32 องค์กรออกแถลงการณ์ถึง ‘บิ๊กตู่’ จวก ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทบใหญ่หลวง

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน  นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำออกแถลงการณ์ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา  มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร ประกาศเดินหน้าก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 ถึง กรมชลประทานสามเสน ฝั่งพระนคร และจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าไม่มีผู้คัดค้านโครงการนั้น  สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ อันประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพฯ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กร ขอคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสาธารณะทางด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ย้อนอ่าน มาแล้ว! แบบล่าสุด ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ สจล. ยันไม่มีถนนให้รถวิ่ง โวยสื่อ-เพจเผยแพร่ภาพบิดเบือน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ หรือ เอฟโออาร์ ซึ่งมีบทบาทคัดค้านโครงการดังกล่าวตลอดมา ได้มีความเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยระบุว่า โครงการนี้มีหลายฝ่ายทักท้วงทั้งในเชิงนโยบายที่มีธงไว้ ขาดทางเลือกของการพัฒนาแม่น้ำที่รอบด้าน ขาดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง ขาดการเปิดเผยข้อมูล อันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่างๆทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ อันจะนำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้ หากโครงการนี้เดินหน้า มันจะตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ารัฐขาดธรรมาภิบาลเพียงใดต่อการดำเนินการโครงการที่กำลังจะส่งผลต่อวิถีผู้คนและธรรมชาติ

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะกรรมการวิสามัญ พร้อมด้วยคณะกรรมการวิสามัญการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสภาพความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยยืนยันว่าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. ในฝั่งพระนคร และช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. ในฝั่งธนบุรี จะสามารถดำเนินโครงการได้ ทั้งนี้เมื่อมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 540 วัน หรือ 2 ปี

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image