รบ.แจง ให้เสรีภาพด้านศาสนาวัฒนธรรม ‘ไทยพุทธ-มุสลิม’ ไม่ขัดแย้ง หลัง ‘บุหงารายา’ ขึ้นเวทียูเอ็น ชี้ภาษายาวี-มลายูวิกฤตจากนโยบาย รบ.

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อข้อกังวลวิกฤตภาษามลายูในจังหวัดชายแดนใต้ของตัวแทนภาคประชาสังคม ณ เวทีสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยสนับสนุนงบประมาณโรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งทั้งสามสถาบันนี้เป็นแหล่งให้ความรู้ทางศาสนาและภาษาแก่เยาวชนมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนตาดีกาที่ตั้งอยู่ในชุมชน ซึ่งเด็กระดับประถมจะไปเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนสถาบันศึกษาปอเนาะ การเรียนการสอนสำหรับเด็กมัธยมเป็นไปอย่างสอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน ให้ความรู้ทั้งทางศาสนาและภาษามลายู เสริมด้วยวิชาสามัญเพื่อทักษะในการประกอบอาชีพเท่าทันสถานการณ์ มากไปกว่านั้น ปัจจุบันนี้กระทรวงศึกษาฯได้จัดทำหลักสูตรกลางอิสลามศึกษา สำหรับผู้สนใจในระดับชั้นประถม มัธยมต้นและปลาย ทั้งในแบบภาษาไทยและมลายู ซึ่งกระทรวงฯไม่ได้เข้าแทรกแซง แต่เป็นการจัดทำหลักสูตรร่วมกันระหว่างศึกษานิเทศก์ที่มีความเชี่ยวชาญ โต๊ะครู และสมาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม

น.ส.รัชดากล่าวว่า คำกล่าวเรื่องการไม่ใช้ภาษามลายูเป็นชื่อสถานที่ ชี้แจงว่าชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว หากมีชื่อเรียกภาษามลายูอยู่ก่อนแล้ว ชื่อนั้นก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ เช่น บ้านตะบิงติงงี บ้านคาแวะ ต.กาบัง ต.สะเอะ อ.เจาะไอร้อง อ.ระแงะ หาดตะโล๊ะสะมีแล หาดตะโละกาโปร์ ดังนั้น ขอให้ประชาชนและนานาชาติมั่นใจต่อนโยบายของรัฐบาลที่เคารพในเสรีภาพในการนับถือศาสนาของคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมอัตลักษณ์และวัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะนั่นคือหัวใจของสันติภาพอย่างแท้จริง

“ขอให้พิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ด้วยความหนักแน่น อย่าตกเป็นเครื่องมือการสร้างความเกลียดชัง เพราะกระแสจากภายนอกจะกระทบวิถีชีวิตคนในพื้นที่และอาจขยายวงไปสู่ประเด็นอื่น วันนี้คนไทยพุทธและไทยมุสลิมไม่ได้มีความขัดแย้งต่อกัน และประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งทางศาสนาหรือวัฒนธรรมแต่อย่างใด” น.ส.รัชดากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image