื่องการไม่นำเช็คไปขึ้น จึงไม่มีน้ำหนัก เชื่อถือไม่ได้เพราะเป็นเช็คชนิดระบุชื่อนายธนาธรเป็นผู้รับเงิน และขีดคร่อม จึงต้องนำเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น โอนไปยังบุคคลอื่นไม่ได้ นอกจากนั้นการนำเช็คไปขึ้นเงิน ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง มอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ ดังนั้น นายธนาธรเป็นผู้เซ็นเช็คในฐานะผู้รับเงิน สามารถมอบอำนาจให้บุคคลใดไปดำเนินการแทนได้มิใช่เฉพาะนางรวิพรรณเพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะนางรวิพรรณก็ไม่ใช่เป็นผู้รับเงินตามเช็คนั้นโดยต้องได้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรเช่นเดียวกัน นางรวิพรรณจึงไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงินด้วยตนเอง หรือรอเวลาถึง 4 เดือนเศษ

สำหรับการที่นางสมพรโอนหุ้นให้แก่นายทวี หลานชาย แล้วต่อมาได้โอนกลับคืนนางสมพรในวันที่ 21 มีนาคม 2562 นั้น ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน ปรากฏว่าการโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืน โดยไม่มีค่าตอบแทน ตามที่อ้างความสัมพันธ์เครือญาติ ซึ่งย้อนแย้งและแตกต่างกับการโอนหุ้นให้กับนายธนาธร ซึ่งบุตร กลับมีค่าตอบแทน แม้นางสมพรจะอ้างว่าต้องการให้นายทวีเข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการบริษัทฯแต่การโอนหุ้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ มีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่ อีกทั้งการโอนหุ้นคืนภายในเวลา 2 เดือนเศษ โดยอ้างว่านายทวีศึกษาแล้วต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท จึงมีความประสงค์จะปิดบริษัทและให้นายทวีโอนหุ้นกลับคืนมายังนางสมพร ข้อเท็จจริงส่วนนี้ย่อมขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป ที่มีความประสงค์ฟื้นฟูบริษัทที่ต้องใช้เวลาศึกษาแผนและทดลองปฏิบัติตามแผนเสียก่อน และเมื่อเทียบกับสถานะทางเศรษฐกิจของนางสมพรแล้ว เห็นว่าเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย ซึ่งขัดแย้งกับการที่นายธนาธรอ้างว่ากิจการวี-ลัค มีเดีย มียอดหนี้และสิทธิเรียกร้องประมาณ 11 ล้านบาท แต่ตามแบบนำส่งงบการเงิน ยอดปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2561 นำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แจ้งว่ามีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นเพียง 2 ล้านบาทเศษ จำนวนเงินดังกล่าวไม่ตรงกัน ประกอบกับหนี้สินจำนวนไม่มาก การทวงถามหนี้และวิเคราะห์ว่าบริษัทจะดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร บริษัทสามารถใช้ให้ทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจดำเนินการแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นให้ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นการเป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่มีอำนาจบริหาร ติดตามหนี้สิน หรือบริหารเงินสด การที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าโอนหุ้นกันในวันที่ 8 มกราคม 2562 โดยมีพยานบุคคลกลุ่มเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้ว เห็นว่าล้วนเป็นการกล่าวอ้างเพียงให้เจือสมกับที่ปรากฏหลักฐานสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ว่านางสมพรรับโอนหุ้นคืนจากนายทวี

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องการเดินทางกลับจากการปราศรัยใน จ.บุรีรัมย์ มายังบ้านพักในกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 มกราคม 2562 กลับมายังบ้านพักเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เพื่อโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ให้กับนางสมพรนั้น แม้จะฟังได้ว่าเดินทางกลับมาจริงในวันดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่านายธนาธรอยู่ในกรุงเทพมหานครในวันที่ 8 มกราคม 2562 เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นในวันดังกล่าวจริง
การพิจารณาว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 จริงหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากหลักฐานทั้งปวงแห่งคดี คดีแม้ผู้ถูกร้องจะมีพยานหลักฐานมาแสดงว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 ให้แก่นางสมพร แม้ผู้ถูกร้องจะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานจากข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ ประกอบกับพยานหลักฐานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่สอดรับอย่างแน่นหนาแล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการประกอบกันมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานผู้ถูกร้องได้ ดังนั้น ข้อพิรุธที่น่าสงสัยหลายประการดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)

โดยประเด็นที่พิจารณาต่อว่าเมื่อสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงแล้ว สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อใด พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณาหากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำการไปก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของสมาชิก ส.ส.ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้น สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป เมื่อสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลง

ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปของในบัญชีของพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างโดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิก ส.ส.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันที่อ่านคือวันที่ 20 พฤศจิกายน อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง คือวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังเป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิก ส.ส.ว่างลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image