ตั้งกมธ.ศึกษาผลคำสั่งม.44 เหลี่ยมคูการเมือง-ตำใจคสช.

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการสำหรับญัตติว่าด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการกระทำของประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของสภาผู้แทนราษฎรนั้น

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นักวิชาการด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

หากมีการตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็จะเห็นว่า คสช.มีการใช้คำสั่งส่วนหนึ่งที่ไม่สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ขณะนี้ไม่ทราบว่ามีการยกเลิกทั้งหมดแล้วหรือไม่ ยกตัวอย่าง เช่น การเปิดโอกาสให้โครงการการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ได้รับการยกเว้นการทำกฎหมายผังเมือง การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับผลกระทบ หากมีการตั้งกรรมาธิการเข้าไปศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียดก็จะนำไปสู่การฟ้องร้องให้เยียวยาความเสียหาย

นอกจากนั้นหากมีการศึกษาลงลึกอีกหลายคำสั่งก็จะเห็นผลกระทบอีกหลายด้าน และกระทบกับภาพลักษณ์ของ คสช.ในอดีตที่อยู่ในอำนาจที่เบ็ดเสร็จนานถึง 5 ปี แต่ช่วงแรกบอกว่าเราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน และ สะท้อนการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

Advertisement

เห็นด้วยอย่างยิ่งและควรสนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบอำนาจ แม้ว่าที่ผ่านมามีบางฝ่ายพยายามเคลื่อนไหวโดยกลไกของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะล้มญัตติยิ่งชวนให้น่าสงสัย

หากมองอีกมุมถ้าหากการทำงานในอดีตของ คสช.และรัฐบาลเก่ามีความโปร่งใส มีความมั่นใจว่าไม่มีปัญหา การตั้งกรรมาธิการก็ไม่เสียหาย

แต่ถ้าออกมาตั้งป้อมสู้ไม่ยอมให้ตั้งกรรมาธิการโดยไม่มีเหตุผลที่น่ารับฟัง ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวให้ตั้งโดยเร็ว เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอะไรในกอไผ่อย่างแน่นอน

ถ้าถามว่าหากย้อนกลับไปได้ส่วนตัวต้องการเห็นการใช้มาตรา 44 นำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดสรรให้คนยากไร้เข้าไปทำกิน หรือเรื่องอื่นที่เกิดประโยชน์เช่นการปราบทุจริต และแม้ว่ามาตรา 44 จะเป็นกฎหมายพิเศษหรือดาบอาญาสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพใช้ได้ง่าย เห็นผลเร็ว ไม่มีการถ่วงดุล

แต่ต้องเข้าใจว่าใช้ในขณะที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นหนทางที่เหมาะสมควรใช้กฎหมายที่เป็นธรรมก็จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข

ในอนาคตไม่ต้องการเห็นการใช้อำนาจเช่นเดียวกับการใช้มาตรา 44 แต่ถ้ามีการยึดอำนาจอีกก็คงหนีไม่พ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำอย่างไรไม่ให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก

สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการยึดอำนาจ ต้องยอมรับว่าหลังจากนั้นการทำหน้าที่ของ คสช.มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร แต่ไม่แรงพอไม่มีพลังที่จะหยุดการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จ

ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรพึ่งพา มาตรา 44 และอำนาจของเผด็จการในการปฏิรูปการเมืองอีก ยอมรับว่าผิดหวังหลังจากเคยออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง

แต่วันนี้ดีใจที่ทำให้สังคมไทยเห็นว่าเผด็จการและการยึดอำนาจไม่สามารถสร้างการปฏิรูปได้จริง อย่าไปคาดหวังลมๆ แล้งๆ กับอำนาจนอกระบบ ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญของสังคมไทย และถ้าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกเพื่อไล่รัฐบาลที่บริหารประเทศโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ ยังถือเป็นหน้าที่ของประชาชน แต่สิ่งที่ต้องคิดก็คือจะไล่รัฐบาลออกไปอย่างไร ไม่ให้ทหารเข้ามาฉกฉวยเพื่อยึดอำนาจ เชื่อว่าการศึกษาผลกระทบการใช้มาตรา 44 จะไปสู่การแฉครั้งใหญ่ ทำให้ความแข็งแกร่งของรัฐบาลชุดปัจจุบันด้อยลง ทำให้สังคมไทยเลิกคาดหวังกับระบอบเผด็จการหรือการทำรัฐประหาร

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ถ้าตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาจะได้เห็นว่าทุกคำสั่งจากมาตรา 44 ถูกนำไปใช้อย่างไร มีเหตุผลหรือไม่ เป็นผลดีหรือผลเสียกับประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่จะได้อะไร แต่เท่าที่ประเมินจะมีผลเสียค่อนข้างมาก

เช่น การเปิดเหมืองทอง การตั้งข้าราชการระดับ 11 เพียงรายเดียว หรือไปเหมาเข่งลงโทษนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการที่ไม่มีมูลความผิดจากคดีทุจริตสอบรรจุข้าราชการท้องถิ่น แล้วไม่สะสางให้จบเพื่อให้โยงไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบางรายในฐานะตัวการใหญ่ เพราะมีการวิ่งเต้นทำให้เรื่องเงียบ

ดังนั้นเมื่อมาตรา 44 ถูกใช้เป็นกฎหมายการแก้ไขก็ต้องเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการ

สำหรับผู้ที่ยื่นญัตติให้สภาบรรจุวาระพิจารณาตั้งกรรมาธิการศึกษา ถือว่ามีเหลี่ยมคูทางการเมืองต้องการถล่ม พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน เข้าข่ายน้ำลดตอผุด ผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องหาปี๊บมาคลุมศีรษะในบางเรื่อง

หากมีการนำข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเข้าไปถามในกรรมาธิการ ดังนั้นตัวแทนซีกรัฐบาลจึงต้องสู้หัวชนฝาและไม่คิดว่าจะต้องแพ้โหวต ที่สำคัญการตั้งกรรมาธิการต้องดูท่าทีของบางพรรคการเมืองบางพรรคที่ร่วมรัฐบาล ได้ร่วมเสนอญัตติ ถ้าพรรคดังกล่าวเสนอญัตติร่วมแล้วโหวตไม่เห็นด้วยก็ถือว่าเป็นการเล่นปาหี่ ดังนั้นแฟนคลับของพรรคก็คงต้องมีสติฉุกคิดว่าพรรคที่เคยประกาศต้านเผด็จการเคยทำอะไรได้จริงบ้าง

เชื่อว่าถ้าตรวจสอบลงลึกนายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายก็เอาไม่อยู่ ไม่น่าจะออกมาแก้ต่างให้ เพราะข้อเท็จจริงบางเรื่องมีผลกระทบจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ผมมีข้อมูลชัดเจนจากการทำหน้าที่ประธานสอบสวนการทุจริตสอบรรจุข้าราชการท้องถิ่น

แต่ข้อดีของมาตรา 44 ทำได้เร็ว แต่ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์เช่น คดีบุกรุกป่าต้องตัดสินให้เร็ว แต่ไม่เคยเห็น เพราะทำเหมือนไฟไหม้ฟาง และ คสช.ไม่ต้องการใช้มาตรา 44 ได้เต็มที่ในบางเรื่องเพราะกลัวกระทบกับข้าราชการ เพราะต้องยอมรับว่ามีการวางแผนเพื่อสืบทอดอำนาจไว้

ดังนั้นจึงไม่เห็นการใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนรวย แต่ปล่อยให้ร่างกฎหมายนาน 19 เดือน หรือยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯเสนอแนวทางไว้นานแล้ว

ส่วนพวกที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองจะเงียบมาก กับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะที่ผ่านมาหวังให้มีการทำรัฐประหารด้วยการผลิตวาทกรรมให้ดูดี แต่เนื้อแท้ไม่ทราบว่าการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมควรทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

เช่น การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะทำร่างใหม่ให้เสร็จใน 6 เดือนได้จริงหรือไม่ การเสนอแนวทางให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้วยการกระจายอำนาจก็ไม่เคยเสนอ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลกระทบจากการตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หากมีการตั้งกรรมาธิการ อาจมีความจำเป็นต้องเรียกนายกรัฐมนตรีเข้าไปชี้แจง เพราะนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นผู้ใช้อำนาจจากนั้นจะถูกตั้งคำถามและทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ความชอบธรรมในการทำหน้าที่

ประเด็นนี้จะถูกมองเป็นเชิงการเมือง ถ้ามองในแง่กฎหมายนายวิษณุ เครืองาม เคยบอกว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องมีกรรมาธิการ หากกระทบเรื่องใดก็ไปดำเนินการในเรื่องนั้น

แต่ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นประเด็นในเชิงสัญลักษณ์ ทำให้มองเห็นว่าในภาพรวมของการใช้มาตรา 44 มีผลอย่างไร และเห็นว่าการศึกษาน่าจะเป็นผลดี หากในอนาคตถ้ามีการทำรัฐประหารอีก คำสั่งแบบนี้จะออกมาใช้ได้อีกหรือไม่

แม้ว่าอาจจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่มีผลในเชิงกฎหมายที่ไม่มีการถ่วงดุล การเสนอตั้งกรรมาธิการถูกมองว่าเป็นเหลี่ยมทางการเมือง หรือต้องการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส

ผมไม่เคยมองเห็นข้อดีของมาตรา 44 ที่เป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร แต่การบอกว่าไม่มีข้อดีไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะขณะที่ใช้มาตรา 44 ก็สามารถใช้กฎหมายอื่นได้โดยการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และเท่าที่ทราบมาตรา 44 ที่ใช้ไปถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีเหลือบางส่วน และการใช้มาตรา 44 ถูกคุ้มครองไว้แล้ว เช่น การออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งที่ข้ออ้างในการใช้เนื่องจากต้องการความรวดเร็ว และที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ไม่ได้ออกคำสั่งพร่ำเพรื่อ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะตรวจสอบก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอ แต่เชื่อว่าญัตตินี้ไม่น่าผ่านสภา หลังจากการจัดงานเลี้ยงของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

และเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีส่วนเกี่ยวในเรื่องนี้สามารถให้เหตุผลได้ โดยอ้างเสียงส่วนใหญ่ไม่เอา ก็จำเป็นต้องปล่อย พรรคจะมีคำอธิบายทุกทางออก แม้ว่าที่ผ่านมาเคยเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังถอนออกมาได้

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

แม้รัฐบาลจะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าบุคคลในรัฐบาลชุดนี้ส่วนมากเคยเป็น คสช. ทั้งนี้ คำสั่ง คสช. รวมทั้งมาตรา 44 มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ เมื่อนานมาแล้วคุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยบอกว่าการใช้อำนาจตาม ม.44 พบว่ามีใช้อยู่ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส คือในมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสมีวรรค 2 และ 3 คือก่อนใช้อำนาจต้องรายงานต่อตุลาการรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งขอความเห็นจากประธานสภาทั้ง 2 แห่ง คือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ มาตรานี้ยังมีข้อจำกัดมาก เพราะฝรั่งเศสมีกระบวนการควบคุม แต่ของเรามีลักษณะปราศจากความรับผิดทางแพ่ง อาญา หรือแทบทุกทาง ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเห็นแล้วว่ามีผลกระทบจากการใช้ ม.44 เช่น การมีคำสั่งให้ไม่ต่อใบอนุญาตให้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอสเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งกรณีนี้พบว่าขึ้นไปถึงอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

สมมุติว่าแพ้คดีขึ้นมา ม.44 คุ้มครองคนออกคำสั่งอยู่แล้วว่าไม่ใช่ความรับผิดส่วนตน หรือใครต้องนำเงินไปจ่าย ดังนั้น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในยุค คสช.ซึ่งพบว่ามีการใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และที่กำลังจะเห็นผลคือการเลือกตั้งท้องถิ่น

หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 จริง ผลที่ตามมาคือถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า ม.44 สร้างความเดือดร้อนเสียหายขึ้น โดยหลักแล้วเมื่อมีความเดือดร้อน เสียหาย ก็ต้องมีการรับผิดชอบ ถามว่าใครต้องรับผิดชอบ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชอบพูดอยู่เสมอว่าตนมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

แต่ถามว่าใช่หรือไม่ สุดท้ายคนอย่างพวกเราก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ ด้านความเสียหายสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ หรือนำเงินจากงบประมาณแผ่นดินไปจ่าย ซึ่งก็มาจากภาษีที่เราจ่ายกันทุกปี

ถามว่าทำไมรัฐบาลต้องกลัว หากพูดกันด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายแล้ว ณ เวลาที่ ม.44 ยังอยู่ก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่เวลาที่กฎหมายไม่อยู่แล้ว สติสัมปชัญญะจะเริ่มกลับมาว่า ณ วันที่ตัวเองมีอำนาจได้ทำอะไรไปโดยไม่ยั้งคิด

แต่ในวันที่ไม่มีอำนาจแล้ว สิ่งที่เคยทำโดยไม่ยั้งคิดตอนนั้นมันผิด ก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

ทั้งนี้ หากดูตัวอย่างจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะในทวีปยุโรปหรือละตินอเมริกา มีอยู่หลายประเทศที่ในอดีตใช้อำนาจเผด็จการ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอะไรสารพัด ถึงที่สุดแล้วพอมีรัฐบาลใหม่ หรือเวลาผ่านไปเป็น 10 ปี ก็สามารถกลับมาดำเนินคดีได้

หรือในประเทศไทยยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมได้ไม่นาน เมื่อถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์หรือสอบสวน ซึ่งทำได้โดยใช้ระบบกฎหมาย เพราะรัฐสภาเป็นผู้ออกกฎหมายอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ คือรัฐบาลกลัวว่าต้องรับผิดชอบ เพราะตอนนั้นทำโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

หากศึกษาผลกระทบของมาตรา 44 จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อความหรือการตีความทางกฎหมาย แน่นอนว่า มือกฎหมายที่เคยคิดหรือประดิษฐ์มาช่วยในรัฐบาล คสช. หากถูกล้ม ถูกตี หรือนำไปเขย่าในทางการเมือง ย่อมเกิดผลกระทบทางลบถึงตัวเองได้ และในประเด็นจิตวิทยาการเมืองแล้ว หากปล่อยให้เกิดการตั้งกรรมาธิการชุดนี้ สิ่งที่ คสช.ทำมาจะเหมือนปราสาททรายในพริบตา เพราะสิ่งที่ทำมาซึ่งเชื่อว่าถูกต้องก็จะรู้สึกว่าโดนหักล้าง
ทั้งหมด

นอกจากนี้หากพูดกันด้วยภาษาชาวบ้านแล้วภาพกฎหมายต่างๆ เหมือนเป็นคำสั่งคณะปฏิวัติ เสมือนการบังคับหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ดังนั้น กมธ.ที่จะเข้ามาศึกษาก็ต้องการขจัดความรู้สึกเรื่องตัวกฎหมายต่างๆ ด้วย

สถานการณ์นี้เหมือนเป็นเกมชักเย่อ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยืนต้านได้ไม่นาน โดยเฉพาะฝั่งรัฐบาลเอง เพราะอย่างน้อยก็มี 6 เสียงในพรรคประชาธิปัตย์ที่เอาใจไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านในการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว

กฎหมายทุกวรรค ทุกมาตราที่ คสช.ทำขึ้นมา เขาต้องการขจัดไม่ให้เหลือคราบหรือร่องรอยอิทธิพลที่ตนเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น เพราะในทางการเมืองสามารถนำไปเดินแต้มต่อได้ว่า กรรมาธิการชุดนี้เสมือนสัญลักษณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำรงอยู่ แม้ว่า คสช.จะพยายามแก้หรือยกเลิกไปบ้างก็ตาม

หากเกิด กมธ.ชุดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง รัฐบาลจะกลัวเสียเครดิตมากกว่า รวมทั้งกังวลตัวเลขจากสัมพันธภาพของรัฐบาล ที่ในอนาคตอาจหันหลังไปสนับสนุนฝ่ายค้าน ซึ่งจะส่งผลไปถึงความไม่มีเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล จึงอาจต้องมีการทบทวนบทบาทของวิปรัฐบาลเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image