ส่อง…รอยร้าวรบ. สภาเสียงปริ่มน้ำ

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ-นักธุรกิจต่อเสถียรภาพรัฐบาลภายหลังเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลในหลายปมปัญหา อาทิ แนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจที่หาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง คณะกรรมการวัตถุอันตรายพลิกมติไม่แบน 3 สารพิษ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตแพ้พรรคฝ่ายค้านในญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44


เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ภาคเอกชนต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมพลังในการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันเรามีปัญหาในด้านของปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่ยังยืดเยื้ออยู่และไม่มีใครรู้ว่าจะจบได้อย่างไร ตอนนี้ปัญหาทั้งภายนอกและภายในก็ถือว่าเข้ามารุมเร้าประเทศไทยอยู่แล้ว จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายตั้งสมาธิเพื่อให้มีสมาธิและร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะตอบสนองและเดินหน้าตาม
นโยบายของภาครัฐอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหลาย มีความพร้อมในการทำงานอยู่แล้ว แต่ต้องหาแนวทางการทำงานให้มีรูปแบบเดียวกันและบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อจากนี้ เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนว่าแต่ละพรรคจะมีวิธีการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ซึ่งก็ต้องมาหาหัวหน้าทีมที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อกำหนดนโยบายและเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะหากต่างฝ่ายต่างทำต่างนโยบายกัน แม้จะไม่ผิดแต่อาจจะไม่สามารถฝ่าฟันหรือแก้ไขปัญหาที่จะต้องเผชิญในอนาคตได้ทันท่วงที หรือฟื้นฟูได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร

ในปี 2563 ประเมินว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมองว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นได้ ทำให้เราต้องหันมาหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะมีปัญหาที่ต้องแก้ทั้งด้านภาคการส่งออก ในส่วนของการหาตลาดใหม่ การเจรจาการค้าต่างๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือจะต้องมีการฟื้นกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ ทำให้การบริโภคภายในประเทศดีขึ้น ทั้งที่เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยต้องหาวิธีให้ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) มีสภาพคล่องและมีความสามารถในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังต้องเร่งให้เกิดการสร้างงานในประเทศให้มากขึ้น

เรื่องเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเฉพาะของใครคนใดคนหนึ่ง มันต้องเป็นเรื่องของทีม ทำให้คงจะไม่สามารถโทษใครได้ว่าเรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของใคร หรือเป็นความผิดของใคร ซึ่งความจริงแล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยวันนี้เป็นเรื่องของทีม ทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมถึงมีแผนการและบูรณาการในการทำงานให้สอดคล้องกัน ในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนก็พร้อมที่จะร่วมมือด้วยอย่างเต็มที่ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนแต่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

ทำให้ตอนนี้คงไม่สามารถโทษใครได้เพราะภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้มีความรุนแรงมาก ประกอบกับเรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้มีความหนักหนาทั่วกันในทุกประเทศ ที่ต้องมีการปรับตัวเหมือนกันหมด”

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่องเสถียรภาพเป็นปัญหาของรัฐบาลผสม ซึ่งจะมีทั้งการต่อรองภายในและการต่อรองภายนอกโดยตลอดอยู่แล้ว การต่อรองภายในคือการต่อรองระหว่างกลุ่มก๊วนหรือมุ้งการเมืองในพรรค โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่อย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของบรรดา ส.ส. นักการเมืองจากแต่ละกลุ่มแต่ละส่วน รวมเป็นพรรคการเมือง ดังนั้น การต่อรองเช่นนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล การต่อรองเก้าอี้

อีกส่วนคือการต่อรองภายนอก เป็นการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ยิ่งเงื่อนไขสำคัญของสภาชุดนี้คือเสียงปริ่มน้ำ พรรคร่วมรัฐบาลแทบทุกพรรคจึงมีความสำคัญ หากกระบวนการต่อรองภายนอกไม่ลงตัวเมื่อไหร่ การขยับเขยื้อนของรัฐบาลและดุลแห่งอำนาจของเสียงในสภาผู้แทนราษฎรจะเคลื่อนตัวได้ตลอด

Advertisement

ในส่วนของบรรดาพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล จะเห็นได้ว่าทุกพรรคล้วนเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้เพื่อเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องมีตำแหน่งในฝ่ายบริหารเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลงาน เพื่อสร้างฐานเสียงให้กับพรรค อีกด้านคือจะต้องมีส่วนสำคัญในการปักธงกำหนดกติกาในการเลือกตั้งครั้งหน้า ครั้งนี้เราจึงเห็นเรื่องตำแหน่งประธานกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังเคลียร์ไม่ลงตัว เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าการต่อรองจึงเกิดขึ้นโดยตลอด โดยเฉพาะความขัดแย้งในเชิงการทำงาน และความขัดแย้งในเชิงนโยบาย ที่เห็นได้เป็นระยะๆ ล่าสุด เรื่อง 3 สารพิษ คณะกรรมการวัตถุอันตราย โครงสร้างชุดเดิมลงมติไปในทิศทางที่เป็นนโยบายของภูมิใจไทย ในขณะที่คณะกรรมการชุดใหม่ ประธานคนใหม่ที่มาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจาก พปชร.ก็ตัดสินไปอีกทิศทางหนึ่ง ที่สำคัญคือคณะกรรมการวัตถุอันตรายตามโครงสร้างใหม่ แต่ละกระทรวงที่เป็นต้นสังกัดของกรรมการล้วนมาจาก พปชร. ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม มีกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมาจากภูมิใจไทย กระทั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งดูแลโดยชาติไทยพัฒนาก็ยังมีที่นั่งในกรรมการชุดนี้ ยังไม่รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ดังนั้น ความเห็นที่หลากหลายจึงเกิดขึ้นได้แน่นอน โดยเฉพาะแต่ละพรรคล้วนมีเป้าหมายทางการเมืองที่ต่างกัน การโหวตเปลี่ยนมติจึงเกิดขึ้น

กรณี 3 สารเคมียังเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของระบบราชการ ทั้งการมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพียงพอ กระทั่งการที่ผู้บริหารในฝั่งราชการและพนักงานประจำไม่สนองต่อนโยบายของฝ่ายการเมือง ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เป็นไปได้ยาก และไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาก็เชื่อว่าจะเจอกับภาวะเช่นนี้ นี่คือปัญหาของโครงสร้างรัฐราชการที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งภายในศูนย์อำนาจก็มีความแตกแยกภายในอยู่ เป็นปัญหาที่ซับซ้อน ศูนย์อำนาจที่ไม่มีเอกภาพ ต่างคนต่างทำ ทำให้ข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อน การขับเคลื่อนในแต่ละฝ่ายที่มองภาพการต่อรองมากเกินไป สุดท้ายผลกระทบจะเกิดกับพี่น้องประชาชน

ส่วนกรณีสภาล่ม ยังสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพในรัฐบาล เสียงที่ทำให้สภาล่มมาจากปัญหาของรัฐบาลไม่ใช่ฝ่ายค้าน ซึ่งรัฐบาลจะต้องรักษาสถานการณ์ในสภาให้ดีกว่าฝ่ายค้านเพราะคือฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก ซึ่งจะส่งผลไปถึงเรื่องการออกกฎหมาย การขับเคลื่อนงานต่างๆ อันจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้ฝ่ายบริหารทำงานต่อไป อีกด้านก็เป็นการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารตามหน้าที่ของฝ่ายค้าน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุสภาล่ม ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ สภาก็เดินต่อไม่ได้ ทั้งกรณีของการวอล์ก
เอาต์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สุดท้ายเหลือเพียง 92 เสียง สะท้อนให้เห็นว่ามี ส.ส.รัฐบาลที่ไม่เข้าร่วมประชุมต่อ พอมาวันรุ่งขึ้น 28 พฤศจิกายน รัฐบาลอาจจะมีการตบเท้าเช็กชื่อ แต่ก็ได้สูงสุดเพียงแค่ 240 เสียง ในขณะที่ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้สภาล่มเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยโครงสร้างของสภาที่เสียงปริ่มน้ำ ด้วยเอกภาพและการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลผสม เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่สุดท้ายภาพลักษณ์รัฐบาลจะเป็นคนที่เสียเปรียบมากกว่าเพราะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ยังไม่รวมถึงเรื่องรายวันที่บรรดา ส.ส.และรัฐมนตรีฝ่ายรัฐบาล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเอง

รอยร้าวของแกนนำรัฐบาลจะส่งผลต่อเอกภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น จึงหนีไม่พ้นที่การเมืองต้องนิ่งและมีเสถียรภาพก่อน หากไม่มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางการเมืองจะส่งผล
กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจเดิมที่ยังไม่สามารถตกผลึกในกระบวนการแก้ปัญหาได้ จะยิ่งทำให้ความชอบธรรมทางการเมืองในระบบรัฐสภาถูกตั้งคำถาม ยิ่งสภามีภาพลักษณ์ขอนับคะแนนใหม่และอีกฟากก็ไม่ยอม สุดท้ายไม่เป็นที่เชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน

ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองสัมพันธ์กันหมด การเมืองไม่ดีเศรษฐกิจก็จะไม่ดีด้วย เศรษฐที่ไม่ดีจะวนมาสู่การตั้งคำถามต่อความชอบธรรมทางการเมือง

ทางออกในเชิงสร้างสรรค์คือต้องช่วยกัน สำคัญที่สุดคือต้องมีการหารือร่วมกันในเรื่องญัตติศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร เพื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่อีกญัตติที่มีความเกี่ยวข้องกัน คือญัตติศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในญัตติศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 วันแรกที่มีการขอนับคะแนนใหม่ มี ส.ส.อยู่ร่วมประชุมเพียง 92 คน สะท้อนว่าทั้ง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านยังคงเห็นตรงกันในระดับหนึ่งว่าเรื่องนี้ควรจะต้องหยุดก่อน ต้องคุยและประสานความร่วมมือระหว่างวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลให้ดี วิปรัฐบาลก็ต้องไปคุยกับพรรคร่วมให้เรียบร้อยก่อน

ปัญหาอีกประการคือ รัฐบาลชุดนี้ไม่มีผู้จัดการรัฐบาลที่มีบารมีดีพอในการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน วิปรัฐบาลจึงเกิดปัญหาเช่นนี้หลายครั้ง ส่วนของสภา สะท้อนให้เห็นการมีฝีไม้ลายมือและบารมีทางการเมืองพอสมควร แต่อาจจะยังไปไม่ถึงจุดที่ทำให้ทุกฝ่ายในรัฐบาลยอมรับ หรือกระทั่งฝ่ายค้านยอมรับ จึงต้องปรับเปลี่ยนด้วยการมาพูดคุยกัน อาจจะต้องมีการเสริมทัพ เสริมทีมในวิปรัฐบาล

ส่วนของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า ครม.ต้องเป็นผู้ประสานรอยร้าวต่างๆ เพราะคุณสมบัติสำคัญของผู้นำนอกจากความกล้าตัดสินใจและความเด็ดเดี่ยวแล้วจะต้องเป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ด้วย จึงจะประสานงานให้งานเดินต่อได้ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นายกฯจะต้องพูดคุยกับรัฐมนตรีที่เกิดประเด็นปัญหากัน กระทั่งกรณี 3 สารพิษ ต้องมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเลื่อนการบังคับตามมติเดิมและอะไรที่เป็นปัญหา เช่น การท้วงติงเรื่องข้อมูล เรื่องมติต่างๆ ต้องออกมาทำให้ชัดเจน ทั้งนี้ นอกจากการเจรจา พูดคุย ประสานความร่วมมือแล้ว ยังต้องมีเรื่องธรรมาภิบาลทางการเมืองและความเสมอภาค ทั้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริง การปฏิบัติทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาคกับทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินต่อได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image