ญัตติผลกระทบ ม.44 เข้าสภาฯแล้ว “ปิยบุตร” ปลุกรื้อทิ้งมรดกบาป ด้าน“สาทิตย์” นำปชป.เอาด้วย

ญัตติผลกระทบ ม.44 เข้าสภาฯแล้ว “ปิยบุตร” เปิดฉากอัด คสช. ปลุกรื้อทิ้งมรดกบาป ชี้ 5ปีที่ผ่านมา ใช้มนต์เสกปืนให้เป็นกม.​ ด้าน “น้องเดียว” นำปชป.เอาด้วย ส.ส.พปชร.ขอถอน ชี้ กลไกปกติทำได้

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 จำนวน 7 ญัตติที่เสนอโดยส.ส.ฝ่ายค้าน และรัฐบาล โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เวลานั้น ได้ก่อรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามข้อเท็จจริงถือมีความผิดฐานกบฎ แต่อีกสองเดือนต่อมาได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้การรัฐประหารไม่มีความผิด โดยแนวคำพิพากษาศาลฎีกายึดถือกันว่า เป็นอำนาจรัฎฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดออกคำสั่งใดๆก็ได้

นายปิยบุตร กล่าวว่า คสช.มีกองกำลัง อาวุธทางกายภาพยึดอำนาจปกครองประเทศเป็นเผด็จการ จริงๆไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายก็ได้ แต่กลับเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลากหลายรูปแบบใช้เวทย์มนต์เสกปืนให้เป็นกฎหมาย กระบวนการเช่นนี้จึงไม่แปลกที่พล.อ.ประยุทธ์ มักบอกให้คนอื่นเคารพกฎหมาย การรัฐประหารครั้งนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดังนี้ 1.ในแง่จำนวน คสช.เป็นคณะรัฐประหารที่ออกคำสั่งเป็นจำนวนมาก โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รวบรวมไว้ว่า มีคำสั่งหัวหน้าคสช.217 ฉบับ ประกาศหัวหน้าคสช. 1 ฉบับ ประกาศคสช. 133 ฉบับ และคำสั่งคสช. 214 ฉบับ รวมทั้งหมด 565 ฉบับ เมื่อเทียบกับคณะรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ปกคครองบประมาณ 5 ปี ออกประกาศคำสั่ง 57 ฉบับ สมัยจอมพลถนอมครองอำนาจ 1 ปี 10 เดือน ออกประกาศคำสั่ง 966 ฉบับ 2.เป็นคณะรัฐประหารที่มีอำนาจมากที่สุด ในอดีตเราจะนึกถึงมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ แต่ถ้ามองในระบบกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมากตรงที่ขนาดเรามีรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 แต่หัวหน้าคสช.ก็ยังมีอำนาจพิเศษอยู่

นายปิยบุตร กล่าวว่า 3.การรัฐประหารที่รับรองประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารได้อย่างรัดกุมมากที่สุด รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 279 รับรองให้ทุกการกระทำของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐรรมนูญ เราแค่ยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ยังไม่พอ แต่ต้องทำลายเกราะคุ้มกันประกาศคำสั่งคสช.ด้วย คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรานี้ และ 4.เป็นการใช้อำนาจครอบคลุมหลายมิติ เพราะไม่ได้มีประกาศคำสั่งที่มีเป้าประสงค์ทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังไปกระทบเรื่องอื่นๆด้วยเช่น ป่าไม้ การประมง องค์กรอิสระ สิ่งแวดล้อม การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ก่อนที่คสช.จะจากไปก็ยังออกคำสั่งคสช. 9/2562 เพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งรวม 78 ฉบับ ดังนั้น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.​จำนวน 17 ฉบับที่ตกค้าง นอกจากนั้นพบว่าคำสั่ง ประกาศคสช. ยังถูกฝังไว้ในพระราชบัญญัติ ซึ่งถือเป็นมรดกบาป ที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมาย 2 ระบบคู่กันโดยไม่รู้ตัว และมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐทหาร เพื่อให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง

Advertisement

“นี่จึงสมควรตั้งกมธ. ศึกษาคำสั่ง ประกาศคสช. เพื่อแปรกฎหมายที่ถูกต้องตามระบบ และกฎหมายปกติ หากฉบับใดละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ยกเลิกและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งผมได้ยินมาว่าส.ส.รัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งๆที่ญัตตินี้มีส.ส.รัฐบาลเสนอเข้ามาด้วย หลังการประหารรัฐประหาร 2557 หลายคนเป็นส.ส.รัฐบาล รัฐมนตรี ฝ่ายค้าน แต่ทุกคนยังจำตอนที่ถูกเรียกรายงานตัวและถูกข่มขู่ได้หรือไม่ วันนี้เรามีการเลือกตั้งและมีอำนาจนิติบัญญัติจากประชาชน ถึงเวลาแล้วที่สภาฯต้องยืนตรงทระนงองอาจต่ออำนาจเผด็จการ ประเทศไทยไม่มีทางสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญได้ หากยังมีระบอบรัฐประหารฝังตัวอยู่ ประเทศไทยไม่มีทางสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงได้ หากยังมีมรดกคสช.อยู่ จึงเป็นภารกิจสำคัญของสภาฯที่จะต้องคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้” นายปิยบุตร กล่าว

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า ตนเสนอญัตติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 8 ฉบับให้หยุด หรือพักการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร ข้าราชการท้องถิ่น มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 400 คน ขณะที่ปลดล็อคไปแล้ว 23 คน ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่ากระทบสิทธิและมนุษยชน ทั้งนี้ในกมธ.กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ​สภา ได้ศึกษาและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง พบว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้กระบวนการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ดังนั้นเชื่อว่าภายในสิ้นปี 2562 จะปลดล็อคให้ผู้บริหารท้องถิ่นกลับมาดำรงตำแหน่งได้ ดังนั้นตนมองว่าการใช้กมธ.สามัญเพื่อศึกษาประเด็นคำสั่งหรือประกาศคสช. ที่มีผลกระทบกับประชาชนจะแก้ปัญหาได้รวดเร็ว และตนขอให้ส.ส.ร่วมลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.วิสามัญ เพราะกลไกของกมธ.สามัญสามารถทำได้ ทั้งนี้ ตนขอถอนญัตติที่เสนอดังกล่าวออกจากวาระ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์​ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า เพราะนับตั้งแต่มีรัฐประหาร จะชอบหรือไม่ชอบ แต่ตนคิดว่า คำว่า เผด็จการไม่ได้มีแต่ทหารเท่านั้น เพราะภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยก็มีเผด็จการเช่นกัน ตนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง แต่เหตุที่เสนอให้ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศและคำสั่งของปฏิวัติคณะต่าง รวมถึงประกาศและคำสั่งของคสช. และหัวหน้าคสช.นั้น ไม่ใช้การมาเอาคืน หรือจะมาเพื่อการปกป้อง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบรรดาคำสั่งและประกาศเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ที่สภาจากการเลือกตั้งต้องพิจารณา โดยนำกลับไปสู่เนื้อหาอันเป็นเจตจำนงของประชาชน ส.ส.จะปฏิเสธเสียงของชาวบ้านที่เขาได้รับผลกระทบไม่ได้ เพราะเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารในแต่ละครั้ง คำสั่งและประกาศต่างๆได้เกิดขึ้นนั้น หลายเรื่องมีผลเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหามีการฟ้องร้อง สร้างปัญหาให้กับประชาชน

Advertisement

นายสาทิตย์ กล่าวว่า เช่น การออกคำสั่ง 31/2560 แก้หรือผลต่อกฏหมายส.ป.ก.ในปี 2518 โดยเปลี่ยนแปลงจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกร ไปทำอย่างด้วย อาทิ พลังงานทดแทน และ เหมืองแร่ หรือ การออกคำสั่งหรือประกาศเพื่ออกมาเกี่ยวกับการผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่บางเรื่องต้องนำกลับมาทบทวน อย่างไรก็ตาม ถามว่า แปลกไหม ที่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาเสนอเรื่องนี้ แต่ตนยืนยันว่า บางเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน ตนไม่มีอคติใดๆ แต่ต้องทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัตติเพื่อทำกฏหมายให้สะท้อนเสียง และคำนึงถึงของประชาชนมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image