ส่อง‘แผนมั่นคงแห่งชาติ’ ป้องภัยคุกคามทุกรูปแบบ หนุนสามัคคี-สังคมสงบสุข

หมายเหตุ – สาระสำคัญส่วนหนึ่งของนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565) จัดทำโดยสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

•นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565)

นิยามศัพท์ “ความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า ภาวะที่ประเทศปลอดจากภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รวมทั้งความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ อันเกิดจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ

“นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า นโยบายและแผนหลักของชาติที่เป็นกรอบหรือทิศทางในการดำเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ

Advertisement

“ภัยคุกคาม” หมายความว่า ภาวะหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความ
รุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะเกิด
ผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นคงแห่งชาติ

•ผลประโยชน์แห่งชาติ
1.การมีเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ
2.การดำรงอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืนของสถาบันหลักของชาติ
3.การดำรงอยู่อย่างมั่นคงของชาติและประชาชนจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
4.การอยู่ร่วมกันในชาติอย่างสันติสุข เป็นปึกแผ่น มั่นคงทางสังคม ท่ามกลางพหุสังคมและการมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
5.ความเจริญเติบโตของชาติ ความเป็นธรรม และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
6.ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร
7.ความสามารถในการรักษาผลประโยชน์ของชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ
8.การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีเกียรติและศักดิ์ศรีในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก

•วัตถุประสงค์แห่งชาติ
1.เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

2.เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้มีความจงรักภักดี และธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

3.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ความเป็นธรรม และความสมานฉันท์ในชาติเพื่อลดการเผชิญหน้า และการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

4.เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง

5.เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาครัฐและส่งเสริมบทบาทและความเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ในการรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบที่กระทบกับความมั่นคง

6.เพื่อให้การจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร มีความมั่นคง ความยั่งยืนและมีความสมดุลกับการขยายตัวของการพัฒนาประเทศ รวมถึงลดความเสี่ยงจากผลกระทบของ
กระแสโลกาภิวัตน์

7.เพื่อพัฒนาศักยภาพการเตรียมพร้อมของชาติในการเผชิญกับภาวะสงครามและวิกฤตการณ์ความมั่นคง อย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ

8.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพในการป้องกันประเทศ สนับสนุนภารกิจที่ไม่ใช่การสงคราม และสามารถผนึกกำลังของกองทัพกับทุกภาคส่วนในการเผชิญกับภัยคุกคามด้านการป้องกันประเทศในทุกรูปแบบ

9.เพื่อส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่สร้างสรรค์และสันติในการอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศอาเซียน ประชาคมโลก บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ และการดำรงเกียรติภูมิของชาติ

•แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ รองรับทุกนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมาย
เชิงยุทธศาสตร์ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ ดังนี้

1.เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ประชาชนมีความสามัคคี มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมีส่วนร่วม และมีความพร้อมเผชิญปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามและปัญหาด้านความมั่นคง

2.ตัวชี้วัด
-ระดับการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

-ระดับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปในกิจกรรมสนับสนุนงานด้านความมั่นคง

3.กลยุทธ์
-ส่งเสริมให้คนไทยมีความสามัคคี สังคมมีความสงบสุข และประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยผนึกกำลังทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน จังหวัด ภาค และประเทศชาติ ให้เป็นเครือข่ายสนับสนุนงานด้านความมั่นคงและให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ

-ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตโดยปกติและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

-พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของคน ชุมชน พื้นที่ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและมีขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความมั่นคงโดยเฉพาะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ตลอดจนมีความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตรวมทั้งเสริมสร้างความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ อันเกิดจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ

-พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความมั่นคงให้แก่ผู้บริหารและผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้รับรู้ถึงความสำคัญของมิติความมั่นคงที่ต้องประสานและบูรณาการการวางแผนและการปฏิบัติงานที่เกื้อกูลกันอย่างเป็นเอกภาพ

-ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ปลูกฝังวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ค่านิยมที่ดีงาม ความภูมิใจในชาติ การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี โดยการเรียนการสอน ทั้งในระบบและนอกระบบสถานศึกษาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมในด้านความมั่นคง

-ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการความร่วมมือต่างๆ และกิจกรรมด้านความมั่นคงในการขจัดหรือลดปัญหาด้านความมั่นคง เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความสงบสุขของสังคม และการกระจายรายได้ที่ทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน

•การข่าวกรองและการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงรองรับนโยบายพัฒนาระบบงานข่าวกรองให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ ดังนี้

1.เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การมีระบบข่าวกรองที่มีการบูรณาการ มีความทันสมัยและมีเครือข่ายความร่วมมือที่พร้อมเผชิญภัยคุกคาม รวมทั้งมีความสามารถในการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงที่หลากหลายในทุกมิติสามารถสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติได้

2.ตัวชี้วัด
– ระดับความสำเร็จของการใช้งานข่าวกรองและการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายข่าวกรองภาคประชาชน

-ระดับการนำผลการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในระดับยุทธศาสตร์ที่หลากหลายไปใช้ประโยชน์ในทุกมิติ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

3.กลยุทธ์

-ดำเนินงานด้านการข่าวอย่างมีประสิทธิภาพทั้งการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการข่าวกรองด้านความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ

-เสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพในประชาคมข่าวกรอง และหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งหน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศ และพัฒนาเครือข่ายด้านข้อมูลข่าวสารกับภาคเอกชนและประชาชน

-เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถของระบบงานข่าวกรองอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนรวบรวมข่าวสาร รวมถึงพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางข่าวกรองกับทุกภาคส่วน โดยพัฒนาบุคลากรและเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยี ระบบฐานข้อมูลและองค์กรด้านการข่าว

-สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานข่าวกรอง พัฒนาเครื่องมือการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในระดับยุทธศาสตร์

-สนับสนุนให้มีการจัดตั้งหรือพัฒนาสถาบันหรือศูนย์อนาคตศึกษาด้านความมั่นคงเพื่อประเมินแนวโน้มด้านความมั่นคงระยะยาว

•การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศโดยกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ ดังนี้

1.เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางทหาร

2.ตัวชี้วัด

-ความสำเร็จในการเตรียมกองทัพรองรับภัยคุกคามทางทหารตามแผนของกองทัพที่กำหนด

-ความสำเร็จของระบบกำลังสำรองและระบบระดมสรรพกำลังตามแผนที่กำหนด

3.กลยุทธ์

-เตรียมกำลังและใช้กำลังเพื่อการป้องปราม แก้ไข และยุติความขัดแย้งด้วยการปฏิบัติการร่วมเป็นหลัก

-พัฒนาปฏิบัติการไซเบอร์เพื่อการทหารด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

-พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการใช้งานดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมถ่ายภาพด้านความมั่นคงและการสังเกตการณ์ทางอวกาศด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

-พัฒนาระบบข่าวกรองเพื่อการแจ้งเตือนภัยคุกคามทางทหาร โดยจัดให้มีระบบฐานข้อมูลข่าวกรองร่วมด้วยความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพในประชาคมข่าวกรอง หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศ

-ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มาตรฐานทางทหาร กิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่กองทัพบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเอง โดยบูรณาการขีดความสามารถของทุกภาคส่วน มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถทำการผลิตเพื่อใช้ในราชการและเพื่อการพาณิชย์

-พัฒนาระบบควบคุมบังคับบัญชาและระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารราชการทั่วไปให้สามารถปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานความมั่นคง

-พัฒนาระบบการส่งกำลังบำรุงร่วมเพื่อมุ่งไปสู่การพึ่งพาตนเอง ด้วยการร่วมมือกับมิตรประเทศและภาคเอกชน เพื่อรองรับการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ รวมทั้งแสวงหาแหล่งส่งกำลังบำรุงจากมิตรประเทศเพื่อใช้เมื่อมีความจำเป็น

-พัฒนาระบบการระดมสรรพกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายกำลังในยามสงครามสำหรับการปฏิบัติการทางทหารตามแผนป้องกันประเทศ

-พัฒนาระบบกำลังสำรอง เพื่อมุ่งไปสู่การบรรจุทดแทนกำลังประจำการบางตำแหน่งในยามปกติโดยมีระบบการตอบแทนที่เหมาะสม และสามารถรองรับการขยายกำลังในยามสงครามสำหรับการปฏิบัติการทางทหารตามแผนป้องกันประเทศ

-พัฒนาเสริมสร้างกำลังประชาชน ทหารกองหนุน ทหารนอกประจำการ ทหารผ่านศึกทุกประเภท เพื่อมุ่งไปสู่การออมกำลังและชดเชยอำนาจกำลังรบของกองทัพที่มีอยู่อย่างจำกัดในยามสงคราม รวมทั้งการแจ้งเตือนด้านการข่าว ด้วยการเสริมสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมป้องกันประเทศ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image