น.2 ‘สมคิด’กล่อมหอค้าฯ ร่วมมือฝ่ามรสุมศก.

หมายเหตุนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานปิดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ
ครั้งที่ 37 พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ร่วมมือ ร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต “ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม

ครั้งนี้ผมได้รับหน้าที่มารับสมุดปกขาวจากหอการค้าแห่งประเทศไทย แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายให้มาพูดคุยกับภาคเอกชนในนามของรัฐบาล ในช่วงหลังผมไม่ค่อยได้ไปพูดข้างนอกมากนัก เพราะว่าพูดทีไรก็จะมีคำถามในเรื่องกระทรวงที่ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง ฉะนั้นเลยไม่พูดเสียดีกว่า มีอะไรให้ไปถามรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้นแล้วกัน แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งพิเศษ เนื่องจากเป็นงานของหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เติบโตมาพร้อมกับผม และช่วยเหลือในเรื่องการทำงานซึ่งกันและกันมาตลอด และอยากจะพูดกับน้องๆ ที่เป็นผู้บริหารหอการค้า ต้องการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน เพื่อสังคมต่อไปในอนาคตข้างหน้า

โดยการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มาก นี่คือศักยภาพของประเทศ จะต้องเร่งโปรโมตเศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการสร้างธุรกิจภาคบริการ ขณะนี้ 50% ของจีดีพี มาจากภาคบริการ และโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว การเงินสมัยใหม่ ตอนนี้ต้องโฟกัสธุรกิจบริการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะขณะนี้ภาคการผลิตได้นำเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ระบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วแรงงานเหล่านี้จะอยู่ที่ไหน ผู้ประกอบการไม่ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะต้นทุนของประเทศคู่แข่งใช้หุ่นยนต์ถูกมาก ธุรกิจภาคบริการจะเข้ามารองรับแรงงานเหล่านี้ คนที่ออกไปคือไปในภาคบริการ จะเป็นอุตสาหกรรมหลักสร้างงานสร้างรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโตสูงมากมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน จะต้องผลักดันท่องเที่ยวเมืองรอง และชนบทให้ได้ รวมทั้งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกันการผลิต รวมทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องผลักดันให้ออกไปประชุมในท้องถิ่นในหมู่บ้าน หอการค้ามีทุกจังหวัดหากจะจัดประชุมสัมมนาก็ควรออกใช้ห้องประชุมในจังหวัดรองชุมชนต่างๆ เพื่อให้เงินไปหมุนเวียนในชนบท

การประชุมในครั้งนี้ ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ ไทยเท่ เอาไว้ ถึงเวลาแล้วต้องถามตัวเองว่าไทยเท่จริงหรือเปล่า ถ้าเท่ยังไม่จริงก็ต้องพยายามทำให้มันเท่ แล้วต้องถามต่ออีกว่าประเทศไทย ลงมือทำจริงหรือเปล่า หรือว่าพูดเยอะ แต่ไม่ค่อยทำ ทำเท่อย่างเดียวก็ไม่เอา แต่สำคัญที่สุดต้องย้อนกลับไปในเนื้องเพลงของปีที่แล้ว ที่บอกว่า ใจสู้หรือเปล่า ถ้าโดนนิดหน่อยก็ร้องแล้ว อย่างนี้ถือว่าไม่แน่จริง แต่ถ้าใจสู้ก็สู้ไปพร้อมๆ กัน นี่เป็นคำฝากของผม มาสู่ไทยเท่ ของหอการค้า ผมรู้ว่าทุกวันนี้ คนเป็นกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ แต่สมัยนี้ต้องตั้งสติดีๆ ว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ต้องมีสติในการติดตามข่าวสาร บางครั้งเล่นกันจนมั่ว

Advertisement

อย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่ เพียงแต่การโตนั้น มันชะลอตัวลงมา เศรษฐกิจไทยไม่ได้ปรับตัวติดลบ ฉะนั้นเวลาอ่านข่าวในโซเชียลเยอะๆ แล้วบอกว่าธุรกิจเจ๊งแล้ว ฉะนั้นอย่ามัวแต่ไทยเท่ ภาคเอกชนต้องออกมาฉายภาพว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร ตัวเลขผลิตภัณฑ์ของประเทศ (จีดีพี) ไทยโต 2.4% ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา ก็ถือว่าไทยสู้มาตลอด ถ้าไม่มีการวางรากฐานที่สะสมมาเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว วันนี้ต้องเหนื่อยกว่านี้แน่ แต่ 4-5 ปีที่รัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ 1 สะสมมา จนได้พื้นฐานเศรษฐกิจที่มีอยู่สามารถเสียดทานกับตลาดโลกได้ ฉะนั้นควรให้เครดิตรัฐบาลบ้าง

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซึมตัวลง มาจากปัจจัยหลายอย่าง ให้วัดง่ายๆ จากเศรษฐกิจโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดเศรษฐกิจโลกมาเป็นครั้งที่ 4 เหลือเพียง 3% การค้าโลกปรับตัวลงมาขนาดนี้ แค่เวลาไม่กี่เดือนปรับลงมาถึง 4 ครั้ง ส่งผลให้การค้าขายของโลกชะลอตัวลง ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเติบโตได้เป็นเพราะเศรษฐกิจจีน เมื่อเศรษฐกิจจีนแข็งแรง ก็เป็นโอกาสให้เศรษฐกิจโลกแข็งแรงตามไปด้วย เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐ ก็ได้รับผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อประเทศหลัก ภาคการค้าปรับตัวลดลง การส่งออกและการนำเข้าของประเทศ ก็หดตัวตามไปด้วย ประเทศไทย 60-70% ของจีดีพีไทย ต้องพึ่งพาการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวลงก็ไม่แปลกที่ไทยจะได้รับผลกระทบ

ช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง บาทเคยแข็งค่าถึง 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไทยก็สามารถทำให้กลับมาสู่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ หากเปรียบเทียบประเทศไทยในขณะนี้ เจริญกว่าเมื่อตอนเจอปัญหาเรื่องค่าเงินบาทไหม ถ้าไม่เจริญกว่า จะให้ค่าเงินบาทไปอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ว่าทางการไม่ดูแล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ก็ดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ยุคสมัยนี้ จะต้องดูแลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า สามารถทำได้จริงไหม ถ้าจะให้รัฐไปสั่งแบงก์ชาติก็ไม่ได้ เพราะเขามีอิสระในการทำงานของหน่วยงาน ที่สำคัญมีการส่องกล้องมาจากสหรัฐ ไทยมีสิทธิเข้าไปเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถแทรกแซงค่าเงินของประเทศตัวเองได้

Advertisement

ถ้าไทยเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้น ผลที่ตามมาคือ จะมีมาตรการทางการค้าออกมาทันที ทีนี้ไทยจะได้รับผลกระทบหนักเลย ฉะนั้นไทยจะต้องแก้ปัญหา โดยกระทรวงการคลังจะต้องไปหารือร่วมกับแบงก์ชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ ต้องไปขอร้องรัฐวิสาหกิจ ให้ไปซื้อของจำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ปตท. รัฐก็ต้องบอกภาคเอกชนว่าจังหวะเงินบาทแข็ง หากไม่ลงทุน หรือไม่เปลี่ยนเครื่องจักร ในฐานะที่พวกคุณเป็นตัวแทนของหอการค้า และนักธุรกิจทั่วประเทศ หอการค้าฯต้องสอนให้คนไทยรู้ว่า การทำประกันความผันผวนทางค่าเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่าไปคิดว่าค่าเงินบาทจะกลับมาอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ได้ ฉะนั้นทุกคนถึงต้องช่วยกัน การจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนได้ไม่ง่าย เราต้องรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว

ถึงเวลาที่เอกชนต้องเพิ่มระดับให้กับธุรกิจให้ทันกับโลกดิจิทัล ผมได้กระทุ้งทุกกระทรวงที่ดูแลอยู่ในเรื่องนี้ ผมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้นเอกชนก็ต้องช่วยรัฐบาลด้วย หากถามว่าทำไมเศรษฐกิจถึงชะลอตัวลง นอกจากส่งออกแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรอีก แต่ต้องมองย้อนไปว่ากว่าจะมีรัฐบาลก็เดือนกรกฎาคมแล้ว ทุกคนไปดูตัวเลขการเบิกจ่ายในข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ว่าติดลบตกเป็นท้องช้าง ระบบราชการทุกคนก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ต้องรอดูว่าใครมาใครไป รัฐบาลประยุทธ์ 1 รักษาการ 6-7 เดือน เศรษฐกิจในตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมาแล้ว

ส่วนการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่เกิดอุตสาหกรรมไทยจะไปไม่รอด วันนี้ อีอีซีเริ่มติดตลาดแล้ว จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ไทยกลับมาเป็นที่โดดเด่นในเวทีโลก หากไทยไม่มีจุดเด่นใหม่ๆ ก็ไม่มีใครมาลงทุน รวมทั้งจะต้องก้าวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการที่ประเทศจีนออกนโยบายเบลท์แอนด์โรด จะต้องเอาความคิดของเราไปใส่ความคิดเขา ประเทศใหญ่จะมองไม่เห็นไทย เราต้องคิดว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากไทย และไทยได้ประโยชน์อะไรจากจีน ยุทธศาสตร์เบลท์แอนด์โรดมุ่งมาอาเซียน ไทยได้แสดงให้จีนเห็นว่าหากเส้นทางนี้ผ่านอีอีซี จากนั้นลงใต้ไปที่ท่าเรือ จ.ระนอง ต่อไปอินเดียเป็นประตูไปสู่ทะเลตะวันตกได้ เอาความคิดนี้ไปใส่เขารถไฟไทยจีนจึงเกิด พอเห็นจีนเข้ามามากญี่ปุ่นก็ตามเข้ามาด้วยสนับสนุนไทยให้เชื่อมต่อกับเขา รวมทั้งจีนกับญี่ปุ่นก็ได้ลงนามความร่วมมือออกไปลงทุนร่วมกันในประเทศที่ 3 อีอีซีเป็นจุดที่จะมาลงทุน

ซีแอลเอ็มวี แย่งกันเป็นฮับ แต่ไทยแสดงให้เห็นว่าเรามีเครือข่ายเส้นทางต่างๆ เชื่อมโยงประเทศรอบข้าง เป็นฮับที่แท้จริง เอาจุดนี้ไปขายต่างประเทศก็สนใจมาลงทุนเมืองไทย รัฐบาลจีนสั่งการมาที่ฮ่องกง มาเก๊ากวางตุ้ง ให้เข้ามาไทย เพื่อเป็นหัวหอกเจาะอาเซียน โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการเงินทุกอย่างนวัตกรรมใหม่ๆ ของจีนอยู่ในบริเวณนี้ รัฐบาลปักกิ่งสั่งให้มาสนับสนุนร่วมกับไทย

แต่ประเด็นที่ยังคงท้าทายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้ คือ เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง จากเหตุการณ์สภาผู้แทนราษฎรล่ม 2 ครั้งติดต่อกัน จึงขอทุกฝ่ายไม่สร้างความแตกร้าว ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ส่วนการคาดเดาเหตุการณ์สภาล่มเป็นครั้งที่ 3 ผมอยากให้ทุกคนมองโลกในแง่ดีไว้ก็เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image