เสียง‘บ่น-ผิดหวัง-โล่งใจ’ กับมติ เลิก-เลื่อนแบน 3 สาร

เสียง‘บ่น-ผิดหวัง-โล่งใจ’ กับมติ เลิก-เลื่อนแบน 3 สาร

เสียง‘บ่น-ผิดหวัง-โล่งใจ’ กับมติ เลิก-เลื่อนแบน 3 สาร

หมายเหตุความเห็นจากองค์กรภาคเอกชน นักวิชาการ และผู้แทนภาคการเกษตร หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต โดยให้จำกัดการใช้ และเลื่อนแบน พาราควอต กับคลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน จากเดิมจะมีผลบังคับใช้การแบนวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

ผิดหวังกับมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายอย่างมาก เบื้องต้นคาดว่าอาจจะเลื่อนแบนสารเคมีทั้ง 3 สารไป 6 เดือน แต่กลับมีมติให้เลื่อนแบนสารเคมีเพียง 2 สารคือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน แต่อีก 1 สารคือไกลโฟเซต ให้ยกเลิกการแบน โดยให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างมาก

Advertisement

ส่วนมติเลื่อนแบน 2 สารเคมี คงเป็นเพราะต้องการอุ้มชูบริษัทที่นำเข้าสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรับภาระสต๊อกสินค้าที่เหลืออยู่ ในการส่งกลับประเทศผู้ผลิต การผลักสู่ประเทศที่ 3 หรือกระจายสินค้าสู่เกษตรกรไทย ซึ่งในกรณีการกระจายสินค้าให้แก่เกษตรกรในประเทศไทยนี้ถือว่าผิดอย่างมาก เพราะเป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านรับสารเคมีต่อไป

ส่วนกรณีที่ยกเลิกการแบนสารเคมีไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้นั้น ตั้งแต่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็มีท่าทีต้องการทบทวนสารไกลโฟเซตอยู่แล้ว

คงเป็นเพราะแรงกดดันจาก 3 กลุ่ม คือ 1.รัฐบาลสหรัฐ ที่ส่งหนังสือให้ทบทวนการแบนสารเคมีทั้ง 3 สาร 2.กลุ่มบริษัทสารเคมีที่นำโดยสหพันธ์ครอปไลฟ์ (Crop Life) ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีสาขาในประเทศไทย มีผู้ได้รับผลประโยชน์ในเชิงการค้า และ 3.อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่อ้างว่าไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่ต้องใช้ผลิตอาหารสัตว์จากต่างประเทศได้

Advertisement

จากแรงกดดันทั้ง 3 กลุ่ม ส่งผลต่อผลประโยชน์ทางการค้าสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชที่ต้องสูญเสียไปกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ในการนำเข้าส่งออกสารเคมีเหล่านี้

ส่วนสภาหอการค้าฯก็ไม่ได้ต่อต้านการแบนสารเคมีแต่อย่างใด แต่ขอให้ผ่อนปรนเรื่องการกำหนดค่าตกค้างของสารเคมีให้น้อยที่สุด เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ดังนั้นที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อ้างว่าไม่สามารถผลิตสินค้าได้นั้น จึงขัดแย้งกับสภาหอการค้าฯ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีข้อคิดเห็น 3 ข้อ คือ 1.รับไม่ได้กับมติที่ออกมา ไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชน ดังที่เป็นมติของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมานานกว่า 2 ปี 7 เดือน และมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีการศึกษาปัญหาของสารเคมีต่อสุขภาพ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรแบน

2.ผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ชัดเจนอยู่แล้ว โดยลงคะแนนด้วยการยกมือ และแยกการพิจารณาสารแต่ละตัว พร้อมมีการรับรองในที่ประชุม แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนนั้น ไม่ใช่มติจริง เนื่องจากเป็นเพียงแจ้งให้ทราบเท่านั้น และตีขลุมว่าเป็นมติ

3.ประชาชนหรือชมรมต่างๆ ควรฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเรียกร้องกรณีที่หลอกลวงประชาชนในการประกาศผลมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เนื่องจากหาก
จะเปลี่ยนมติวันที่ 22 ตุลาคม คณะกรรมการทั้งชุดเก่าและใหม่ ต้องมีข้อแย้งว่ามีเหตุผลใดที่จะล้มมติเดิม

การลงมติวันที่ 27 พฤศจิกาย ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.โครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีการคุ้มครองด้านสุขภาพ และ 2.การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พฤศจิกายน หากเป็นการลงมติจริง ถือว่าเป็นการลงมติลับ ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากประชาชนเรียกร้องให้ลงมติแบบเปิดเผย เพื่อเปิดเผยการลงคะแนนของคณะกรรมการแต่ละคนว่าให้แบนหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด

ถ้าหากคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 พฤศจิกายน เป็นคนเดิมกับวันที่ 22 ตุลาคม ที่ลงคะแนนไปแล้ว หากจะกลับคำ ก็ต้องมีเหตุผลที่หักล้างคำพูดของตนเองด้วย เพราะเมื่อตนเองให้เหตุผลในการแบนวันที่ 22 ตุลาคมแล้ว แต่มาถึงวันนี้จะบอกว่าไม่แบนแล้ว หมายความว่าโกหกประชาชนหรือไม่ ดังนั้นการประกาศวันที่ 27 พฤศจิกายน เป็นเพียงการประกาศเลื่อนและไม่แบนสาร ไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย และไม่มีผลต่อมติวันที่ 22 ตุลาคม ต้องยึดมตินี้เท่านั้น จะยึดมติวันที่ 27 พฤศจิกายนไม่ได้

ธีระชาติ เสยกระโทก
นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา

หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเลื่อนแบน 2 สาร ได้แก่พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซต ยกเลิกการแบน แต่ให้จำกัดการใช้นั้น ทำให้ชาวไร่มันสำปะหลังรู้สึกโล่งใจระดับหนึ่ง แต่ยังไม่พอใจนัก เพราะชาวไร่มันสำปะหลังต้องการให้ยกเลิกการแบน 3 สารเคมีไปเลย เนื่องจากช่วง 6 เดือนที่ให้เลื่อนนี้ อยู่ในช่วงที่เกษตรกรกำลังเพาะปลูกมันสำปะหลังพอดี โดยจะเริ่มเพาะปลูกมากช่วงเดือนมีนาคม หลังจากนั้นช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป ก็จะเริ่มใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชกัน ดังนั้นสารเคมีที่อยู่ในสต๊อกทั่วประเทศกว่า 20,000 ตัน คงจะยังใช้ไม่หมดแน่นอน

ขณะที่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศไทยถึง 2 ล้านไร่ มีผลผลิตปีละประมาณ 8 ล้านตัน รวมทั้งยังมีเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ปลูกอ้อยในพื้นที่อีกกว่า 6 แสนไร่ มีผลผลิตปีละกว่า 7 ล้านตัน จะมีเกษตรกรสั่งซื้อสารเคมีเหล่านั้นมากักตุนไว้ เพื่อใช้กำจัดวัชพืชกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการใช้สารเคมี สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการจ้างแรงงานคนหลายเท่า

การเลื่อนแบนสารเคมีออกไปครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเสียงสะท้อนของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมี หลังจากนี้ไปทางสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง จะเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการแบนสารเคมีอย่างถาวรต่อไป

สารี อ๋องสมหวัง
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ต้องบอกว่าผิดหวังมากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เลือกข้างบริษัทสารเคมี ไม่เลือกยืนข้างผู้บริโภค มติล่าสุดทำให้เห็นว่าไม่มีหลักวิชาการ โดยเฉพาะผลกระทบการใช้ไกลโฟเซต มีสารก่อมะเร็ง มีผลวิจัยชัดเจนว่ามีตกค้างในสายสะดือจากแม่ไปสู่ลูกสูงกว่า 50% ขณะที่ประธานคณะกรรมการยังกล้าออกมายืนยันว่าไม่อันตราย โดยให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นต้องประณามการตัดสินใจของกรรมการชุดนี้

เมื่อเกษตรกรยังยืนยันที่จะใช้สารเคมี มูลนิธิต้องการเห็นความรับผิดชอบของเกษตรกร โดยการประกาศหรือเขียนแจ้งให้ทราบว่าผลผลิตตั้งแต่พืช ผัก ผลไม้ มีการใช้สารเคมีอย่างไร

หลังจากทดสอบในน้ำส้มสด พบว่ามีการใช้สารเคมีมากถึง 13 ชนิด ในน้ำส้ม 30 ตัวอย่างมีสารตกค้างมากถึง 18 ตัวอย่าง หรือ 60% จากการสุ่มตรวจในตลาด

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ หรือเกษตรกร ควรสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยให้ผักและผลไม้ระบุแหล่งที่มา รวมทั้งกระบวนการผลิต โดยเขียนติดไว้ให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าเป็นสินค้าปลอดภัยหรือไม่ ใช้สารเคมีหรือไม่ จากนั้นจะสุ่มตรวจอย่างเข้มงวด

สิ่งเดียวที่จะกดดันรัฐบาลได้ ผู้บริโภคต้องออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้มีการผลิตอาหารปลอดภัย เพราะหลังจากมีการตรวจก็พบว่ายังไม่ปลอดภัย มีการใช้สารเคมีกันอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ไม่เห็นด้วยหากเลิกสารเคมีชนิดนี้แล้วไปใช้ชนิดใหม่ แต่ต้องการให้ใช้ทางเลือกอื่น ที่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้จริงในพื้นที่แปลงใหญ่

อานนท์ โลดทนงค์
รองประธานสภาเกษตร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเลขานุการสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย

การใช้สารเคมีทางการเกษตรต้องมองให้รอบด้าน ถ้ามองในแง่ความปลอดภัยด้านเดียวก็ต้องมีข้อมูลที่พิสูจน์ได้จริงทางวิชาการ และต้องประเมินผลกระทบว่าหากเลิกใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตลดลง หรือต้นทุนเพิ่มขึ้น ภาครัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร

ดังนั้นการชะลอการใช้สารเคมี หรือยกเลิกเพียงบางชนิดจึงเป็นแนวทางที่ค่อนข้างดี และเห็นด้วยกับการควบคุมและการจำกัดการใช้ รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรในการนำไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีปัญหาการตกค้างในอาหาร แต่ถ้ามองแบบสุดโต่งมุมเดียวว่ามีอันตรายแล้วต้องยกเลิกทันที ก็ทำให้ประชาชนสงสัยว่าเหล้า บุหรี่ที่รัฐบาลอนุญาตให้ผลิตออกมาขาย มีแต่โทษ ทำไมไม่เสนอยกเลิกบ้าง

การชะลอการแบน 2 สารไป 6 เดือน และไม่แบนไกลโฟเซต ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสารเคมีที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจะมีปริมาณลดลงมาก

ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขั้นหลังมีมติครั้งล่าสุด น่าจะเป็นปัญหาของนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ในแง่ของเกษตรกรเชื่อว่าส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะยังมีสารอื่นทดแทน ไม่กระทบกับการผลิตในภาคเกษตร หรืออุตสาหกรรมการแปรรูป

สำหรับเกษตรอินทรีย์ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการแบนสารเคมีนั้น เรื่องนี้พูดมากว่า 20 ปี ถ้าทำได้ก็ดี แต่ภาครัฐควรทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดีกว่าการพูดแล้วไม่ทำ เหมือนการทำนโยบายเกษตรแปลงใหญ่วันนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งที่ทำง่ายกว่าเกษตรอินทรีย์

ถามว่าที่ผ่านมาหน่วยงานราชการที่เบิกงบประมาณไปทำโครงการเกษตรอินทรีย์ เคยนำตัวชี้วัดในการทำงานออกมาเปิดเผยหรือไม่ แล้วสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตออกมาแล้วต้นทุนเป็นอย่างไร ตอบโจทย์ด้านการตลาดหรือไม่ มีปริมาณเพียงพอรองรับตลาดต่างประเทศจริงหรือไม่ การทำเรื่องนี้ไม่ควรเอาเกษตรกรมาเป็นหนูลองยา ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านก็ยังใช้สารเคมี อาจจะมากกว่าไทยด้วยซ้ำ แต่เกษตรกรที่ใช้มีองค์ความรู้ มีการควบคุมปริมาณที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีผลกระทบจากสารตกค้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image