‘หอค้าไทย’ระดมสมองปลุกศก. เลิกบทป๋าแจกเงิน-ดันนวัตกรรม

หมายเหตุ – นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 ในหัวข้อ “THAITAY in ACTION : ไทยเท่ ทำได้ ทำจริง” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน

กลินท์ สารสิน
ประธานกรรมการหอการค้าไทย
และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ตอนนี้ไทยกำลังถูกจู่โจมด้วยดิจิทัลดิสรัปชั่นมาเร็วกว่าที่คิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ต้องการความสะดวก ประหยัดเวลา และต้องการเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น ส่วนในเรื่องของปัจจัยลบในต่างประเทศ บางปัจจัยถือเป็นผลดีกับประเทศไทย อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ทั้ง 2 ประเทศต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ของอาเซียน แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการส่งออกที่ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ทำให้การกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึงแต่ถึงอย่างนั้น ไทยก็ยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีเงินจากต่างประเทศไหลเวียนเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ไทยยังมีการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ รวมถึงไทยยังเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ในการสร้างความเชื่อมโยงเรื่องการแพทย์ อาทิ ตรวจสุขภาพ และการทำศัลยกรรมความงาม เป็นต้น โดยปีนี้มีจำนวนผู้มาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้ารักษาดังกล่าวกว่า 4 ล้านคน รวมถึงยังเป็นศูนย์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย ส่วนช่วงที่มีเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายและกระทบกับการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจึงต้องหากลุ่มตลาดใหม่ๆ ในการเพิ่มจำนวนนัก
ท่องเที่ยวมากขึ้น

Advertisement

โดยการทำงานในช่วงที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก ในปีนี้ถึงเวลาที่ต้องทำงานอย่างเต็มรูปแบบแล้ว แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เราเชื่อว่าไทยจะเข้มแข็ง โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะไทยสามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมบนพื้นฐานวัฒนธรรมของไทย โดยในปี 2562-2563 จะเร่งให้มีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ สร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิก อาทิ ผลักดันโครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร โครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน และการแก้ไขปัญหาหมอกควัน เป็นต้น

หอการค้าพยายามดันภาครัฐในหันมาทำแพลตฟอร์มในการซื้อขายให้มากขึ้น โดยใช้รูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษให้น้อยลงลดขั้นตอนในการติดต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยในปีนี้ยังเน้นเรื่องการค้าการลงทุน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งในเรื่องของการค้าชายแดนเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ และเป็นรื่องที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้ ส่วนภาคการเกษตรมีการสนับสนุนโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ให้ปลูกโกโก้ ซึ่งสามารถขยายการปลูกไปในหลากหลายพื้นที่แล้ว อาทิ น่าน และนครศรีธรรมราช เป็นต้น

ส่วนการปลูกกระบองเพชรก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 2 ล้านบาทต่อไร่

Advertisement

สุวิทย์ เมษินทรีย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีเป้าหมายเพื่อนำประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็มีปัญหาว่ารัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร โดยกลไกการขับเคลื่อนประเทศหลังจากนี้ ไทยต้องสู้กับความท้าทายในยุคที่เทคโนโลยีกำลังป่วนโลก หรือยุคที่ทุกคนกำลังเรียกหาความยั่งยืน และวิธีลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผมในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษาได้เสนอหลักคิดในรูปแบบการขับเคลื่อน บีซีจี อีโคโนมี (BCG Economy) คือการผนึกกำลังการทำงานในรูปแบบจตุภาคี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน สังคม มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดปรับใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของไทย

ที่ผ่านมาคนไทยมีบทเรียนราคาแพง ที่ไทยเอาแต่พึ่งพาการส่งออกจากต่างประเทศมากจนเกินไป ในอดีตไทยเคยพัฒนาจากการลดนำเข้าไปสู่การส่งเสริมการส่งออก และนำไปสู่การดึงการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ซึ่งตัดภาพมาที่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนอย่างมาก ขณะที่เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (โลโคอีโคโนมี) และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เป็นเรื่องที่มีความสำคัญแต่ประเทศไทยกลับไม่มีฐานที่แข็งแรงพอ เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนี้ไปจะมีการพัฒนาที่ตรงจุดมากขึ้น อาทิ การสร้างความเข้มแข็งจากภายในแต่เชื่อมไทยไปสู่โลก, การเดินหน้าไปสูศตวรรษที่ 21ด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งหลักคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือบีซีจี อีโคโนมี

ทั้งนี้ การเดินหน้าตามโมเดลบีซีจี อีโคโนมี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งไทยก็ได้มีการเดินหน้าในเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แล้ว เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายในวัฒนธรรม โดยในการพัฒนาต้องเอาทั้ง 2 เรื่องนี้มาร้อยเรียงกัน และต้องมีการเพิ่มองค์ความรู้ประกอบเข้าไปด้วย สิ่งสำคัญก็คือว่าบนความหลากหลายเหล่านี้หากทำสำเร็จจะสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยมีหลักคิดในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญบีซีจี โมเดลสามารถตอบโจทย์และผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ได้แก่ อาหารและการเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุ และเคมีภัณฑ์ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยตั้งเป้าการพัฒนาในรูปแบบนี้ จากเดิมที่มีการเติบโต 3.4 ล้านล้านบาท จำนวนการจ้างงาน 16.5 ล้านคน ภายใน 5 ปี ต้องมีการเติบโต 4.4 ล้านล้านบาท จำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน

สำหรับความท้าทายในการพัฒนาประเทศไทย ด้านเกษตรและอาหาร มีประชาชนที่ทำอาชีพนี้จำนวน 12 ล้านคน 90% ของพื้นที่เพาะปลูก มีการปลูกพืช 6 ชนิดคือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ความท้าทายคือในเรื่องของราคาสินค้าเกษตรผันผวนเกษตรกรรายได้ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และแรงงานภาคเกษตรมีอายุมากขึ้น, ด้านสุขภาพและการแพทย์ ไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นจำนวนจ่ายด้านสุขภาพเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ความท้าทายคือการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การพึ่งพาการนำเข้ายา วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ, ด้านพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ โดย 60% ของพลังงานที่ใช้ในประเทศมาจากการนำเข้า ซึ่งความท้าทายคือการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตและการลดการนำเข้าพลังงาน และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่ 80% ของนักท่องเที่ยว
กระจุกตัวใน 8 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งความท้าทายคือภาวะนักท่องเที่ยวเกินความสามารถในการรับรองของแหล่งท่องเที่ยวทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมจากความท้าทายดังกล่าวทำให้เห็นว่าไทยยังมีปัญหาในเรื่องของการพัฒนาและแผนการรับมือในอนาคตที่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก

ดังนั้นเราจึงต้องมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและทั่วถึงทั้งประเทศ, ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ราคาสูง, ลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อในคน สัตว์และพืช รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, ลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน, ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน สัตว์น้ำ ปะการัง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก, ต้องมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านตัน และสร้างสังคมฐานความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน

สิ่งที่จะทำให้บีซีจี โมเดลขับเคลื่อนไปได้ต้องอาศัยตัวสนับสนุนหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม 2.การสร้างความสามารถของกำลังคน 3.โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก และ 4.ยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ นอกจากนี้ต้องมีการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองให้มากขึ้น โดยในขณะนี้มีการขับเคลื่อนบีซีจีเชิงพื้นที่ ได้แก่ ลานนา 4.0, ด้ามขวาน 4.0, อีสาน 4.0, ภาคตะวันออก 4.0 และภาคกลาง 4.0 ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่างกันไปเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

ตอนนี้ผมได้มีการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนของประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างการจัดทัพบีซีจี ซึ่งครั้งนี้ต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่ โดยมั่นใจว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้งบประมาณของภาครัฐที่มีระเบียบมากขึ้น โดยต้องเปลี่ยนจากวิธีการแจกเงินให้ประชาชนมาเป็นการลงทุนนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา หากทำสำเร็จจะช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปีนี้มีการใช้งบประมาณกว่า 250 ล้านบาท แต่คาดว่าปีหน้าจะขยับขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเดิม และจะไปลดงบประมาณในส่วนอื่นแทน ต้องเข้าใจตอนนี้เรายังเดินไม่พ้นยุคไทยแลนด์ 3.0 ที่กำลังเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

ผมมั่นใจว่าบีซีจีจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนให้ไทยเข้าสู่ 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ไทยใช้งบประมาณอย่างถูกต้องมากขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image