เดินหน้าชน : เยาวชน-ศก.วน : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

“ลด-ละ-เลิก” ใช้พลาสติก เป็นกระแสมาแรงในปัจจุบัน แต่เมื่อเอ่ยชื่อถึง “พลาสติก” ผู้คนทั่วไปอาจเหมารวมว่าเป็นตัวร้ายกับสิ่งแวดล้อมไปซะหมด

ทั้งที่ “พลาสติก” นั้นมีหลากหลายชนิด ที่เป็นประโยชน์ก็มีมากมาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่รายล้อม
รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นเช้า อาบน้ำ ไปทำงาน กินข้าว จนเข้านอน ส่วนประกอบสำคัญล้วนมาจากพลาสติกทั้งนั้น

ส่วน “พลาสติก” ที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากสุด จะเป็นประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะถุงพลาสติก

แต่ไม่ว่าพลาสติกชิดใด ล้วนมีต้นธารมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นต้นธารให้กับอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อให้เกิดการต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาใช้ทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ

Advertisement

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ยังสามารถนำมาหมุนเวียนใช้งานใหม่ให้คุ้มค่าสูงสุดด้วยวิธีรีไซเคิล หรืออัพไซคลิ่ง โดยใช้นวัตกรรม ไอเดีย และการออกแบบ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ตามหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

ขณะเดียวกันมีการวิจัยพัฒนาไบโอพลาสติก หรือพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยร่วมกันขับเคลื่อนหลายมาตรการ เช่น ห้างร้านต่างๆ จะงดแจกถุงก๊อบแก๊บ ดีเดย์ 1 มกราคม 2563 นี้ และทยอยมีมาตรการและกิจกรรมต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง

Advertisement

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผลักดันโครงการ “วน” เพื่อลดขยะพลาสติกในอุทยานแห่งชาติกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ

โดยนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องนำขยะพลาสติกออกมาไปขายให้กับบริษัทสตาร์ตอัพ ที่ร่วมโครงการเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยถุงพลาสติก 1 กิโลกรัมมีราคา 5 บาท แล้วนำเงินไปช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หรือบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

แรกๆ ก็มึนๆ กับชื่อโครงการ “วน” แต่เมื่อ “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัด ทส. บอกว่าใช้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ก็ถึงบางอ้อ… “หมุนเวียน” กับ “วน” มันก็ “คือกัน”

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ก็มีหลากโครงการ หลายกิจกรรม ที่ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ต่อเนื่องมาหลายปี

อีกกิจกรรมที่ “จีซี” ดำเนินการต่อเนื่องกันมา 5 ปีแล้วคือการจัดเวิร์กช็อป ผลงานศิลปะสื่อผสมจากพลาสติก ตามแนวคิด “Circular Living” ร่วมกับเยาวชนผู้ปกครอง และคุณครู ในหัวข้อ “GC Circular Living for Better World” และการประกวดวาดภาพระบายสี โครงการ “มหัศจรรย์ปิโตรเคมี ปี 5” ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

“ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “จีซี” บอกว่า โครงการดังกล่าวเพื่อให้เยาวชนได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้ใช้จินตนาการ ผสานความรู้รอบตัว และความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดภาพระบายสี ในหัวข้อ “Circular Living หมุนเวียนสู่คุณค่าไม่สิ้นสุด”

พร้อมปลูกฝังความตระหนัก และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนที่จะนำพลาสติกบางประเภทมารีไซเคิล หรืออัพไซคลิ่ง มาใช้ใหม่ให้คุ้มค่า

การประกวดวาดภาพปีนี้มีเยาวชนส่งผลงานร่วมการประกวดมากถึง 1,051 ชิ้นทั่วทุกภาคของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าเยาวชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

เป็นการกระตุ้นเยาวชน เพื่อมารับไม้ต่อในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน(วน)” ให้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

 

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image