พรรคประชาชาติ เตรียมฟ้อง ‘ผู้กองปูเค็ม’ โพสต์หมิ่นประมาท

ฟ้องผู้กองปูเค็ม

พรรคประชาชาติ เตรียมฟ้อง ‘ผู้กองปูเค็ม’ โพสต์หมิ่นประมาท ‘ทวี สอดส่อง’ ระบุประธานสภาฯต้องไม่ใช้ดุลพินิจเกินกว่าถ้อยคำในกฎหมาย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 ธันวาคม ที่สำนักงานพรรคประชาชาติ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 13.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานการประชุมร่วมคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาชาติ โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีต่อ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ “ผู้กองปูเค็ม” หลังจากที่ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นพาดพิงพรรคประชาชาติและพรรคอนาคตใหม่ในเพจเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “ผู้กองปูเค็ม” เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2562 กล่าวหาว่า

“พรรคปาส หรือพรรคอิสลามมาเลเซีย (Malaysian Islamic Party) อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด 15 ปี โดยมีพรรคประชาชาติและพรรคอนาคตใหม่เป็นแนวร่วม”

ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สมาชิกพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย ดาวกระจายแจ้งความต่อ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจต่างๆหลายแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ในข้อหา กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

“หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น”

Advertisement

ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง โดยได้หารือประเด็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 ที่มีการลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากการใช้ประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งผลการลงมติปรากฎว่า ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ซึ่งฝ่ายค้านชนะ 234 เสียง ฝ่ายรัฐบาลแพ้ 230 เสียง แต่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ประท้วง ขอให้นับคะแนนใหม่ จนนำมาสู่การประท้วงคัดค้านของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และการวอล์คเอาท์ของ ส.ส.ฝ่ายค้านนั้น

ที่ประชุมพรรคประชาชาติได้หารือประเด็นที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้วินิจฉัยให้ลงคะแนนใหม่และนับคะแนนใหม่ เป็นการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือไม่

Advertisement

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้ดุลพินิจเกินไปกว่าถ้อยคำในกฎหมาย ประเทศไทยเป็นระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่บุคคลทุกคนสามารถรู้กฎหมาย และต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน สภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนเพื่อให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าใจและตัดสินใจในกฎหมายด้วยตนเองได้ ถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายจะนิยามความหมายเป็นการเฉพาะ หากไม่มีนิยามจะต้องใช้ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด โดยกำหนดให้ใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เป็นแบบมาตรฐานสำหรับหน่วยราชการ สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน กรณีวันที่ 27 พ.ย. 2562 สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบญัตติจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากคำสั่งประกาศของ คสช. และประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44

แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขอมีการนับใหม่ ตามข้อบังคับที่ 85 เมื่อพิจารณา ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 128 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่มีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายนั้น คือ “ข้อ 85 เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตาม ข้อ 83 (1) แล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธี ตามข้อ 83(2) เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่ายี่สิบห้าคะแนนจะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ ไม่ได้ เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 83 (2) แล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ อีกไม่ได้”

จะเห็นว่าตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 85 ประกอบข้อ 83 ที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีถ้อยคำในข้อบังคับชัดเจน คือคำว่า “ออกเสียงลงคะแนน” กับ “นับคะแนน” เมื่อพิจารณาตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 มีความหมายแตกต่างกัน คือ “ออกเสียง” หมายถึง เปล่งเสียง, ลงคะแนนเสียง, ลงคะแนนเลือกตั้ง, ออกความเห็น คำว่า “นับ” หมายถึง ตรวจหรือบอกให้รู้จำนวน ซึ่งการวินิจฉัยของประธานผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประธานรัฐสภาที่เป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับ จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเกินกว่าที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติไว้น่าจะเป็นการกระทำที่เกิดความไม่แน่นอนและไม่ชอบ

ในที่ประชุมพรรคประชาชาติมีผู้วิเคราะห์ว่า ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะไม่ยอมปล่อยให้การตั้งกรรมาธิการวิสามัญนี้ผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรอย่างแน่นอน เพราะจะนำไปสู่การตรวจสอบคณะก่อรัฐประหาร จึงเป็นภาระและความกดดันของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องค้านการตั้งกรรมาธิการนี้อย่างสุดความสามารถ เพราะหากกรรมาธิการนี้ผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐบาลอาจจะตัดสินใจยุบสภาหรืออาจมีการก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหรือไม่

ส่วน ปัญหาอุทกภัยในจังหวัดนราธิวาส ที่มีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนนั้น ที่ประชุมพรรคประชาชาติได้หารือแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้มอบหมายให้นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้นำ ส.ส.และทีมบริหารพรรคประชาชาติ ลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยบรรเทาความเดือดร้อนขั้นต้น โดยการแจกน้ำดื่ม ข้าวสารและอาหารแห้งจำนวน 1,000 ชุด ในวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image