‘สุรเกียรติ์’ ชี้ ความท้าทาย ‘อาเซียน’ คือพัฒนาคน ย้ำต้องมีอาจารย์พันธุ์ใหม่ ห่วงการศึกษาไทยขัดยุค 4.0 (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการประชุมวิชาการ ‘อาเซียนพลัส : สันติภาพ ความมั่นคงและความคาดหวังในอนาคต การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะรัฐมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย หรือ APRC กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 กับภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองในภูมิภาค’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีผู้สนใจเข้าฟังจำนวนมากจนเต็มห้องประชุม ผู้จัดต้องใช้วิธีการถ่ายทอดสดไปให้ผู้เข้าร่วมงานรับชมอีกห้องหนึ่งเพิ่มเติม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 นั้นแนวคิดของไทยในฐานะประธานอาเซียน คือ การร่วมมือในหลักการ 3 เอ็ม ได้แก่ 1. การไว้ใจซึ่งกันและกัน 2. ความเคารพซึ่งกันและกัน 3.การมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีธีมคือความร่วมมือร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน และความต้องการในการสร้างอาเซียนแบรนด์ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Advertisement

“การก้าวไกล หมายถึงการเข้าสู่อนาคตอย่างมีพลวัตร ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เราอยากจะก้าวหน้าสู่ดิจิทัลอาเซียน คืออาเซียนที่เชื่อมกันด้วยดิจิทัล เราต้องการเป็นหุ้นส่วนกับคู่เจรจาและประชาคมโลกโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ต่างๆ เป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ สร้างความมั่นคง ยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงการดูแลผู้สูงวัย นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติผ่านการเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนและการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อส่งเสริมพื้นที่ไซเบอร์ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และมีเสถียรภาพเราเปิดศูนย์อาเซียน 3 ศูนย์ได้แก่ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษา และการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมอาชีพด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวถึงประเด็นของภูมิสถาปัตย์ซึ่งมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานราว 5-6 กรอบความร่วมมือ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะการที่ประเทศต่างๆเข้ามาร่วมไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจ แต่เพราะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง เช่น การที่ญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้อยู่ในลุ่มน้ำโขงขอเข้าร่วมด้วย โดยไม่มีจีน นับเป็นการแข่งขันของมหาอำนาจที่จะเข้ามาดูแลว่า 5 ประเทศในลุ่มน้ำโขงจะไม่ตกเป็นเพื่อนสนิทของจีนเท่านั้น และการที่อาเซียนมีทุกศาสนา มีทุกระบอบการปกครอง มีเฉดสีของประชาธิปไตยที่ต่างสีสัน จึงกลายเป็นความพอดี ไม่ว่าประเทศใดมีการปกครองแบบไหนก็สามารถเข้ามาสนิทสนมกับประเทศอาเซียนได้ทั้งสิ้น


ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ภูมิทัศน์อีกหนึ่งประการที่เปลี่ยนแปลงไปคือการเกิดธนาคารเพื่อการลงุทนโครงการพื้นฐานเอเชีย ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน ตะวันตกคงไม่ยอมให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงในสถานะของเงินหยวนซึ่งมีความเป็นสากลมากขึ้น หากพัฒนาต่อไปได้ นี่คือสิ่งอเมริกาสะพรึงกลัวที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเส้นทางใหม่ ๆ อย่างเส้นทางสายไหมทางบก มีท่าเรือต่างๆมากมายที่เชื่อมโยงกันทั้งทางบก และทางทะเล จีนร่วมมือกับปากีสถาน เชื่อมเมืองและเปิดพรมแดนให้ออกสู่ทะเลได้ ยิ่งประเทศมหาอำนาจแข่งกันเท่าไหร่ อาเซียนต้องเล่นเกมให้เป็น สำหรับประเด็นสงครามการค้าต่างๆ อาทิ อเมริกากับสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ รวมถึงการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี ต้องตั้งคำถามว่า อาเซียนอยู่ตรงไหน

Advertisement

“ห่วงโซ่อุปทานจะกระทบอาเซียน แต่โอกาสที่นักลงทุนจากต่างประเทศจะลงมาทุนนเอเซียนนั้น ตอนนี้ไปลงทุนกันในเวียดนาม จนเวียดนามต้องชะลอการเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน ในขณะที่พม่าและไทยเร่งเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีกำลังจะกลายเป็นสงครามการแข่งขันเพราะความกลัวด้านความมั่นคง สีจิ้นผิงบอกว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและทุ่มงบมหาศาลทำให้คนจีนโพ้นทะเลกลับจีน และนักเทคโนโลยีตะวันตกไปทำงานในจีน แล้วอาเซียนอยู่ตรงไหนนอกจากนี้ สงครามการเงิน ก็ยังอยู่ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ เวลานี้ มีการเสนอไอเดียแยกการค้าของจีนกับอเมริกาออกจากกันและ แยกเทคโนโลยีของจีนกับอเมริกาออกจากกันด้วยซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง แน่นอนเราต้องไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง โอกาสของอาเซียนคืออะไร” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ความท้าทายคือการพัฒนาคน อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยในขณะนี้ยังขัดกับยุค 4.0 ซึ่งมีความต้องการด้านทักษะ บัณฑิตที่จบการศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อน รวมถึงผู้สูงอายุตกขบวนรถไฟเทคโนโลยี ในขณะที่ประเทศอื่นเน้นหลักสูตรระยะสั้น มีการฝึกทักษะ และเน้นการศึกษาตลอดชีวิต

“อาเซียนยกเว้นสิงคโปร์มีโครงสร้างศึกษา คือ ประถม มัธยม ปริญญาตรี โท เอก ซึ่งขัดแย้งกับยุค 4.0 ไทยหรืออาเซียนอาจสร้างนวัตกรรมสู้เขาไม่ได้ แต่เราต้องผลิตคนที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเป็น ซ่อมเป็น การพัฒนาคนต้องเน้นสหสาขา เวลาพูดถึงเมืองอัจฉริยะ ต้องมีวิชาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งมีประเด็นการออกแบบเมือง กฎหมาย การเงิน และอื่นๆ รวมศาสตร์ 5-6 สาขา แต่มหาวิทยาลัยของไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ การร่วมมือกันระหว่างคณะวิชาต่างๆนั้น พูดง่ายแต่เกิดไม่ง่าย จะทำอย่างไรให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ยุค 4.0 ห้องเรียนต้องเปลี่ยน อาจารย์ต้องเป็นแค่โค้ชคอยแนะนำการแก้ปัญหา เดี๋ยวนี้กการค้นข้อมูลจากกูเกิ้ลง่ายมาก คนเป็นอาจารย์ต้องรู้ศาสตร์อื่นๆ รู้ถึงภาคปฏิบัติมากขึ้น และให้นักศึกษาทำงานกับเครื่องมือจริง ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม จึงจะได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ แต่ก่อนจะไปถึงขุดนั้น อาเซียนต้องได้อาจารย์พันธุ์ใหม่ด้วย แต่อาจารย์คือคนที่เปลี่ยนผ่านยากที่สุดในโลก อย่างผมจบจาก ม.ฮาวาร์ด สอนหนังสือมาตลอด ถ้าวันดีคืนดีมีคนมาบอกว่าสิ่งที่สอนอยู่นั้นล้าหลัง ก็โกรธและไม่ยอมรับ แต่หากเป็นเช่นนี้อาเซียนก็พัฒนาคนไม่ได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว และว่าสำหรับปัญหาของฮ่องกงเป็นสิ่งที่เขย่าภูมิสถาปัตย์ในบริเวณนี้ว่าจะเข้าข้างใคร เป็นเรื่องที่อาเซียนต้องวางตัวให้ดี การกล่าวอะไรในสถานการณ์อ่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญเพราะกระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า การภูมิสถาปัตย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวมาแล้ว ต้องฝากข้อชวนคิดว่าอาเซียนได้เตรียมตัวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้มากเพียงพอหรือไม่ อย่างไร ประเทศไทยควรจะทำอะไร ทั้งเรื่องสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี การเปิดการค้าเสรี รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ มีการพัฒนาคนสู่ยุค 4.0 หรือไม่ ดังเช่นสิงคโปร์ซึ่งมีการตื่นตัวในการแก้ปัญหาประเด็นเหล่านี้มาก่อน และมีการปรับตัวตลอดเวลา นอกจากนี้อาเซียนได้ส่งเสริมพหุภาคีในโลกที่ทั้งซับซ้อนและเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดอย่างไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image