09.00 : INDEX แนวรบ ‘ประธานกรรมาธิการ’ ขยายไปกระทบ ‘ประธานสภา’

ไม่ว่าจะมองจากมุมในทาง “การเมือง” ไม่ว่าจะมองจากมุมในทาง “การทหาร” ยุทธการเปลี่ยนตัว “ประธาน” คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

น่าจะเป็นความผิดพลาดทั้งในทาง “ยุทธศาสตร์” และในทาง “ยุทธวิธี”

เพราะปัญหามิได้จำกัดเพียงกับพรรคเสรีรวมไทย หรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน หากแต่ทำท่าว่าบานปลายไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว

และเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ นายชวน หลีกภัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลต้นแบบระดับ “ปูชนียบุคคล” ทางการเมือง นั่นย่อมสะเทือนถึงพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

ผลเสียย่อมกลายเป็นของพรรคพลังประชารัฐในที่สุด

ความจริงเรื่องนี้ผิดในทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่เริ่มปักธงจากการออกมาป้องกันบุคคล 2 คน
1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เพียงเพราะพรรคพลังประชารัฐรับไม่ได้ที่จะมีการเรียกตัวจากคณะกรรมาธิการ และเพียงเพราะเคยชินกับการใช้อำนาจเป็นใหญ่มาตลอด 5 ปี

Advertisement

จึงเริ่มต้นด้วยการคิดเปลี่ยนตัว “ประธาน” เพราะประเมินว่าทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากตัว “ประธาน”

ขณะเดียวกัน ในทางยุทธวิธีก็ใช้ขุนพลอย่าง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์, นายสิระ เจนจาคะ จึงยุกพยุหโยธาอย่างอึกทึกครึกโครม อาละวาดตลอด 2 รายทาง

ขยายวงจาก “ประธาน” คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบกระทั่งถึง “ประธานสภา”

หากเป็นการรบนี่เท่ากับพรรคพลังประชารัฐสร้างและขยายแนวรบออกไปอย่างกว้างขวาง

ไม่เพียงแต่กับ “ฝ่ายค้าน” หากแต่ยังเป็น “พรรคประชาธิปัตย์”

การแตะเข้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 เป็นการแตะไปยังปูชนียบุคคลของพรรค คือ นายชวน หลีกภัย เท่ากับไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

แนวรบยิ่งกว้างขวางใหญ่โต ขุนพลที่ผลักดันให้มาแสดงบทบาท ยิ่งสะเปะสะปะ

น่าสงสัยว่า “ยุทธวิธี” อาจทำให้ “ยุทธศาสตร์” ต้องมีปัญหาจนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image