รายงานหน้า 2 : วิพากษ์รัฐ-อัดฉีด1.5แสนล. ปลุกชีพเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ ภาคเอกชน กรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบชุดมาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และต่อเนื่องไปต้นปี 2563 วงเงินงบประมาณเกือบ 1.5 แสนล้านบาทนั้น

กลินท์ สารสิน
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 และมาตรการต่างๆ รวมวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น เห็นด้วยที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นมาตรการที่ดี โดยเฉพาะมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อสนับสนุนการซื้อบ้านของผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์

Advertisement

ขณะนี้คนมีเงินแต่ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการออกมาตรการส่งท้ายปี น่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่จะไม่มีมาตรการใดออกมา ส่วนว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของจีดีพีได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอการประเมินหลังมาตรการถูกขับเคลื่อนไประยะหนึ่งก่อน ซึ่งในการประชุมประจำปีของหอการค้าทั่วประเทศ วันที่ 29 พฤศจิกายนถึง 1 ธันวาคมนี้ ที่จังหวัดลำปาง จะพูดคุยถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

เศรษฐกิจในภาพรวมของไทยในปี 2562 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 3% โดยภาคการท่องเที่ยวและส่งออกยังเป็นตัวหลัก ที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยในส่วนของการส่งออกแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาตัวเลขจะติดลบและได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ

แต่ยังเชื่อมั่นว่าในภาพรวมเศรษฐกิจของไทยและการส่งออกจะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในการออกมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการส่งออก และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การส่งออกและเศรษฐกิจของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย

Advertisement

ขณะที่การท่องเที่ยวหอการค้าก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้เสนอแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำถนนคนเดิน หรือ Walking Street ในย่านต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ย่านเยาวราช สีลม และข้าวสาร

รวมทั้งในต่างจังหวัด ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดต่างๆ ก็จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดคึกคักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือหอการค้าแต่ละจังหวัดให้จัดกิจกรรม สัมมนาต่างๆ เพื่อกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่น

ขณะเดียวกันภาครัฐก็พยายามดึงการจัดงานนิทรรศการต่างๆ มาที่ไทย รวมทั้งเตรียมจะเชิญบล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาไทย โดยหอการค้าทั่วประเทศพร้อมให้ความร่วมมือในการต้อนรับและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

หอการค้าไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะดีขึ้นเพราะรากฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องสงครามการค้า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ในภาพรวมก็ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบกับไทย โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้ากลับเป็นผลดีต่อไทยเพราะทราบมาจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนักลงทุนจีนหันมาลงทุนในไทยมากขึ้นหลังจากที่มีปัญหากับทางสหรัฐ

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย
ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

รัฐบาลมีมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมาอีกกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ เงินกองทุนหมู่บ้านและเงินช่วยเหลือชาวนา การพักชำระหนี้ เป็นต้น และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% ถือว่าเป็นมาตรการตั้งรับ ไม่ใช่มาตรการเชิงรุก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเน้นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยจะมีผลดีในระยะสั้นแต่ไม่ได้ช่วยต่อยอดให้เกิดการจับจ่ายมากขึ้นที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม แรงหนุนมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่เข้ามาและแรงหนุนเศรษฐกิจจากเครื่องยนต์อื่นที่มีอยู่ จากการท่องเที่ยว การบริโภค เชื่อว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจปลายปีนี้ได้ ทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 นี้ จะขยายตัวได้ที่ 2.6% ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ก่อนหน้านี้คาดการณ์จีดีพีปีนี้ 2.8% และปี 2563 ขยายตัว 2.7% โดยจะมีการปรับตัวเลขใหม่ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรการการคลังในเชิงรุก และแรงกระตุ้นจากมาตรการการคลังยังออกมาไม่หนักพอ เพราะไม่อยากให้กระทบกับเสถียรภาพการคลัง เนื่องจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง ฟิทช์ เรทติ้งส์ และ มูดี้ส์ อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ของไทยอยู่

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับมุมมองไทยขึ้นเป็นบวก จากระดับคงที่ จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยและเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งอาจจะรอให้ผ่านพ้นช่วงการปรับอันดับเครดิตไปก่อนจึงจะอัดมาตรการเต็มที่

ทั้งนี้ หากพิจารณาจีดีพีไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเพียง 0.01% เทียบไตรมาสที่ 2 ซึ่งเกิดจากการปรับผลฤดูกาล หากไม่ปรับผลฤดูกาลจะพบว่า จีดีพีไตรมาสที่ 3 เทียบไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวติดลบ ซึ่งเป็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย โดยการเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยจีดีพีจะต้องติดลบ 2 ไตรมาสต่อเนื่อง

ในส่วนของจีดีพี ไตรมาส 4 เทียบไตรมาสที่ 3 คาดขยายตัวปริ่มๆ ที่ 0.01% จึงยังต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ในส่วนนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 2 ครั้งดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 1.25% เชื่อว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ไม่น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก

แต่ในเชิงความเป็นจริงมีแรงกดดันที่อาจจะต้องลดดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด เพราะ ธปท. เป็นหน่วยงานในการดูแลเศรษฐกิจหลักที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายการคลังปรับเปลี่ยนตามรัฐบาล

อนุชา มีเกียรติชัยกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่

สิ่งที่อยากเห็นคือ ส่งเงินออกมาให้เยอะๆ ให้ธุรกิจ SMEs ได้กู้ในอัตราดอกเบี้ยถูก ซึ่งรัฐก็ทำอยู่ผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่าน SMEs Bank น่าจะช่วยได้เยอะ ระยะยาวห่วงนักท่องเที่ยวหายไปไม่เข้ามา เพราะเปลี่ยนใจไปประเทศอื่นที่ใกล้เคียงกับเรา การจะดึงกลับมาเป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะเรามีแต่เรื่องเดิมๆ ด้วยวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมเก่าๆ แต่ไม่สร้างอะไรใหม่ๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขามีของใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวอยากลอง ค่าเงินถูกกว่า ก็ย่อมกระทบกับประเทศไทย

ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การส่งออกเฉลี่ย 70% ของจีดีพี แต่กำลังลดลงไปเรื่อยๆ ก็กระทบวัตถุดิบ ไม่มีกำลังซื้อและการใช้แรงงาน ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ รัฐก็ควรจะต้องทำอะไรบ้าง แม้ว่าจะลดดอกเบี้ยลงไม่น้อย ก็ยังไม่พอ ขอให้ทำอะไรใหม่ๆ อะไรที่ยังไม่เคยทำ หรือต้องคิดอีกแบบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคงไตร่ตรอง และคาดว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา ขอให้เร่งออกมาตรการมารองรับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก เพราะงบประมาณปี 2563 ล่าช้า ทำให้ทุกด้านกระทบไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้น

รัฐต้องระวังไม่ให้กระทบมากไปกว่านี้ ควรหันมากระตุ้นการส่งออกชายแดนในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น และต้องรอดูปีหน้าว่าจีนกับสหรัฐอเมริกาจะคุยกันรู้เรื่องมากน้อยแค่ไหน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา นักวิชาการด้านสังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อม

หลังจาก ครม.อนุมัติ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เกือบ1.5 แสนล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าอาจทำให้มีผลทางจิตวิทยา แต่ที่ผ่านมาการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้งเงินไปไม่ถึงคนจน คนชั้นกลางที่ยังมีความลำบากในการดำรงชีพ และสุดท้ายเงินในระบบก็ไหลกลับเข้าไปในระบบทุนอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นถ้าจะทำให้ตรงเป้าหมาย ก็ต้องเน้นไปที่สังคมในชุมชนชนบทเข้มแข็ง โดยการทุ่มงบฟื้นฟูฐานทรัพยากรในแต่ละชุมชนตามศักยภาพที่มีอยู่ ให้มีความสมบูรณ์ ทำให้ประชาชนยึดหลักพึ่งพาตนเอง ไม่มุ่งหวังให้ประชาชนต้องรอการช่วยเหลือ ตามแนวทางประชานิยมด้วยการแจกเงิน เพราะหากปล่อยแบบนี้ประชาชนก็จะลำบากตลอดไป

ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าการช่วยเหลือประชาชนจากการถมด้วยเงิน จะเป็นเรื่องยั่งยืน ดังนั้นรัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องหาวิธีการลดราคาพลังงานที่ต้องพึ่งการนำเข้าตามที่นักวิชาการให้คำแนะนำ

ขณะที่บางโครงการเช่น ชิมช้อปใช้ ควรทบทวนเพราะได้ผลในระยะสั้น 1-2 สัปดาห์ เงินในระบบหมุนเวียนได้ไม่นาน น่าจะเทียบได้กับกรณีที่แพทย์จ่ายยาพาราเซตามอลให้คนไข้เพื่อบรรเทาอาการปวดได้เพียง 4-6 ชั่วโมง มองว่าเป็นการแจกเงินหาเสียงมากกว่า

ขณะที่ผมมีตัวเลขอัตราการว่างงานที่ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บัตรทองเพิ่มมากขึ้น หลังเลิกใช้สิทธิจากบัตรประกันสังคม ทำให้เห็นชัดเจนว่าใน อ.จะนะ เพียงอำเภอเดียวมีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น แล้วถ้าดูตัวเลขทุกอำเภอในประเทศน่าจะมีตัวเลขคนว่างงานที่น่าตกใจ หากเศรษฐกิจดี คนเข้าสู่ภาคบริการหรือภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น คนใช้แรงงานจะเปลี่ยนสิทธิจากบัตรทองไปเป็นประกันสังคม

แต่การที่คนเปลี่ยนสิทธิมาเป็นบัตรทองเพิ่มขึ้น ก็เพราะตกงาน เศรษฐกิจแย่ลง จากสถิติกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจแย่ลง และปี 2562 นี้สาหัสกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนปี 2563 ที่จะถึงนี้ ท่าทางจะเป็นปีที่ชีวิตประชาชนคนเดินดินจะสาหัสที่สุดจริงๆ

นิพนธ์ สุวรรณนาวา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ผ่าน ครม.เชื่อว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร มาตรการล่าสุดจะกระจายเม็ดเงินลงไปอัดฉีดถึงประชาชนในระดับล่างจากกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเห็นว่าควรเอาเม็ดเงินไปพัฒนาสินค้าเกษตรจะเหมาะสมกว่า

โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง มากกว่าการทำนโยบายการประกันรายได้ในระยะสั้น ทำให้เป็นปัญหาในการส่งออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องไม่ตอบโจทย์ในการส่งออกเพื่อหารายได้เข้าประเทศ

ดังนั้น รัฐควรมุ่งความสนใจไปที่พัฒนาฐานรากของระบบเศรษฐกิจ ไม่ควรเอาเงินมาทุ่มเหมือนโครงการชิมช้อบใช้ทำให้เงินหมุนไม่มาก และจากการประเมินใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เพราะผลกระทบจากการส่งออก ทำให้เงินนอกไม่ไหลเข้ามาเติมในระบบ โดยเฉพาะเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะลดลงจากปัจจัยหลายด้าน

นอกจากนั้นยังมีปัญหาจากอัตราการว่างงานสูงขึ้น และในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การใช้งบประมาณระดับเมกะโปรเจ็กต์ของหน่วยงานภาครัฐบางโครงการที่ไม่เร่งด่วนควรชะลอออกไปก่อน เพราะรายได้ของภาครัฐไม่พอกับรายจ่าย ยกเว้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน 4 เลน รถไฟทางคู่ควรทำให้เสร็จโดยเร็วเพื่อช่วยลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ และทำให้ประชาชนสนใจใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้นลดการใช้พลังงาน

สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2563 ต้องดูภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกว่าจะมีผลกระทบอีกหรือไม่ หากรัฐบาลใช้หลายมาตรการกระตุ้นแล้วเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น รัฐบาลก็อาจจะต้องใช้วิธีการรัดเข็มขัด แต่ไม่เห็นด้วยหากจะเพิ่มภาษีด้านต่างๆ ให้เป็นภาระซ้ำเติมประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image