รายงานหน้า 2 พปชร.จีบศม.ร่วมรัฐบาล ทางออกแก้เสียงปริ่มน้ำ!?

หมายเหตุความเห็นจากฝ่ายต่างๆ กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมจะทาบทามพรรคเศรษฐกิจใหม่เข้าร่วมรัฐบาล

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจ

หากพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 คนจะไปร่วมรัฐบาล 4 คน เหลือเป็นฝ่ายค้าน 2 คน หากเป็นจริงเชื่อว่าจะมีผลกระทบกับความรู้สึกของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคนี้ หรือถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไปหาเสียงร่วมกันอย่างไร นอกจากกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคทั้งหมดจะออกมาชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการร่วมรัฐบาลหรือจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อสภาผู้แทนราษฎร การเปลี่ยนขั้วกลับไปกลับมาของบางพรรค จะทำให้ประชาชนมองว่ามี ส.ส.จำนวนหนึ่งถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์อย่างใดๆ หรือไม่ จะทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือว่า ส.ส.จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ หรือประชาชน ดังนั้น หากพรรคเศรษฐกิจใหม่มีทิศทางการทำงานแปลกไปจากวิธีการปฏิบัติปกติ น่าจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อพอสมควร ทั้งที่แกนนำพรรคบางรายเคยประกาศจุดยืนไว้ชัดเจนจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลหลังทราบผลการเลือกตั้ง

Advertisement

แต่เชื่อว่าหากพรรคนี้จะไปร่วมรัฐบาลจริง สุดท้ายจะไปครบทั้ง 6 คน เพราะหากไปไม่ครบจะมีปัญหาเรื่องมติพรรค หรือการเสนอญัตติ หรือ ส.ส.ในพรรคเดียวกันจะโหวตค้านหรือโหวตหนุนน่าจะเป็นไปได้ยาก และเรื่องนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากช่องว่างของกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับ ส.ส.ให้โหวตตามมติพรรค แต่เกิดจากปัญหาด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของปัจเจกบุคคล ส่วนการไปเพียง 4 คนช่วงแรกยังมองไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ของประชาชนอย่างไร ดังนั้นการไปเพียง 4 คน น่าจะออกมาโยนหินถามทางหรือหยั่งกระแสเรียกร้องความสนใจ เพราะในข้อเท็จจริงอาจจะยังไม่ได้รับการทาบทามอย่างเป็นทางการจากแกนนำพรรครัฐบาล ที่สำคัญทิศทางการเมืองปัจจุบันก่อนจะมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมองไปถึงการอยู่ยาวให้ครบ 4 ปี เพื่อแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำไม่ว่า ส.ส.จากพรรคการเมืองซีกฝ่ายค้านพรรคใดจะมาร่วมรับประทานกล้วยคราวละ 1-2 คน รัฐบาลก็ไม่ขัดข้องและไม่ได้สนใจว่าจะมาด้วยวิธีการใด และเชื่อว่าราคากล้วยยังทรงพลังเหมือนเดิม แม้ว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่จะเข้าเสริม เพราะ ส.ส.ยังมีเอกสิทธิ์ในการโหวตต่างจากมติพรรค

ดังนั้น ถ้าพรรคเศรษฐกิจใหม่จะไปร่วมรัฐบาลจริง น่าจะไปก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สอดคล้องกับความต้องการเดิมของรัฐบาลต้องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากสาเหตุสภาล่ม 2 ครั้ง และประเมินว่าโควต้ารัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์น่าจะมีผลกระทบมากกว่าพรรคภูมิใจไทยที่เข้าข่ายเป็นเด็กดี มีความนิ่งมากกว่า ไม่เคยออกมาวิจารณ์รัฐบาล แม้ว่าที่ผ่านมาจะโดนเบี้ยวจากการแบน 3 สารเคมี มีการนำข้อมูลของรัฐมนตรีบางคนไปแฉผ่านสื่อทำให้มีการฟ้องร้อง หากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นจริงเร็วๆ นี้ พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นเป้าหมายแรกต้องอยู่ในสถานะจำยอม เพราะผู้มีอำนาจอาจไม่พอใจ จากการแสดงท่าทีเพื่อต่อรองในบางเรื่องกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการร่วมเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44

Advertisement

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

ฝ่ายรัฐบาลคงขบคิดอยู่ว่าที่ผ่านมามีปัญหาสภาล่มหลายครั้ง หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาคือต้องหาจำนวนเสียงเพิ่มขึ้นก่อนฟอร์มรัฐบาล พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ก็อยู่ในกระแสข่าวมาตลอดเรื่องการทาบทาม อีกทั้งตอนนี้ก็มีปรากฏการณ์ล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลได้ ก็เป็นไปได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ การเพิ่มเสียงตรงนี้จะเป็นทางที่ดีกว่า อย่างน้อยก็เพื่อความอุ่นใจว่าจะมีเสียงเพิ่มขึ้น

สำหรับพลังดูด เป็นเรื่องปกติฝ่ายถูกเชิญหรือถูกดูดมีความพอใจ อาจเป็นตำแหน่งที่นำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ รวมทั้งตำแหน่งในคณะกรรมาธิการใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจฝ่ายถูกเชื้อเชิญ เป็นเรื่องปกติทางการเมืองอยู่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือบางครั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามงดออกเสียง หรือยกมือโหวตสวนกับมติพรรค โดยไปยกให้กับฝั่งรัฐบาล นี่เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าเบื้องหลังมีอะไรเกิดขึ้น แต่คนทั่วไปจะมองว่าเป็นงูเห่า สิ่งนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเจ้าตัวไม่ใช่งูเห่า และจะนับว่าเป็นกลยุทธ์ก็ไม่เชิง แต่เป็นสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลเองหวังว่าจะมีแต้มบวกเพิ่มขึ้นจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะงดออกเสียงหรือยกมือให้ แม้จำนวนเสียงดังกล่าวจะมีไม่มาก เพียงแต่ว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ ย่อมมีผลกับฝ่ายค้าน แทนที่จะแทคทีมกันแน่นหนา กลายเป็น 3-5 เสียงไปหนุน ทำให้ทางรัฐบาลได้เปรียบในการยกมือโหวตสู้กัน

สำหรับประชาชนหรือแฟนพันธุ์แท้ที่เลือกพรรคเศรษฐกิจใหม่อาจเกิดความไม่พอใจได้ หรืออาจไปแสดงความเห็นต่อว่าโดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่สุดท้ายแล้วเมื่อประชาชนเลือกไปแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ คงต้องรอให้ครบเทอม 4 ปี ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าความจดจำของแฟนพันธุ์แท้จะยังมีอยู่ไหม รวมทั้งประชาชนทั่วไปรอการเลือกตั้งว่าจะมีแนวทางการเลือกผู้สมัครจากพรรคนี้หรือไม่ ดังนั้นการติดตามสถานการณ์การเมืองอยู่ตลอดก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อันจะต้องเสริมสร้างกันต่อไป

ศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

การที่พรรคการเมืองใดจะเข้าร่วมทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน จะต้องมีมติเป็นเอกภาพทั้งพรรค ต้องเลือกให้ชัดเจนว่าจะไปสังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่มติพรรคก็มีข้อบังคับพรรคเป็นข้อกำหนดตามกฎหมาย จะให้ ส.ส.ไปแยกการทำงานคงเป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่งผลให้ถูกยุบพรรค แต่สุดท้ายก็จะต้องไปขอมติจากกรรมการบริหารพรรค ถ้ามติบอกให้เข้าร่วม ส.ส.รายใดออกมาค้านก็ต้องไปฟังเสียงส่วนใหญ่ ถ้ามติบอกไม่เข้าร่วมรัฐบาล ส.ส.ที่ต้องการจะไปร่วม ก็คงไปไม่ได้หรือถึงที่สุด หากลาออกจากพรรคก็ทำให้สิ้นสุดสมาชิกภาพซึ่งเป็นไปได้ยาก และอาจจะต้องฝืนมติพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคมีมติถอนสมาชิกภาพหรือไล่ออกจากพรรค จากนั้น ส.ส.ที่ถูกขับออกก็มีสิทธิไปหาพรรคใหม่ได้ภายใน 30 วัน แต่โอกาสที่พรรคจะขับไล่คงไม่มี

ส่วนสาเหตุที่มี ส.ส.แตกขั้ว เชื่อว่าน่าจะมีปัญหาจากนายทุนพรรคกับ ส.ส.ของพรรคเห็นต่างกัน หรืออาจจะแจกกล้วยไม่ครบหรือไม่ ถ้าแจกครบก็คงต้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่สุดท้ายถ้าเอากล้วยมาแจกเพิ่มก็คงหมดปัญหาแล้วเงียบไปเอง เบื้องต้นตามกระแสที่สื่อรายงาน เชื่อว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ไปร่วมรัฐบาลแน่นอน เพราะอย่าลืมว่าอมตะวาจาที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ว่า อยู่ฝ่ายค้านอดอยากปากแห้งยังใช้ได้ ฉะนั้นนักการเมืองประเภทนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เลือกพรรคประเภทนี้ ต้องจดจำไว้ว่าใครพูดไว้อย่างไร ต่อไปไม่ควรสนับสนุน เพราะไม่เช่นนั้นความคาดหวังที่จะทำให้การเมืองไทยพัฒนาก้าวหน้านำไปสู่การปฏิรูปการเมืองไม่มีผลเป็นรูปธรรมหรือเกิดขึ้นจริง เพราะนักการเมืองบางพวกยังคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน ที่ให้ความไว้วางใจ

หากพรรคเศรษฐกิจใหม่ไปร่วมรัฐบาลจริงตามกระแสที่ปรากฏ เชื่อว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานของฝ่ายรัฐบาลก็แสดงพลังในการดูดต่อไปไม่หยุดยั้ง ด้วยวิธีการหลากหลายเพื่อแสวงหางูเห่า ทำให้เสียงของรัฐบาลมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ตราบใดมาตรการทางกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้อย่างชัดเจน เพราะ ส.ส.สามารถโหวตสวนมติพรรค ที่สำคัญ พ.ร.บ.พรรคการเมืองกับข้อบังคับพรรคไม่ได้เขียนไว้อย่างรัดกุม ทำให้ต้องประเมินว่าผลประโยชน์จากกล้วยอาจจะทำให้ลืมอุดมการณ์ หรือกล้วยอาจจะมีคุณค่าสูงกว่าความรับผิดชอบที่มีกับประชาชนที่ลงคะแนนให้

แต่ปัจจุบันเชื่อว่าประชาชนสามารถรับรู้พฤติกรรมของ ส.ส.บางรายหรือบางพรรคได้มากขึ้นจากกระแสในสังคมโซเชียล ในระบบรัฐสภาต้องแบ่งแยกการทำหน้าที่ให้ชัดเจนระหว่างหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่กลับกลอกไปมาแล้วอ้างเหตุผลเพื่อเอาตัวรอด เชื่อว่าการเข้าร่วมไปทำงานกับรัฐบาลเพื่อลดปัญหาจากเสียงปริ่มน้ำของ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านยังมีเพิ่ม จากความระส่ำระสายภายในพรรคเพื่อไทย หรือหากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ แน่นอนว่าเสถียรภาพของพรรคเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส.ส.ในพรรคย่อมทราบดี ทำให้เป็นช่องทางในการโยนกล้วยให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่าเดิม

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เห็นท่าทีพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ตั้งแต่ต้น หากจำกันได้ตั้งแต่ครั้งฟอร์มรัฐบาล ตอนนั้นก็มีเรื่องว่าพรรคนี้จะไปหรือไม่ไปร่วม สุดท้ายนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ตัดสินใจไม่ไป แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจน ถามว่าทำไมถึงเข้าร่วมช่วงนี้ ย้อนกลับไปดูลักษณะภูมิหลังทางการเมืองของนายมิ่งขวัญเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในพรรค ณ ขณะนั้น อย่าลืมว่านายมิ่งขวัญเป็นนักการตลาด สามารถประเมินอะไรหลายอย่างได้เสมอ

นายมิ่งขวัญตัดสินใจไม่ไป เพราะยังเห็นว่ากระแสของพรรคฝ่ายค้านยังเป็นกระแสที่ทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการได้ ส.ส.มาด้วย นั่นคือการแสดงจุดยืนตรงข้ามกับพรรคพลังประชารัฐ และมีแนวโน้มคล้อยตามกับพรรคเพื่อไทย แต่หลังจากนั้นมาคิดว่าเงื่อนไขบริบททางการเมืองเริ่มเปลี่ยน ยุทธศาสตร์การเมืองสำคัญของซีกรัฐบาลคือการพยายามรวบรวมเสียงข้างมากให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ผ่านพ้นจากวิกฤตเสียงปริ่มน้ำ

พรรคเศรษฐกิจใหม่จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งซึ่งคิดว่าในสถานการณ์ที่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มมีปัญหาในการบริหาร จนมีความจำเป็นต้องดึงผู้มีความรู้ ความสามารถด้านการตลาดเข้ามา จึงปฏิเสธพรรคเศรษฐกิจใหม่ภายใต้บทบาทของนายมิ่งขวัญไม่ได้ คิดว่าประเด็นนี้เองที่ทำให้พรรค ศม.เห็นจังหวะและโอกาสว่าหากดึงตัวเองเข้าไปร่วมรัฐบาล โอกาสได้ตำแหน่งเพื่อให้นายมิ่งขวัญเข้าไปทำงานนั้นมีความเป็นไปได้ จึงส่งสัญญาณออกมาในลักษณะนี้ นอกจากนี้ยังเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ในการดูดพรรคต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะกับพรรคเศรษฐกิจใหม่เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงพรรคอื่นๆ เช่น หากเกิดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อาจมีความเป็นไปได้ที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่บางส่วนแตกรังไปอยู่ที่พรรค พปชร. ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพรรค ศม.ย้ายไปร่วมรัฐบาลจริง รัฐบาลได้เสียงเพิ่มขึ้นแน่นอน พรรคเศรษฐกิจใหม่คงต้องพยายามหาเงื่อนไข หาทางออกให้นายมิ่งขวัญด้วย เพราะเขามีจุดยืนตั้งแต่ต้นว่าจะไม่เข้าร่วม แต่ท่าทีระยะหลังเริ่มเปลี่ยนไป จนสุดท้ายอาจออกมาในรูปของมติกรรมการบริหารพรรค กระทั่งทำให้นายมิ่งขวัญสามารถอ้างได้ว่าที่ตัวเองต้องไปเพราะทำตามมติพรรค ทำให้รู้สึกว่าเขามีความชอบธรรมมากขึ้น แตกต่างจากในอดีต

ตราบใดที่โครงสร้างหรือกติกาทางการเมืองยังถูกร่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดรัฐบาลผสม โอกาสสะวิงไปมาระหว่างการเป็นฝ่ายค้านกับรัฐบาลสามารถเป็นไปได้เสมอ หรือที่เรามักเรียกว่างูเห่า เกิดขึ้นอย่างชัดเจนมากในการเมืองสมัยใหม่ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะพบว่าซีกรัฐบาลได้มาจากการพลิกกลับฝ่ายค้านที่หนุนให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรคการเมืองเดิม

สถานการณ์ตอนนี้ ในเวทีการเมืองแบบนี้ การแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำมีอยู่วิธีเดียวนั่นคือการดึงและดูดด้วยเงื่อนไขต่างๆ ด้วยทรัพยากรทางการเมืองที่ตัวเองมีความพร้อมมากกว่าพรรคฝ่ายค้าน มีกลไกอำนาจรัฐอยู่ในมือขณะนี้ และจะต้องทำทุกอย่าง อาจดึงพรรคเพื่อไทยบ้าง พรรคเศรษฐกิจใหม่บ้าง หรือหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ก็อาจมี ส.ส.แตกรังมาได้ เท่าที่ดูตอนนี้คิดว่ารัฐบาลต้องการเป็นเสียงข้างมากประมาณ 300 เสียง จาก 500 เสียง เพื่อความชัวร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image