อ.รัฐศาสตร์เล่าอดีตครั้งเป็น ‘พลทหาร’ ปูกระเบื้องบ้านนาย แนะทางออกปม ‘ทหารรับใช้’

อ.รัฐศาสตร์เล่าอดีตครั้งเป็น ‘พลทหาร’ ปูกระเบื้องบ้านนาย แนะทางออกปม ‘ทหารรับใช้’

สืบเนื่องกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งอ้างเป็นบุตรสาวนายทหาร โพสต์ภาพและข้อความเชิงดูหมิ่นพลทหารที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลืองานบ้านกระทั่งเกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ถึงประสบการณ์การสมัครเข้าเป็นทหาร โดยในช่วงหนึ่งได้เข้าไปช่วยเหลืองานบ้านนายทหารท่านหนึ่ง ซึ่งเพิ่งสร้างบ้านเสร็จ จึงต้องการคนไปปูกระเบื้องที่บ้าน ตนจึงอาสาเป็นลูกมือของทหารอีกรายที่เป็นช่างฝีมือปูกระเบื้อง

“นายทหารคนหนึ่งสร้างบ้าน จะปูกระเบื้องที่บ้าน เผอิญทหารที่กองร้อยผมเป็นช่างฝีมือปูกระเบื้อง นายทหารมาถามว่าใครอยากไปทำงานข้างนอกบ้าง คนที่ปูกระเบื้องเป็นเขาก็ต้องการคนไปเป็นลูกมือ ผมอยู่กองร้อยจนเบื่อแล้ว อยากไปเที่ยวบ้าง ก็ไปเป็นลูกมือให้เขา ปรากฏว่าตอนพักเที่ยง เขาเลี้ยงดูอาหารอย่างอลังการ เสร็จปุ๊บ ยังให้เงินกลับบ้านอีก จึงเป็นไปด้วยความสมัครใจและมีค่าตอบแทน ไม่ทำลายน้ำใจกัน แต่บางกรณีเอาทหารไปเลย ไปขุดหลุมทิ้งเศษอาหาร ค่าก๋วยเตี๋ยวสักชามก็ไม่ให้ นี่เป็นประสบการณ์ 2 แบบของผม

Advertisement

“ชีวิตพลทหารน่าสงสารมาก ตอนนั้นที่ผมสมัครเข้าไป อาจเป็นคนที่จบการศึกษาสูงสุด โดยใช้วุฒิปริญญาตรีสมัคร ไม่เคยบอกว่าตัวเองจบปริญญาโท จริงๆแล้วคนจบปริญญาตรี จบปวช.สมัครเป็นทหารเยอะไหม ก็เยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกตาสีตาสา จบชั้นประถมศึกษา หรือเรียนไม่จบ เพื่อนผมเป็นวิศวกรนิวเคลียร์สมัครไปก็มี จบกฎหมายธรรมศาสตร์ก็มี เขาบอกว่าเรียนเงินหลวง เงินภาษีประชาชน อยากตอบแทนประเทศชาติ” ผศ.ดร. ฐิติวุฒิกล่าว

ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านการพาพลทหารออกไปทำงานข้างนอก เพราะพลทหารมีวันว่างคือเสาร์-อาทิตย์อยู่แล้ว แต่ต้องไม่เบียดเบียนกัน และควรมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีประโยคหนึ่งของจ่ากองร้อยที่กองทัพเรือท่านหนึ่งซึ่งตนชอบมาก คือการที่เป็นพลทหารในกองทัพ อย่างน้อยที่สุดผู้บังคับบัญชาหรือกองทัพ ต้องไม่กระทำการเบียดเบียนต่อพลทหาร การเรี่ยไรเงินของพลทหารคนละ 5 บาท 10 บาท ไปซื้อพัดลม เขาจะไม่ทำกัน

“ผมเคยเจอทั้งวัฒนธรรมที่ดีและไม่ดี ในระยะสั้น กองทัพต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการปฏิบัติต่อพลทหารก่อน ผมเคยเป็นทหาร 6 เดือนด้วยการสมัครเป็นนาวิกโยธิน เป็นทหารหน่วยรบ แม้เป็นอยู่แค่ 6 เดือนก็จริง แต่ระยะเวลาการฝึกนาน 4 เดือน ตอนนั้นฉี่เป็นเลือดทุกวัน เพราะฝึกหนัก และอุณหภูมิที่ร้อน ครูฝึกเป็นหน่วยรบพิเศษ สาเหตุที่สมัครใจไปเพราะอยากเรียนรู้ด้านความมั่นคง ตอนนั้นก็ทำให้ได้ประสบการณ์ แต่ตอนนี้พอมาเห็นสถานการณ์อย่างนี้ จึงนึกถึงอดีต ส่วนตัวคิดว่าระยะสั้นคือการสร้างวัฒนธรรมที่ดี คือสิ่งที่ทำได้ ส่วนระยะกลางต้องคุยกันเรื่องการปรับค่าตอบแทน เรื่องสวัสดิการ เป็นไปได้ไหมที่เราจะตอบแทนพลทหารเทียบเท่ากับทหารชั้นประทวน เพราะเป็นพลเมืองที่มารับใช้รัฐ เพราะฉะนั้น รัฐก็ต้องตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ ปัจจุบันเรามีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในเมื่อมาเป็นทหหาร อย่างน้อย 1-2 ปี แล้วหลังจากนั้นให้เขาได้เรียนฟรีในสถาบันการศึกษาของรัฐโดยไม่ต้องกู้ยืมได้หรือไม่ เมื่อปรับระบบสวัสดิการมาดีแล้ว ค่อยคุยกันว่าถึงเวลหรือยังที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ผศ.ดร. ฐิติวุฒิกล่าว

ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ กล่าวว่า ถ้ามองในระยะสั้นว่าต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารตอนนี้ในทันที บางครั้งคนที่ทำงานด้านความมั่นคงอาจรู้สึกกระอักกระอ่วน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ การยกเลิกการเกณฑาหาร เป็นโจทย์ของทุกฝ่าย ทั้งกองทัพ รัฐบาล และนักการเมืองด้วย โดยต้องมองปัจจัยเรื่องงบประมาณว่าเพียงพอหรือไม่ การบริหารจัดการในกองทัพสามารถนำงบประมาณมาใช้ได้เท่าเทียมหรือไม่เมื่อมองเนื้องานในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image